เลือดเปื้อนเหมือง (23 มิ.ย.57)

ปานใจ ปิ่นจินดา, กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 23 มิถุนายน 2557
เลือดเปื้อนเหมือง


ภาพโดย เริงฤทธิ์ คงเมือง

โดย : ปานใจ ปิ่นจินดา

ถูกต้องแล้วหรือ กับการใช้ "ทองคำ" เป็นมาตรวัดถึงความมีค่า ในเมื่อจะมีอะไรสำคัญไปกว่า "ชีวิต" ?

เชื่อไหมว่าครั้งหนึ่ง นโปเลียน ผู้ยิ่งใหญ่เคยทำเข็ญกับชาวภูเก็ตไว้มาก !?!

... ไม่แปลกถ้าใครจะงงกับข้อมูลชุดใหม่ที่เพิ่งเคยได้ยินนี้ แต่ขออย่าเพิ่งรีบส่ายหน้าปฏิเสธ เพราะเรื่องทั้งหมดเริ่มต้นขึ้น หลังจากที่พระเจ้านโปเลียน โบนาปาร์ด แห่งฝรั่งเศส เห็นข้อจำกัดของสงครามเรื่องเสบียงอาหารระหว่างเดินทัพ จึงตั้งรางวัล 12,000 ฟรังค์ให้แก่ผู้ที่สามารถคิดค้นวิธีถนอมอาหารให้อยู่ได้นาน และแล้วรางวัลนั้นก็ตกแก่ นิคโคลัส เอบเบิร์ท ซึ่งพบว่า ถ้านำอาหารใส่ขวดหรือกระป๋องที่ต้มสะอาดแล้วปิดทันที ก็จะสามารถเก็บอาหารได้นานหลายเดือน กระทั่งต่อมา ปีเตอร์ ดูรรองด์ ชาวอังกฤษได้ค้นพบวิธีถนอมอาหารโดยบรรจุลงในกระป๋องป้องกันอากาศเข้าไป โดยกระป๋องเหล่านั้นทำด้วยเหล็กที่ชุบดีบุกบางๆ และเรียกโลหะชุบนั้นว่า "เหล็กวิลาศ" (Tin Plate)

นับจากนั้นเป็นต้นมา โลกก็รู้จักใช้ "ดีบุก" ในนามของ "กระป๋อง" ที่กระจายตัวไปทั่วโลก และนำมาซึ่งการเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุกในหลายๆ พื้นที่ รวมถึงเกาะสวรรค์ในอีกฝั่งซีกโลกอย่าง "ภูเก็ต" ด้วย

ถึงจะจริงแค่บางส่วน แต่หลายฉากดราม่าบนรอยเหมือง ณ เกาะไข่มุกแห่งอันดามัน ซึ่งเล่าไว้ในหนังสือ "เมฆปริศนา: ประวัติศาสตร์บอกเล่าเรื่องเหมืองแร่ในเมืองไทย" โดย บำเพ็ญ ไชยรักษ์ ทำให้เราคงปฏิเสธได้ไม่เต็มปากว่า ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับคำสั่งของท่านนโปเลียนผู้ยิ่งใหญ่ในครั้งนั้น

... ไม่ว่าจะเป็นเหตุการกบฏเหมืองแร่ โดยอั้งยี่ชาวจีนที่ทั้งก่อศึกระหว่างกัน กระทั่งสู้รบกับทางการจนชาวเมืองภูเก็ตได้รับความเดือดร้อนกันไปทั่ว แล้วยังมีดราม่าเสียรู้ทุนต่างชาติ ในยุคที่กิจการเหมืองไทย ถูกครอบงำโดยชาติตะวันตกซึ่งเข้ามาแทนที่อั้งยี่จากแดนมังกรเพื่อทำการขุด ดีบุก แต่กลับเจอของดีและแพงกว่า นั่นก็คือ "แทนทาไลต์" อันแสนมีค่า เพราะสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมแห่งโลกอนาคต ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนยานอวกาศ ขีปนาวุธนิวเคลียร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ ฯลฯ

