เหตุผลที่คนไทยควรคัดค้านประเทศลาวสร้างเขื่อนดอนสะโฮง (20 ม.ค. 59)
ประชาไท 20 มกราคม 2559
เหตุผลที่คนไทยควรคัดค้านประเทศลาวสร้างเขื่อนดอนสะโฮง
ศจี กองสุวรรณ
ข่าวลาวกำลังเดินหน้าก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮง กลายเป็นกระแสร้อนแรงในแวดวงสิ่งแวดล้อมทันทีเมื่อหนังสือพิมพ์เวียงจันไทมส์ ฉบับวันที่ 6 มกราคม 2559 รายงานว่ามีการทำพิธีเปิดการก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮงแล้ว ที่บ้านหางสะดำ ในบริเวณสีพันดอน เมืองโขง แขวงจำปาสัก ในพื้นที่ภาคใต้ของลาวติดชายแดน คนส่วนใหญ่อาจจะคุ้นเคยได้ยินแต่ชื่อเขื่อนไซยะบุรีที่มีข่าวเครือข่ายประชาชนแปดจังหวัดลุ่มน้ำโขง ฟ้องต่อศาลปกครองไทยว่าการดำเนินการก่อสร้างเขื่อน ไซยะบุรี มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อระบบนิเวศของแม่น้ำโขง ทั้งๆ ที่เขื่อนดอนสะโฮง ถูกคาดหมายว่าจะเป็นเขื่อนแห่งแรกที่ถูกก่อสร้างบนแม่น้ำโขงกระแสหลักและส่งผลกระทบข้ามพรมแดนอย่างร้ายแรงสูงกว่าเขื่อนไซยะบุรีเสียอีก
บางคนอาจจะคิดว่าประเทศลาวจะสร้างเขื่อนในภายประเทศของเขาแล้วคนไทยเดือดร้อนอะไรด้วย อาจจะเป็นเรื่องยากสำหรับคนไทยบางคนจะเข้าใจว่าทำไมเราต้องไปยุ่ง แทรกแซงเรื่องของประเทศเพื่อนบ้าน (ในเมื่อประเทศไทยเรามีปัญหารุมเร้ายากที่จะแก้ไขอยู่แล้ว) เพราะระบบการศึกษาไทยไม่ได้ปลูกฝังให้เรามีความห่วงใยในปัญหาที่ไปพ้นจากปัญหาแค่ของตัวเอง บางคนอาจจะคิดว่าโชคดีที่เรามีเพื่อนบ้านเป็นแบตเตอร์รี่สร้างเขื่อนขายไฟฟ้าให้ คนไทยจะได้มีไฟฟ้าราคาถูกไว้ใช้และคนไทยจะได้ไม่ต้องทะเลาะกันเองเพราะฝ่ายสนับสนุนกับต่อต้านการสร้างเขื่อน บางคนอาจจะยินดี(แกมอิจฉา) แทนคนลาวที่ประเทศกำลังมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างร้อนแรง คนลาวจะได้หลุดพ้นจากการเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่ยากจนเสียที
เหตุผลห้าประการที่ผู้เขียนคัดค้านประเทศลาวสร้างเขื่อนดอนสะโฮง รวมทั้งเขื่อนอีก 10 แห่งบนแม่น้ำโขงสายหลัก
1. ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมจากเขื่อนดอนสะโฮงรุนแรง ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ แต่มูลค่าจากกระแสไฟที่ผลิตได้ไม่อาจเทียบได้กับมูลค่าและคุณค่าทางสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตและเศรษฐกิจการประมงที่ต้องสูญเสียไป (เขื่อนดอนสะโฮงผลิตไฟฟ้าได้เพียง 260 เมกะวัตต์ ในขณะที่เขื่อนไซยะบุรีขนาด 1,260 เมกะวัตต์แต่เขื่อนดอนสะโฮงส่งผลกระทบรุนแรงกว่าเขื่อนไซยะบุรียิ่งนัก) แม่น้ำโขงเป็นสายเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตของประชาชนที่อาศัยริมฝั่งในประเทศลาว ไทย กัมพูชาและเวียดนามมากกว่า 10 ล้านคน เป็นแหล่งก่อเกิดวัฒนธรรม ความมั่นคงทางอาหาร แหล่งโปรตีนราคาถูกสำคัญที่ของกลุ่มชนพื้นเมืองและชนกลุ่มน้อยที่เป็นคนยากจนในภูมิภาคนี้
รายงานวิจัยล่าสุดของคณะ กรรมาธิการแม่น้ำโขง พบว่า การประมงแม่น้ำโขงมีมูลค่าถึง 603,500 ล้านบาท/ปี (17,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ) จากปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้สูงถึง 4.4 ล้านตัน/ปี และมูลค่าการประมงในกัมพูชามากถึง 3 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือ คิดเป็น 18 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ของประเทศ ในลาว มูลค่าการประมงคิดเป็น 12 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP ทั้งประเทศ ประมาณ 1.5 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ
