ม.44 ปลดล็อคผังเมือง "สมรภูมิรบใหม่" (22 ม.ค. 59)

PPTV 22 มกราคม 2559
ม.44 ปลดล็อคผังเมือง "สมรภูมิรบใหม่"

Big story เมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่ง คสช. 2 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับการ ยกเว้นการบังคับใช้ผังเมืองรวม โดยฉบับแรก ให้ยกเว้นการบังคับใช้ผังเมืองรวม สำหรับการประกอบกิจการดังต่อไปนี้ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558-2579 หรือ พีดีพี2015 แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ

"ในบรรดากิจการตามแผน 4 แผนที่ปรากฏ แผนที่อยากให้จับตามอง คือ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558-2579 หรือ พีดีพี 2015 เพราะแผนนี้มีโครงการขนาดใหญ่ที่น่าสนใจอยู่2 โครงการ คือ โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ขนาด 800 เมกกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา เฟส1 ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ และที่ตั้งของทั้ง 2โครงการ อยู่ในผังเมืองที่เป็นพื้นที่สีเขียว ซึ่งเดิมไม่สามารถลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าได้ การยกเว้นบังคับใช้ผังเมืองรวม หรือการปลดล็อคผังเมืองรวม ก็จะทำให้สามารถสร้างโรงไฟฟ้าได้"

นอกจากนี้คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 4/2559 ยังมีการปลดล็อค กิจการโรงงานต่อไปนี้ด้วย คือ โรงไฟฟ้าขยะ โรงผลิตก๊าซซึ่งมิใช่ก๊าซธรรมชาติ ส่งหรือจำหน่วยก๊าซ โรงงานปรับปรุงคุณภาพของรวม ได้แก่ โรงบำบัดน้ำเสีย เตาเผาขยะ โรงงานคัดแยกและฝังกลบ และ โรงงานเพื่อการรีไซเคิล

ในประเภทโรงงานที่ว่านี้ ทั้งโรงไฟฟ้าขยะ โรงบำบัดน้ำเสีย เตาเผาขยะ โรงงานคัดแยกฝังกลบ และ โรงงานเพื่อการรีไซเคิล ล้วนเป็นโรดแมปของรัฐบาล เพื่อบริหารจัดการขยะของประเทศไทย ที่ถูกกำหนดให้เป็นแผนเร่งด่วนตั้งแต่ปี 2557 แต่นี้ เข้าสู่ปี 2559แล้ว โรดแมปที่ว่ายังไม่สามารถดำเนินการได้ทั้งหมด เพราะกระแสการคัดค้านต่อเนื่อง โดยเฉพาะ โรงไฟฟ้าขยะ โดยเหตุผลที่ถูกหยิบยกคัดค้าน ส่วนใหญ่พื้นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าขยะอยู่ในพื้นที่สีเขียว ตามกฎหมายผังเมือง

และนี้เป็นเห็นผลสำคัญที่ รัฐบาลออกคำสั่งคสช.มาเพื่อปลดล็อคผังเมืองรวม 
โดยให้เหตุผลระบุในคำสั่งว่า "ความมั่นคงในการจัดหาพลังงานและการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องเร่งดำเนินการ ซึ่งในความพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวกลับปรากฏข้อขัดข้องหรืออุปสรรคจากข้อกำหนดทางกฎหมายบางประการ จึงจำเป็นต้องระงับและแก้ไขข้อขัดข้องดังกล่าวเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและมีความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน"

สำหรับคำสั่ง คสช.อีกฉบับ คือฉบับที่ 3/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยให้ยกเว้นกฎหมายผังเมืองและกฎหมายควบคุมอาคารในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งให้ยกเลิกข้อบัญญัติท้องถิ่นต่างๆ ที่เป็นข้อจำกัดของการห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย และใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร ซึ่งครอบคลุมเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10 เขต คือ จังหวัดตาก มุกดาหาร สระแก้ว สงขลา ตราด หนองคาย นราธิวาส เชียงราย นครพนม และกาญจนบุรี


"เช่นเดียวกันการปลดล็อคผังเมือง จะส่งผลให้การผลักดันให้เกิดพื้นที่อุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษทำได้ง่ายขึ้น เมื่อยกเว้นกฎหมายผังเมือง พื้นที่สีเขียว ซึ่งหมายถึงพื้นที่อนุรักษ์ ก็อาจกลายเป็นพื้นที่สีม่วง ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมได้โดยไม่ติดขัดกฎหมายฉบับใด"

ข้อกังวล ม.44 ทำลายหลักการผังเมือง เสียสมดุลเศรษฐกิจกับสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงความยากลำบากที่ชุมชนต้องเผชิญ ในการตั้งคำถามต่ออุตสาหกรรมพลังงานเหมือนเคย การใช้อำนาจตาม ม.44 ครั้งนี้ ยังสร้างความกังวลถึงความสุ่มเสี่ยง ในการทำลายหลักการทางวิชาการของผังเมือง ทั้งมิติด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชน และการเมืองที่ผังเมืองเคยเป็นเครื่องมือยุติความขัดแย้งไม่ให้บานปลายในหลายกรณี