เดาได้ไม่ยากเลยว่า โรงถลุงแร่ภายใต้เงินทุนของต่างชาติต่างช่วยกันเก็บงำความลับไว้ไม่แพร่ง พรายออกไป กระทั่งความมาแตกเอาตอนหลังเมื่อนักวิชาการด้านธรณีวิทยาออกมาระบุ (พ.ศ.2528) ว่า ภาคใต้มีแร่แทนทาลัมในรูปของ "แทนทาไลต์เพนท็อกไซด์" ปะปนอยู่กับแร่ดีบุก แต่ก็สายเสียแล้ว เพราะ 20 ปีแห่งการกอบโกยโดยโรงถลุงแร่ทุนต่างชาติที่เข้ามาก่อตั้งโรงถลุงแร่ดีบุกใน จังหวัดภูเก็ต คงไม่ต้องคำนวณให้เสียเวลา ก็พอจะรู้ว่า ประเทศชาติต้องเสียรู้ไปมหาศาลเพียงใด

นอกจากนี้ ในช่วงเวลาก่อนหน้านั้น กระแสต่อต้านจากชาวบ้าน ตลอดจนนิสิตนักศึกษาเพื่อคัดค้านการทำเหมืองก็เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น อย่างในปี พ.ศ. 2521 ชุมชนชาวประมงชายฝั่ง ชาวบ้านสะปำ ตำบลเกาะแก้ว ได้รวมตัวกันคัดค้านการทำเหมืองแร่ ของบริษัท เศรษฐทรัพย์การแร่ ที่จะเข้ามาขุดหาแร่ในอ่าวสะปำ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบกับชาวประมงชายฝั่ง กระทั่งแกนนำการคัดค้านถูกลอบยิง

แม้จะรอดชีวิตมาได้ด้วยอาการสาหัส แต่เลือดก็ได้หลั่งลงแล้ว!

ประกอบกับแนวโน้มราคาดีบุกในตลาดโลกที่ลดถอยลง ขณะที่ความเจ็บแค้น(เพราะถูกหลอก) ตลอดจนกระแสการต่อต้านจากชุมชนรุนแรงขึ้น เมื่อการมาถึงของ "โรงงานถลุงแทนทาลัม" อย่างเป็นเรื่องเป็นราวของ บริษัท ไทยแลนด์แทนทาลัมอันดัสทรีย์ ช่วงปลายปี 2528 นั้น การขับเคลื่อนเพื่อคัดค้านก็เกิดขึ้นโดยกลุ่มนิสิตนักศึกษาในนามชมรม อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 24 สถาบันนำข้อสงสัยเรื่องผลกระทบมาเผยแพร่กับประชาชนชาวภูเก็ตจนตื่นตัวและออก มาชุมนุมแสดงพลังคัดค้านการสร้างโรงงานถลุงแทนทาลัมเป็นจำนวนมาก

ยิ่ง 'เรียกแขก' ซ้ำ โดยทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายบริษัทที่ดึงดันเดินหน้าสร้างโรงงานต่อไป จนเกิดกระแสการคัดค้านบานปลายไปทั่วเมือง กระทั่งเช้าวันจันทร์ที่ 23 มิถุนายน 2529 ประชาชนได้มารวมตัวกันเรือนแสน บรรดาร้านค้าทั่วเมืองภูเก็ตพากันปิด ตลาดสดก็ไม่มีการจำหน่ายสินค้า นักเรียน นักศึกษา ครูบาอาจารย์ และชาวบ้านทุกสาขา อาชีพ พากันปิดบ้านเรือน แม้กระทั่งคนต่างถิ่น ต่างอำเภอก็ยังมาร่วมแสดงพลังต่อต้านโรงงานแทนทาลัม