การสร้างเขื่อนดอนสะโฮงจะกีดขวาง “ฮูสะโฮง” เส้นทางอพยพของปลาในแม่น้ำโขงที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ ซึ่งปลาแม่น้ำโขงมากว่า 70% เป็นปลาอพยพไปวางไข่ หากินที่ท้ายน้ำ หากสร้างเขื่อนดอนสะโฮงขวางกั้นเส้นทางอพยพของปลาจะก่อให้เกิดการสูญพันธ์ครั้งใหญ่ของปลาในแม่น้ำโขง ถึงแม้จะมีมาตรการในการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วยการขุดลอกเส้นทางอพยพปลาเพิ่มเติม การทำบันไดปลาโจนหรือลิฟท์ปลา แต่ไม่มีรายงานทางวิทยาศาสตร์ใดๆ รองรับว่าบันได้ปลาโจนหรือลิฟท์ปลาจะใช้ได้ผลกับปลาในแม่น้ำโขงซึ่งมีขนาดและพฤติกรรมแตกต่างจากปลาแซลมอน
ยิ่งไปกว่านั้นบริเวณที่ตั้งเขื่อนดอนสะโฮงยังตั้งอยู่ห่างจากบริเวณที่เป็นวังปลาที่อยู่อาศัยของโลมาอิรวดีเพียง 1 กิโลเมตร ซึ่งคาดว่าเหลือเพียง 2 ฝูงสุดท้ายในแม่น้ำโขง ความสั่นสะเทือนจากกิจกรรมก่อสร้างเขื่อน การเปลี่ยนแปลงระดับความลึกและกระแสน้ำอาจทำให้โลมาอิรวดีเกิดความเครียด ไม่กินอาหารและสืบพันธ์ อพยพไปจากบริเวณนี้หรือสูญพันธ์ไปในที่สุด
2. ประเทศลาวมีประชากรเพียงประมาณ 6 ล้านคน มีเขื่อนผลิตไฟฟ้าใหญ่น้อยที่เปิดใช้ดำเนินการแล้วทั้งสิ้น 23 แห่ง (ซึ่งเริ่มใกล้เคียงกับการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนจำนวน 28 แห่งในประเทศไทย) แต่ตามชนบทนอกเมืองยังขาดแคลนไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นบ้าน หมู่บ้านที่อยู่ใกล้เขื่อนกลับไม่มีสายส่งไฟต่อเข้าถึงหมู่บ้าน ต้องใช้เครื่องมอเตอร์ปั่นไฟฟ้า ชาวบ้านต้องเสียค่าน้ำมันเดือนละมากกว่า 3,000 บาทเพื่อใช้ในการปั่นไฟฟ้า ที่เป็นเช่นนี้เพราะพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากเขื่อนส่วนใหญ่รัฐบาลส่งออกขายให้ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ประเทศไทย เวียดนาม ให้คนไทยบางส่วนใช้ไฟฟ้าราคาถูกได้อย่างฟุ่มเฟือย อย่างที่เป็นในทุกวันนี้
นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมักจะอ้างแนวคิดที่ว่าเมื่อเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจจะก่อให้เกิดผลของการไหลรินลงสู่เบื้องล่าง (Trickle Down Effect) ซึ่งหมายถึงผลได้จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะไหลล้นจากผู้มีรายได้มากไปสู่ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีนัยว่าผลดีอันเกิดแต่การพัฒนาเศรษฐกิจจะทำให้ประชาชนทุกส่วนได้รับประโยชน์โดยถ้วนหน้ากัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ต่างจากที่เกิดขึ้นในประเทศไทยแต่หนักหน่วงยิ่งกว่า คือมีเพียงคนกลุ่มน้อยโดยเฉพาะผู้มีอำนาจรัฐ (อย่าลืมว่าประเทศลาวยังคงปกครองด้วยระบบสังคมนิยม ประชาชนไม่มีสิทธิ มีเสียงใดๆ) ดังจะเห็นได้จากค่าสัมประสิทธิ์จีนี่ ซึ่งเป็นดัชนีทางเศรษฐศาสตร์ที่สะท้อนถึงระดับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประชากรภายในประเทศนั้นๆ โดยในทางทฤษฎีนั้น ค่าสัมประสิทธิ์ดังกล่าวจะมีค่าระหว่าง 0 ถึง 1 ค่าที่เข้าใกล้ 0 มากกว่า จะหมายถึงมีระดับความเหลื่อมล้ำในระดับต่ำ ขณะที่ค่าที่เข้าใกล้ 1 มาก ก็จะหมายถึงมีระดับความเหลื่อมล้ำที่สูงในปี 2554 ชาวลาวมีรายได้ต่อหัวประชากรเพียง 45,605 บาทต่อปี หรือ 1,303 ดอลล่าร์ และมีแนวโน้มของความเหลื่อมล้ำที่ขยายตัวเพิ่ม ดูได้จากค่าสัมประสิทธิ์จีนี่ ช่วงปี 2544-2547 มีค่าเพียง 0.326 แต่ช่วงปี 2548-2554 กลับเพิ่มขึ้นเป็น 0.367[1]