หนึ่งในนั้น คือ ผังเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสงขลา ทั้ง 2 จังหวัดนี้ มีโครงการและกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมและการผลิตกระแสไฟฟ้าเตรียมใช้พื้นที่อยู่เป็นจำนวนมาก ในขณะที่ทรัพยากรส่วนใหญ่มีศักยภาพด้านประมงและการเกษตร ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ก็ยึดเป็นอาชีพเลี้ยงปากท้อง ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา โครงการและกิจการเหล่านี้ติดขัด เพราะนอกจากจะเจอแรงต้าน ในทางกฎหมาย ผังเมืองยังเป็นเสมือนเครื่องมือในการกำหนดทิศทางว่าการพัฒนาพื้นที่ควรเป็นไปในทิศทางใด

หากดูในรายละเอียดผังเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช พื้นที่ส่วนใหญ่ ถูกกำหนดให้เป็นสีเขียวเข้ม สีเขียวมีกรอบแทยงน้ำตาล สีเขียนอ่อน สีชมพู และสีฟ้า ซึ่งหมายถึง การกำหนดทิศทางให้พื้นส่วนใหญ่ถูกพัฒนาให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ คือ เกษตรกรรม ประมง ชุมชน ชนบท ที่โล่งเพื่อนันทการและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม มีเพียงส่วนน้อยที่เป็นพื้นที่สีม่วงใช้สำหรับอุตสาหกรรมและคลังสินค้า


ในช่วงที่ผ่านมา โครงการที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมและกิจการไฟฟ้าที่จ่อใช้พื้นที่ เช่น นิคมกำจัดกากอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้าถ่านหินหัวไทรที่ภายหลังแปรสภาพเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และพื้นที่ว่างเปล่าที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งซื้อไว้สำหรับ ทำเป็นพื้นที่เก็บสารอันตราย จึงไม่สามารถเดินหน้าได้ เพราะนอกจากจะเจอกระแสคัดค้านและแรงต้าน ก็ยังติดปัญหาผังเมืองรวมของจังหวัด ที่ไม่ได้กำหนดให้พื้นที่เป้าหมายของเอกชนและหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่ส่งเสริมการลงทุน พัฒนาไปในทิศทางนี้


สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนชัดเจนว่า หากมองในมุมการลงทุนของเอกชนและการส่งเสริมที่เป็นภารกิจของหน่วยงานราชการ ผังเมืองรวมจังหวัดอาจเป็นปัญหา แต่สำหรับชาวบ้านในพื้นที่ ผังเมืองรวมก็เป็นเสมือนเครื่องมือที่จะช่วยค้ำชูรักษาเศรษฐกิจให้คนในท้องถิ่นอยู่รอด ส่วนในเชิงหลักการชัดเจนว่าผังเมืองเป็นช่วยในการประคองสถานการณ์เช่นนี้ไม่ให้ความขัดแย้งบาน เมื่อนายกรัฐมนตรีตัดสินใจใช้อำนาจ ม.44 งดเว้นการใช้ผังเมืองรวมในกิจการบางประเภท ทำให้นักวิชาการอิสระด้านผังเมืองกังวลว่า อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำลายหลักวิชาการด้านผังเมือง

หลักการนี้เป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยประคองความขัดแย้งไม่ให้บานปลายในหลายพื้นที่ที่เผชิญกับสถานการณ์เหล่านี้อยู่ หนึ่งในนั้น คือ จังหวัดสงขลา นอกจากโครงการนิคมกำจัดกากอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องกับจังหวัดนครศรีธรรมราช โครงการใหญ่ที่มีข้อพิพาทกับประชาชนในพื้นที่และมีแนวโน้มจะได้ประโยชน์จาก ม.44 คือ โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา


ตามผังเมืองรวมของจังหวัดสงขลา ที่ตั้งของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาอยู่ในพื้นที่สีเขียวอ่อนแทยง หมายถึงที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของเขตป่าสงวนแห่งชาติหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขากรวด ป่าเขารังกัยจ ป่าเขาสัก ป่าเขาสูง ป่าควนแก้ว ป่าควนหินพัง รวมๆไม่น้อยกว่า 10 แห่ง


ซึ่งหน้านี้ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงานพยายามยื่นคำร้องขอแก้ไขข้อห้ามนี้ในผังเมือง โดยกรรมการผังเมืองยกคำร้อง แต่ก็มีเงื่อนไขเปิดช่องไว้ว่า หากมีมติครม.เพิกถอนพื้นที่ป่า ก็สามารถทำได้


เมื่อประกอบกับการเขียนในคำสั่งคสช.ที่ 4 /2559 ในลักษณะว่าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการนโยบายพลังงาน และเมื่อย้อนไปดูหลักปฏิบัติของการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ที่มีการระบุไว้ว่า จะต้องไม่ขัดกับผังเมือง การใช้อำนาจม.44งดเว้นบังคับใช้ผังเมืองรวมรอบนี้ จึงมีการวิเคราะห์กันว่า จะส่งผลให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนับจากนี้จะไม่มีข้อติดขัดอีกต่อไป แต่ความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นอย่างหนัก คือ ช่องว่างที่อาจทำให้การศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างอีไอเอ และอีเอชไอเอ ขาดความละเอียด และมีแนวโน้มนำมาสู่ผลกระทบต่อชุมชนมหาศาล