นศ.เตรียมต้านโรงไฟฟ้าฯ เทพา หวั่นผลเสียสิ่งแวดล้อม กระทบแผนสันติภาพ (22 ม.ค. 59)
Citizen Thai PBS 22 มกราคม 2559
นศ.เตรียมต้านโรงไฟฟ้าฯ เทพา หวั่นผลเสียสิ่งแวดล้อม กระทบแผนสันติภาพ
21 ม.ค. 2559 คอลดูน ปาราเร่ ประธานชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (22 ม.ค. 2559) เวลา 13.00 น. เครือข่ายนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี เพื่อความเป็นธรรม ร่วมกับเครือข่าย PERMATAMAS จะมีการจัดกิจกรรม “ปลุกพลังนักศึกษา หยุดโรงไฟฟ้าถ่ายหิน ต่อลมหายใจอีกครั้ง”
เชิญชวนนักศึกษาเข้าร่วมการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าไม่เห็นด้วยกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา ขนาด 2,200 เมกะวัตต์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) จะมีเวทีเสวนาหัวข้อ “บทบาทนักศึกษาและประชาชน กับมหัตภัยร้ายโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” ก่อนจะร่วมกันเดินขบวนจาก ม.อ.ปัตตานี ไปยังบริเวณหน้าลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 (หน้าศาลากลางจังหวัดปัตตานี) ในเวลาประมาณ 15.00 น.
คอลดูน กล่าวต่อว่า คาดการณ์ว่าจะมีนักศึกษาเข้าร่วมการแสดงออกครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 1,000 คน เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่มีความกังวลอย่างมากต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เนื่องจากคนในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาและ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ล้วนเป็นชุมชนที่มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมเดียวกัน โดยเฉพาะการพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติจากทะเล ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือโครงการขนาดใหญ่อื่นๆ ที่เข้ามาในพื้นที่แล้วส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ย่อมเป็นสิ่งที่ชาวบ้านไม่สามารถยอมรับได้
“ที่ผ่านมา กฟผ.ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลให้รอบด้านต่อชาวบ้าน แต่มักจะนำเอาด้านดีมานำเสนอ เช่น โรงไฟฟ้าจะทำให้มีงานทำ เศรษฐกิจจะดีขึ้น หรือเป็นถ่านหินสะอาด ไม่ต้องกลัวมลพิษ การกระทำแบบนี้มันทำให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่ เพราะชาวบ้านทุกคนรู้อยู่ว่าผลกระทบของโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นอย่างไร” นายคอลดูน กล่าว
คอลดูน กล่าวอีกว่า การผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาท่ามกลางกระแสต่อต้านในพื้นที่นั้น ไม่ได้ส่งผลดีต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เลย เนื่องจากรัฐบาลที่กำลังพยายามแก้ไขปัญหาความรุนแรงมักจะกล่าวกับชาวบ้านอยู่เสมอว่า โครงการพัฒนาต่างๆ ที่เข้ามาในพื้นที่นี้ ต้องได้รับการยอมรับจากชาวบ้าน ดังนั้นหาก กฟผ. ยืนยันว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ย่อมจะกระทบต่อสถานการณ์อันเปราะบางของพื้นที่ โดยเฉพาะในแง่สิทธิชุมชน ที่เครือข่ายภาคประชาชนกำลังผลักดันกระบวนการสันติภาพ
สำหรับเครือข่าย PERMATAMAS ประกอบด้วย นักวิชาการจากมหาวิทยาลัย องค์กรทางศาสนา ภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน นักศึกษา และชาวบ้านจากพื้นที่ต่างๆ ได้แก่ อ.สะบ้าย้อย อ.เทพา อ.จะนะ อ.นาทวี อ.สะเดา จ.สงขลา และอ.หนองจิก อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี โดยเป็นความร่วมมือด้านวิชาการเพื่อให้ความรู้เรื่องผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน