อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมายวิพากษ์ ร่างรัฐธรรมนูญ’ มีชัย’ให้คุณค่า’สิทธิ เสรีภาพ’ พลเมืองน้อยไป (21 ม.ค. 59)
ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ 21 มกราคม 2559
อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมายวิพากษ์ ร่างรัฐธรรมนูญ’ มีชัย’ให้คุณค่า’สิทธิ เสรีภาพ’ พลเมืองน้อยไป
อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมายวิพากษ์ ร่างรัฐธรรมนูญ' มีชัย'ให้คุณค่า'สิทธิ เสรีภาพ' พลเมืองน้อยไป
“ไพโรจน์ พลเพชร” อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) เอ็นจีโอผู้มีบทบาทสูงในการขับเคลื่อนสิทธิภาคพลเมือง เปิดใจให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” เกี่ยวกับสาระสำคัญของ ร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) ที่ร่างแรกจะแล้วเสร็จในวันที่ 29 มกราคมนี้ โดย อดีตกรรมการ คปก.ท่านนี้ ตั้งข้อสังเกตในประเด็นของสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เปรียบเทียบกับ รธน.ปี 2540 และปี 2550 เอาไว้หลายประการอย่างน่าสนใจ ดังนี้
ติง “จำกัดสิทธิเท่ากับไม่มีสิทธิ”
ใน รธน.ปี 2540 กำหนดชัดเจนไว้ ในหมวดทั่วไป มาตรา 3 ที่ระบุเรื่องของฐานอำนาจ หรือ ที่มาของอำนาจอธิปไตยว่า เป็นของปวงชนชาวไทย ในมาตรา 4 กำหนดให้ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง” ก่อนเพิ่มเรื่อง “ความเสมอภาคของบุคคล” ต้องได้รับความคุ้มครองใน รธน. ปี 2550
“แต่เมื่อมาดูร่าง รธน. ที่กำลังร่างกันอยู่นี้ ในบททั่วไป ไม่มีมาตรา 4 เมื่อเอาเรื่องของ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิเสรีภาพออกจากรัฐธรรมนูญ ทำให้เราให้คุณค่ากับเรื่องนี้น้อย ซึ่งเป็นคุณค่าสูงสุดอันหนึ่งของ รธน.ที่ควรจะได้รับหลักประกันเอาไว้ในบททั่วไป
นอกจากนี้ เมื่อไปดูในหมวดว่าด้วยเรื่องของสิทธิเสรีภาพ ในร่าง รธน.ฉบับนี้ ระบุเรื่องว่า นอกจากบัญญัติรับรองเอาไว้เป็นการเฉพาะใน รธน. การใดที่ไม่ห้ามไว้ใน รธน.หรือไม่ห้ามเอาไว้ในกฎหมายอื่นย่อมมีสิทธิได้รับการคุ้มครองปัญหาที่จะถกเถียงกัน ก็คือ ถ้าไม่มีสิทธิอยู่ในรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่มีสิทธิอยู่ในกฎหมายอื่นๆ จะมีสิทธิได้หรือไม่
เพราะต้องยอมรับว่า กฎหมายบ้านเรา เป็นกฎหมายที่ออกมาในสมัยที่เราให้คุณค่ากับอำนาจของฝ่ายบริหารมากกว่าสิทธิเสรีภาพ เพราะฉะนั้น จะจำกัดสิทธิค่อนข้างมาก ดังนั้น เมื่อจำกัดสิทธิก็เท่ากับไม่มีสิทธิ ถ้ามีกฎหมาย รธน.หรือกฎหมายอื่นที่จำกัดสิทธิไว้แล้ว สิทธิก็จะไม่มีในความหมายนี้
แนะ รธน.ต้องตอบโจทย์พื้นฐาน
อดีต กรรมการ คปก. ให้มุมมองต่อร่าง รธน.ฉบับนี้ว่า ดูเหมือนว่า ดี ที่ระบุว่า ถ้าไม่เขียนห้ามเอาไว้ก็มีสิทธิ แต่จริงๆ กฎหมายเขียนห้ามไว้หมดเลย ถ้ากฎหมายเขียนห้ามไว้เมื่อใดก็ไม่มีสิทธิเมื่อนั้น เพราะไปขึ้นต่อกฎหมายสิทธิเสรีภาพ ซึ่งเป็นคุณค่าในรธน.ไปขึ้นต่อกฎหมายที่มีอยู่ หรือที่จะมีต่อไปด้วย เช่น กฎหมายออกจำกัดสิทธิเรื่องใดเรื่องหนึ่งไว้ ก็ต้องเป็นไปตามนั้น ยกตัวอย่างเช่น พระราชกฤษฎีกาประมง ที่กำหนดสิทธิ ห้ามมิให้ประมงผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน ออกทำการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่งในระยะ 3 ไมล์ เท่ากับไม่ได้สิทธิ เพราะกฎหมายกำหนดสิทธิเอาไว้แค่นี้
ส่วนเรื่องของหลักการความเสมอภาค ซึ่งมีความสำคัญมากเช่นกันนั้น โดยใน รธน.ปี 2540 และปี 2550 อยู่ในมาตรา 30 กำหนดหลักการสำคัญ คือ 1.บุคคลทุกคนต้องเสมอภาคกันตามกฎหมาย ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่ากัน 2.หญิงและชายมีความเสมอภาคกันทางกฎหมายเหมือนกัน ขณะที่หลักการที่ 3 ที่มีกำหนดไว้ใน รธน.ปี 2540 และ 2550 ซึ่งเป็นหลักการใหม่ไม่เคยมีมาก่อนใน รธน.ในอดีต คือ ห้ามเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เช่น ห้ามเลือกปฏิบัติเพราะมีเพศต่างกัน เชื้อชาติ ฐานะทางเศรษฐกิจแหล่งกำเนิด ความคิดเห็นทางการเมือง ศาสนา และความพิการหรือสภาพร่างกายที่ต่างกัน
“ในคราวนี้ เขียนไว้ในมาตรา 27 กำหนดไว้ว่า การเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อบุคคลว่าด้วยเหตุด้วยความแตกต่างระหว่างบุคคล เพศ หรือเหตุอื่นใดจะกระทำไม่ได้ กำหนดเอาไว้เพียง 3 ประการ แต่ปี 2540 และ 2550 ระบุเอาไว้ 7-8 ประการ ขณะที่ร่างที่ถูกคว่ำไปนั้น ระบุถึง “เพศสภาพ” เอาไว้ด้วย ข้อสังเกต คือ หากไม่เขียนเอาไว้ จะมีปัญหาในการใช้จริงหรือไม่ เพราะในอดีตเคยเกิดการฟ้องร้องเกิดขึ้นมาแล้ว
เรื่องของการคุ้มครองสิทธิ กับเรื่องการผูกพันของอำนาจรัฐ และการห้ามเลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานที่สุดของ รธน.ปี 2540 และ 2550 ได้พัฒนาขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญของการคุ้มครองสิทธิ ให้คุณค่ากับสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากขึ้นจริงๆ และมีผลเกิดขึ้นจริงในทางสังคม แต่เมื่อมาดูร่างฉบับนี้ในหมวดสิทธิเสรีภาพ ที่มีเขียนเอาไว้ เป็นสิทธิรุ่นแรก ขณะที่สิทธิรุ่นที่ 2 และ 3 ไม่มี (ล้อมกรอบ)
อย่างไรก็ดี ถ้าไปอยู่ในหมวดอื่น คือ แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ซึ่งจะหมายถึง หน้าที่ของรัฐ หรือไปเขียนอยู่ในแนวนโยบายของรัฐ หรือหน้าที่ของรัฐ รัฐเลือกปฏิบัติได้ เพราะไม่ผูกพันกับรัฐ ไม่เหมือนกับการเขียนเอาไว้ในหมวดสิทธิเสรีภาพ ที่รัฐต้องปฏิบัติ นี่คือ ความต่าง