ผลจากการชุมนุมในวันนั้น คือ โรงงานถลุงแทนทาลัมต้องปิดตัวลงโดยปริยายเพราะถูกเผา ขณะเดียวกันประวัติศาสตร์หน้าใหม่ก็ได้ถูกบันทึกไว้ว่า เช้าวันนั้น ถือเป็นเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงเรื่องสิ่งแวดล้อมที่มีผู้เข้าร่วมมาที่สุด ของประเทศไทย ที่แม้กระทั่งปัจจุบัน ก็ยังไม่มีเหตุการณ์ไหนมาทุบสถิติลงไปได้

  • ปริศนาบนก้อนเมฆ

เรื่องราวผลกระทบของกิจการเหมืองแร่ที่มีต่อชาวภูเก็ตข้างต้น เป็นแค่น้ำจิ้มของ "1 ใน 11 เรื่องเปื้อนเลือด" จากอุตสาหกรรมเหมืองในประเทศไทย ซึ่งถูกรวบรวมไว้ในหนังสือ "เมฆปริศนา: ประวัติศาสตร์บอกเล่าเรื่องเหมืองแร่ในเมืองไทย" และหนังสือสารคดีภาพเล่า "รอยเหมือง" โดย บำเพ็ญ ไชยรักษ์ นักเขียนอิสระ พร้อมด้วย เริงฤทธิ์ คงเมือง ช่างภาพ ที่พากันดั้นด้นเข้าพื้นที่ ไปทั้งในเขต(เหมือง)ต้องห้าม ปีนเขาสูง ลัดเลาะเส้นทางเฉพาะของชาวบ้านเพื่อไปเห็นกับตาถึงภาพที่เหมืองไม่ยอมเปิดเผย ทั้งโดนไล่ล่า แกะรอย กระทั่งมีคนมาป้วนเปี้ยนถึงหน้าบ้าน!

..สารพัดจะเจอ แต่ในที่สุดก็ได้ออกมาเป็นหนังสือทั้งสองเล่มภายใต้โครงการจัดทำต้นฉบับ "หนังสือสารคดีภาพถ่าย ทบทวนประวัติศาสตร์ผลกระทบด้านสุขภาพจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ในประเทศไทย" ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบ ด้านสุขภาพ สำนักงานคณกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

"ปริศนาบนก้อนเมฆ" คือ ตอนหนึ่งของรอยเหมืองบนความพยายามที่จะสะท้อนความแคลงใจของ "ชาวแม่เมาะ" ที่มีต่อผืนเมฆทะมึนซึ่งปกคลุมเหนือปล่องโรงไฟฟ้าแม่เมาะ อันเป็นภาพชินตา พบเห็นได้ทุกวัน วันละหลายเวลา

"มันเป็นแค่ไอน้ำ...คนไม่รู้ก็บอกว่าเป็นควันพิษ...จริงๆ แล้วเป็นไอน้ำที่ลอยขึ้นไปกลายเป็นเมฆก้อนใหญ่" คือคำอธิบายจากวิศวกรประจำโรงไฟฟ้าแม่เมาะเกี่ยวกับปรากฏการณ์ดังกล่าว แก่ บำเพ็ญ ไชยรักษ์

แม้จะมีเสียงยืนยันถึงการ 'มาดี' ของเมฆปริศนา แต่ชาวบ้านก็ยังไม่ลืมว่า ครั้งหนึ่ง.. พวกเขาหลายร้อยคนป่วยเฉียบพลัน ด้วยอาการแสบจมูก แสบคอ บางรายวิงเวียนศีรศะ ไอ จาม หายใจลำบาก แน่นหน้าอก เหตุเกิดต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 3 - 5 ตุลาคม 2535 และต่อมาในวันที่ 20 ตุลาคม ก็เกิดเหตุซ้ำอีก นอกจากจะมีคนเจ็บป่วนแล้ว ยังพบวัว ควาย ตาย 28 ตัว ต้นไม้เหี่ยวเฉา ใบไม้มีรอยไหม้ พืชผักเสียหาย

