คพ.เริ่มต้นฟื้นฟู ‘คลิตี้’ ได้ เม.ย.นี้ กำหนดกรอบ 3 ปี ค่าตะกั่วลดลง (22 ม.ค. 59)

Green News TV 22 มกราคม 2559
คพ.เริ่มต้นฟื้นฟู ‘คลิตี้’ ได้ เม.ย.นี้ กำหนดกรอบ 3 ปี ค่าตะกั่วลดลง

อธิบดี คพ.เปิดแผนฟื้นฟูคลิตี้ งบ 593 ล้าน ดำเนินการ 3 ปี เผยอยู่ระหว่างขอใช้พื้นที่กรมอุทยานฯ-กรมป่าไม้ เริ่มดำเนินการได้ เม.ย.59

เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2559 นายวิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดแถลงผลความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว ว่าขณะนี้ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้เป็นที่ปรึกษาในการดำเนินการฟื้นฟู การสำรวจ และออกแบบ ในการก่อสร้างหลุมกลบฝังตะกอนปนเปื้อนสารตะกั่ว และการจัดทำแผนปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ ซึ่งในปี 2559 ทาง คพ.ได้รับงบประมาณ 593 ล้านบาท ในการฟื้นฟูที่ใช้ระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2559-2561

ขณะที่ความคืบหน้าล่าสุดของโครงการ ได้มีการลงพื้นที่เพื่อวางแผนร่วมกับชุมชน โดยจัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคีร่วมกับภาคประชาชน และอยู่ระหว่างการขออนุญาตใช้พื้นที่จากทางพื้นที่อุทยานแห่งชาติลำคลองงู พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำโจน และพื้นที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) จ.กาญจนบุรี ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุญาตของทางหน่วยงานดังกล่าว คาดว่าจะสามารถเริ่มต้นได้ในเดือน เม.ย.นี้

“การดำเนินการของโครงการนี้ จะประกอบด้วยการก่อสร้างหลุมฝังกลบแบบปลอดภัย จากนั้นจึงฟื้นฟูลำห้วยด้วยการดูดตะกอนท้องน้ำ และตะกอนหน้าฝายดักประกอบกับการขุดดินบริเวณโรงแต่งแร่เดิมและพื้นที่ที่ปนเปื้อน เพื่อนำมายังหลุมฝังกลบ แล้วจึงปกคลุมบริเวณใต้ถุนบ้านประชาชนด้วยดินสะอาดหรือปูนซีเมนต์ นอกจากนี้ยังมีการสร้างฝายดักตะกอนเพิ่มอีก 2 แห่ง และจัดทำระบบฐานข้อมูลทางภูมิศาสตร์ของการปนเปื้อนในพื้นที่ โดยจะมีการประชาสัมพันธ์และรายงานผลให้กับสาธารณชนต่อไป” นายวิจารย์ กล่าว

นายวิจารย์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมบริเวณห้วยคลิตี้ ระหว่างวันที่ 7-12 ก.ย. 2558 ขณะนี้คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานสำหรับแหล่งน้ำผิวดิน ซึ่งสามารถอุปโภคบริโภคได้แต่ต้องผ่านการกรองและฆ่าเชื้อโรคก่อน ส่วนพืชผักส่วนใหญ่มีค่าตะกั่วอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ยกเว้นใบกระเพราในบางพื้นที่ ขณะที่ดินในบริเวณหมู่บ้านคลิตี้ตอนบนมีค่าเกินมาตรฐาน ส่วนตะกอนดินท้องน้ำลำห้วยคลิตี้ บริเวณท้ายโรงแต่งแร่ยังคงมีการปนเปื้อนตะกั่วสูง อีกทั้งตรวจพบปริมาณตะกั่วในสัตว์หน้าดิน เช่น ปู และ หอย

ด้าน นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยศูนย์ศึกษากระเหรี่ยงและพัฒนา กล่าวว่า ตั้งแต่ที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ คพ.ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ตั้งแต่ปี 2556 จนขณะนี้ผ่านมาถึง 3 ปี แม้จะมองว่าล่าช้าในการแก้ปัญหา อย่างไรก็ตามถือเป็นเรื่องที่ดีที่ทาง คพ.ได้เริ่มดำเนินการ เพราะต้องยอมรับว่าแม้จะเป็นการทำตามคำพิพากษา แต่เมื่อเข้าสู่ระบบราชการก็ต้องใช้เวลา เริ่มตั้งแต่ส่วนของการตั้งโครงการ การจัดซื้อจัดจ้าง ตลอดจนการขออนุญาตจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่