“ถ้าเป็นเรื่องสิทธิ มันเป็นภาคบังคับว่า รัฐต้องทำเพราะเป็นสิทธิของประชาชน แต่ถ้าเขียนให้อยู่ในแนวนโยบายของรัฐ รัฐเลือกได้ บอกว่า งบประมาณยังไม่พอ เรื่องนี้ยังมีปัญหา หรือจัดได้ตามที่มีข้อจำกัดตามทรัพยากรงบประมาณ แต่ถ้าเขียนเรื่องสิทธิเอาไว้ชัด รัฐไม่มีสิทธิปฏิเสธ รัฐต้องปฏิบัติ นี่เป็นหลักการพื้นฐานที่ได้พัฒนามาไกลมาก
“จากภาพรวมของ รธน.ฉบับนี้ มีแนวโน้มที่จะกลับไปยุค รธน.ในอดีตที่ผ่านมาที่ให้คุณค่าเรื่องสิทธิเสรีภาพน้อยลงโดยอัตโนมัติ โจทย์รัฐธรรมนูญไทยทุกครั้งในช่วงหลัง เราพยายามจะตอบโจทย์ปัจจุบัน เช่น ไม่มีความปรองดอง หรือ การวิตกกังวลเรื่องทุจริตคอร์รัปชันมาก ก็จะไปเข้มงวดเรื่องนี้ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นการตอบโจทย์เฉพาะหน้า ซึ่งไม่น่าจะอยู่ในหลักการ รธน.ที่ต้องตอบโจทย์หลักการพื้นฐานที่ต้องมีความหนักแน่นในเรื่องเหล่านี้ให้ได้”
วิวัฒนาการ สิทธิมนุษยชน 3 ยุค
ตอนหนึ่งในการสัมภาษณ์ “ไพโรจน์ พลเพชร” อดีตกรรมการ คปก. ฉายภาพพัฒนาการเรื่องสิทธิมนุษยชนในอดีตจนถึงปัจจุบันว่า แบ่งออกเป็น 3 ยุค ยุคแรก หรือ สิทธิรุ่นแรก เป็น “สิทธิเกี่ยวกับพลเมือง และการเมือง” ที่เน้นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล อาทิ เสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุม การรวมตัวกัน สิทธิในการสื่อสาร สิทธิในการนับถือศาสนา ในชีวิตและร่างกาย ความเป็นอยู่ส่วนตัว สิทธิเสรีภาพในเคหะสถาน เสรีภาพในการพูด การเขียน การประกอบอาชีพ สิทธิรุ่นที่ 2 จะเน้นสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม เช่น สิทธิในการรับบริการทางสาธารณสุข สิทธิได้รับการศึกษา สิทธิที่จะได้ค่าจ้างที่เป็นธรรม สิทธิที่จะมีที่อยู่อาศัย สิทธิที่จะได้รับบริการจากรัฐ ซึ่งใน รธน.ปี 40 ระบุว่า รัฐต้องจัดให้มีการศึกษา 12 ปี ขณะที่ รธน.ปี 2550 กำหนดเป็น 15 ปี เป็นต้น
สิทธิรุ่นที่ 3 ไม่ได้พูดถึงสิทธิแบบปัจเจก หรือตัวบุคคล แต่เน้นสิทธิของกลุ่ม ชุมชน ปวงชน และ ประชาชนทั่วไป อาทิ สิทธิชุมชน สิทธิในการจัดการทรัพยากร สิทธิที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี สิทธิในการตัดสินใจร่วมกันพัฒนา สิทธิให้ชุมชนร่วมจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สิทธิที่จะสืบทอดวัฒนธรรมความเชื่อ สิทธิในการร่วมตรวจสอบโครงการรัฐ สิทธิที่จะได้รับข้อมูลโครงการหรือกิจกรรมของรัฐก่อน และให้ความเห็นได้ เป็นต้น
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,124 วันที่ 21 – 23 มกราคม พ.ศ. 2559