ต่อให้มีเทวดามาอธิบาย สรรหานานาเหตุผลมารองรับความไม่ชอบมาพากล แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในระดับมหากาพย์ซึ่งมีเมฆปริศนาเป็นแค่ "สัญญะ" นั้น ถ้าไม่เจอกับตัว ก็คงยากจะเข้าใจ และทำใจให้เป็นสุขได้

หรืออย่างการมาถึงของเหมืองใหญ่บน "ดอยผาแดง" แหล่ง สังกะสีคุณภาพดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ไม่เพียงทำร้ายหัวใจชาวบ้านด้วยการไล่รื้อ "พระธาตุผาแดง" สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่กราบไหว้กันมาเกือบ 7 ทศวรรษ เนื่องจากการขยายพื้นที่เหมืองมา จนถึงใต้ฐานพระธาตุ ซึ่งแม้จะมีสร้างใหม่ทดแทนพระธาตุองค์เก่าไว้ให้ที่ตีนดอย แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ชาวบ้านรู้สึกดีขึ้น เพราะพวกเขาเชื่อว่า "เจ้าพ่อ" ยังคงสถิตย์อยู่บนผา..

พร้อมกับพระธาตุองค์ใหม่ที่สร้างขึ้นทดแทนให้ ยังมีอีกหนึ่งของแถมที่ชาวบ้านบริเวณลุ่มน้ำแม่ตาว - แม่กุ อ.แม่สอด จ.ตาก ได้รับเอกสิทธิ์เหนือใคร นั่นคือ "สารแคดเมียม" ที่ทั้งแฝงเข้าสู่ร่างกายนำมาสู่อาการไตวาย ไตเสื่อม แถมยังพบแนวโน้มของจำนวนผู้ป่วยกระดูกพรุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

หรืออย่างที่ไม่นานมานี้ กับเหตุการณ์ที่ชาวบ้าน "วังสะพุง" จ.เลย ถูกกองทัพไอ้โม่งจับมัดมือไพล่หลัง มีปืนจ่ออยู่ที่หัว ทั้งๆ ที่พวกเขาก็แค่ ต่อสู้เรียกร้องสิทธิในการได้ใช้ชีวิตที่ปราศจากสารพิษปนเปื้อนก็เท่านั้น!


กลุ่มนักศึกษาเข้าช่วยชาวบ้านเพื่อเข้าร่วมแสดงความเห็นกรณีขอขยายสัมปทานพื้นที่เหมืองทองคำแปลง ต.นาโป่ง อ.เมือง จ.เลย

  • ระบบเป็นเหตุ

การเดินทางของ 'หายนะ' ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์จากขุมเหมืองที่ภูเก็ต หรือขึ้นเหนือถึงลุ่มน้ำแม่ตาว หรือไต่เขามายังวังสะพุงก็ตามแต่นั้น ในมุมมองของ สมพร เพ็งค่ำ นัก วิจัยสมทบ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้าน สุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ซึ่งลงพื้นที่ศึกษาผลกระทบจากการทำเหมืองมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 นั้น เธอยกตัวอย่างเหมืองแร่ทองคำในจังหวัดเลย กับเหมืองแร่สังกะสีในจังหวัดตาก แม้จะมีระยะเวลาก่อกำเนิดที่ต่างกัน แต่บทเรียนที่เกิดขึ้นล้วนไม่ผิดแผกไปจากกัน

"ชุมชนที่อาศัยในพื้นที่กลายเป็นชุมชนปนเปื้อนสารพิษ ทั้งในสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์ และห่วงโซ่อาหาร ส่งผลกระทบให้ชาวบ้านไม่สามารถใช้น้ำสะอาด หรือรับประทานอาหารได้ตามธรรมชาติได้ ชาวบ้านเริ่มล้มป่วย และทยอยเสียชีวิต” เธอบอก

หนึ่งในเรื่องพิลึกพิลั่นของระบบการสัมปทานเหมืองในไทย คือ หลังจากรัฐ โดยกรมทรัพยากรธรณีลงสำรวจว่าพื้นที่ไหนมีศักยภาพในการทำเหมืองแร่ และเมื่อพบแล้วก็จะให้เอกชนเข้ามาสำรวจต่อ..