3. เขื่อนดอนสะโฮงสร้างในอาณาเขตประเทศลาว ถึงแม้รัฐบาลลาวจะมีอธิปไตยในดินแดนของประเทศ แต่การสร้างเขื่อนดอนสะโฮงก่อให้เกิดผลกระทบข้ามพรมแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้านซึ่งแบ่งปันใช้แม่น้ำโขงร่วมกัน อีกทั้งประเทศลาวเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงได้มีการตกลงร่วมกันในความตกลงว่าด้วยการร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงแบบยั่งยืน ความตกลงดังกล่าวกำหนดให้มีระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement: PNPCA) โดยประเทศสมาชิกจะต้องแจ้งต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ในกรณีที่ประเทศสมาชิกมีโครงการพัฒนาสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ใดๆ บนแม่น้ำโขงสายหลักหรือแม่น้ำ เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงเกณฑ์ที่จะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงนานาชาติในเดือน พ.ย.2556 รัฐบาลลาวตีความว่าฮูสะโฮงที่ตั้งเขื่อนดอนสะโฮง เป็นคลองซอย แม่น้ำสายแยก (distributary) ไม่ได้สร้างกั้นทางน้ำไหลสายหลักของแม่น้ำโขง จึงเป็นเอกสิทธิ์และอำนาจอธิปไตยของประเทศลาวที่จะสร้างเขื่อนดอนสะโฮง
ด้านคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ในเดือนมกราคม 2558 มีมติให้ชะลอการพิจารณาโครงการเขื่อนดอนสะโฮงออกไปจนกว่าจะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงยังคงนิ่งเงียบ ปล่อยให้เกิดคำถามที่ไม่มีคำตอบมากมายเกี่ยวกับอนาคตของโครงการนี้ และแม้ยังไม่มีการลงมติเกี่ยวกับกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ในขณะที่การก่อสร้างบริเวณหัวงานเขื่อนยังคงเดินหน้าต่อไป
4. ธรรมาภิบาล รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม (EIA, SIA) ระบุผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากเขื่อนดอนสะโฮงมีเพียงเล็กน้อย เช่น เขื่อนเป็นแบบน้ำไหลผ่านตลอดปีไม่มีอ่างเก็บน้ำ (run-off-river) มีบ้านที่อยู่ในบริเวณน้ำท่วมต้องย้ายเพียง 11 หลังคาเรือน แต่ในอีไอเอและเอสไอเอ ไม่ได้ศึกษา รายงานถึงผลกระทบจากการสร้างสถานีไฟฟ้าย่อย และระบบสายส่งไฟฟ้าที่จะต้องผ่านป่าอุดมสมบูรณ์และชุมชนของประเทศไทยไปจนถึงเวียดนาม รวมถึงผลกระทบข้ามพรมแดน ที่มีต่อชาวประมงทั้งฝั่งลาวและประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจชุมชน
กระบวนการเวทีประชาพิจารณ์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากเขื่อนดอนสะโฮง ขาดความโปร่งใสด้วยเช่นกัน มีการจัดเวทีประชาพิจารณ์ในพื้นที่เพียง 3 ครั้ง โดยครั้งแรกส่วนใหญ่เป็นการเชิญหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจเข้าร่วม ครั้งที่ 2-3 เป็นการจัดเวทีในหมู่บ้านที่คาดว่าจะได้รับกระทบจากเขื่อน จากการสัมภาษณ์ชาวบ้านที่เข้าร่วมพบว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ขาดความรู้ ความเข้าใจไม่สามารถคาดการณ์ถึงผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนได้ ประกอบกับการปกครองในระบบสังคมนิยมของประเทศลาว ไม่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้แสดงความคิดเห็นอย่างเสรีได้ เจ้าของโครงการนำเสนอผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะได้รับจากเขื่อนดอนสะโฮง (แน่นอนว่ายากที่จะถึงถือมือชาวบ้าน) ในเวทีไม่มีสื่อมวลชนและนักวิชาการอิสระ ที่จะซักถามแสดงความห่วงใยได้
นอกจากนี้การเปิดเผยให้สาธารณชนเข้าถึงรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมยังมีความล่าช้ามาก ถึงแม้องค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศจะมีความพยายามร้องขอให้เปิดรายงานล่วงหน้านานแล้ว เพิ่งจะมีการเปิดเผยเมื่อ 2 ปีที่แล้ว
5. สถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐของประเทศลาวจะรุนแรงยิ่งขึ้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในปัจจุบันอาจทำให้คนไทยบางคนรู้สึกชินชาจนเพิกเฉยกับสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตามไม่อาจเทียบได้กับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศที่ยังคงปกครองด้วยระบบสังคมนิยม องค์การนิรโทษกรรมสากลรายงานว่ารัฐบาลลาวยังคงมีการปราบปรามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวม้งซึ่งเป็นผลพวงจากประวัติศาสตร์ยุคสงครามอินโดจีน มีการควบคุมการเคลื่อนไหวของประชาชนอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคลื่อนไหวทางการเมือง (ในรัฐธรรมนูญลาวบอกว่าประชาชนลาวมีสิทธิในชุมนุม) แต่ในความเป็นจริงไม่สามารถทำได้เลย
ดังเช่นตัวอย่างที่ผ่านมาจากเขื่อนน้ำเทินชาวบ้านถูกบังคับให้ย้ายออกจากที่อยู่เดิม ไปอยู่ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะแก่การเกษตร ทำให้วิถีชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงและเป็นเรื่องยากในการปรับตัว ดังนั้นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนดอนสะโฮงจะมีโอกาสที่ไม่ได้รับค่าชดเชย การเยียวยาผลกระทบ ผู้ที่ออกมาร้องเรียนคัดค้านอาจถูกอุ้มหาย ดังคำพูดที่ติดปากคนลาวเมื่อกลัวที่จะแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์นโยบายคือจะถูกนำตัวไป “อบรม” หรือที่คนไทยเรียกว่า “อุ้มหาย
สิ่งที่อยากกล่าวในสุดท้ายนี้ก็คือ ถ้าหากคนไทยเลือกจะเมินเฉย และรอรับไฟฟ้าราคาถูกจากเขื่อนแม่น้ำโขงแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งนอกจากจะเป็นการไม่ยุติธรรมนักต่อสิ่งแวดล้อมและผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการแล้ว ท้ายที่สุดแล้วผลกระทบที่เกิดขึ้นจะย้อนมาหาคนไทยเองจากภาวะโลกร้อน การขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำมูลอันเป็นสาขาแม่น้ำโขง การอพยพหนีความยากจนอันเนื่องมาจากเขื่อน ฯลฯ ทั้งนี้ผู้เขียนเชื่อมั่นว่าประเทศลาวสามารถหลุดพ้นจากความยากจน มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในขณะเดียวกันเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ด้วยการพัฒนาทางเลือก ซึ่งประเทศลาวมีปัจจัยพร้อมด้วยการเกษตรอินทรีย์และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์