"น่าตกใจคือ เอกชนจะเป็นผู้รู้ข้อมูลทั้งหมด รู้ว่าพื้นที่นั้นๆ มีแร่ชนิดอะไรบ้าง และมีในปริมาณมากน้อยอย่างไร จากนั้นเขาก็จะได้สิทธิในการยื่นขอสัมปทาน ถ้าเอกชนซื่อตรงก็จะบอกหมด แต่ถ้าเอกชนที่ตุกติกหน่อย ก็บอกไม่ครบ อย่างกรณีเหมืองแร่ ทองคำที่จ.เลย ปกติสินแร่ที่จะเจอด้วยกันเวลาถลุงแร่ทองคำ จะได้เงิน ทองแดง และทองคำด้วย แล้วแต่ว่าสัดส่วน ลักษณะแร่ในพื้นที่จะเป็นอย่างไร ซึ่งที่เหมืองนั้น เริ่มแรก เขาจ่ายค่าภาคหลวงแค่ทองคำ และต้องขอบคุณกรรมการสุขภาพแห่งชาติลงพื้นที่ แล้วมีอาจารย์ท่านหนึ่งไปแล้วเจอว่า สูตรโครงสร้างทางเคมีที่พบ นอกจากจะเจอทองคำแล้ว ยังมีทองแดงอีกด้วย นำมาสู่การตั้งคำถามที่ไม่ทันให้ตั้งตัวว่า.. แล้วคุณจ่ายภาษีทองแดงด้วยหรือเปล่า?

..ไม่รู้ว่า เกี่ยวกันไหม แต่ในปีถัดมาเหมืองนั้นก็จำต้องยื่นเรื่องจ่ายค่าภาคหลวงทองแดงด้วย!

สิ่งที่พวกเขาทุกคนหวัง คือ การได้เห็นนโยบายการจัดการทรัพยากรแร่ในประเทศไทย ซึ่งสามารถนำไปใช้ให้ก่อประโยชน์สูงสุด เป็นธรรม และยั่งยืน เพื่อไม่ให้บทเรียนดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำในชุมชนใดอีกต่อไป

"ตั้งแต่ไทยมีเหมืองแร่มา ไม่เคยมีการทำการศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์เลยว่า ที่สุดแล้ว ประเทศชาติกำไร หรือ ขาดทุนกันแน่ จากการให้สัมปทานสินแร่" สมพร เอ่ย

จากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ที่รัฐคิดว่า ได้ประโยชน์จากการจัดสรรทรัพยากรของชาติโดยรัฐได้ 'ค่าภาคหลวง' (ค่าภาคหลวงแร่) เป็นการตอบแทน คิดเพียงขาดทุน-กำไรที่จะได้เป็นผลตอบแทนจากเหมือง แต่สิ่งที่หายไประหว่างนั้น คือ "ต้นทุนชีวิต" ของชาวบ้านตั้งแต่การสูญเสียโอกาสทางอาชีพ, การเจ็บไข้ได้ป่วย จนถึงการสูญเสียถึงชีวิต ล้วนแต่เป็นสิ่งที่รัฐไม่ได้คิดคำนวณไว้

แม้กระทั่งงบในการเยียวยายามเจ็บไข้ ตลอดจนการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อน ต่างก็ไม่เคยถูกระบุไว้ในเอกสารหน้าไหนทั้งสิ้น!

(หมายเหตุ : ข้อมูลเกี่ยวกับเหมืองทั้งหมด เรียบเรียงจากหนังสือ "เมฆปริศนา" และ "รอยเหมือง" โดยบำเพ็ญ ไชยรักษ์ และ เริงฤทธิ์ คงเมือง)