“ชาวเขาปู่คง” ร้องศูนย์ดำรงธรรมค้านอุตสาหกรรมไฟเขียวเอกชนทำเหมืองแร่หลังใบประทานบัตรเดิมกำลังหมดอายุ (19 ม.ค. 59)

MGR Online 19 มกราคม 2559
“ชาวเขาปู่คง” ร้องศูนย์ดำรงธรรมค้านอุตสาหกรรมไฟเขียวเอกชนทำเหมืองแร่หลังใบประทานบัตรเดิมกำลังหมดอายุ

กาญจนบุรี - ชาวเขาปู่คง ตำบลกลอนโด อำเภอด่านมะขามเตี้ย ร้องศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาญจนบุรี ค้านอุตสาหกรรมออกใบประทานบัตรอนุญาตให้บริษัทเอกชนประกอบธุรกิจเหมืองแร่ หลังใบประทานบัตรเดิมกำลังหมดอายุ ยันต้องการอนุรักษ์ผืนป่าไว้ให้ลูกหลานในอนาคต       
       
       เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (19 ม.ค.) นางน้ำอ้อย ผิวดำ อยู่บ้านเลขที่ 2/4 หมู่ 10 ต.กลอนโด อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี เปิดเผยว่า ช่วงเช้าของวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา ผู้ใหญ่บ้านบ้านเขาปู่คง หมู่ 10 ต.กลอนโด อ.ด่านมะขามเตี้ย ได้เรียกชาวบ้านให้ไปฟังคำชี้แจงการขอประทานบัตรประกอบกิจการโรงโม่หินปูนใช้ในการก่อสร้างของบริษัท เคไลม์ สโตน จำกัด ที่อยู่ระหว่างการยื่นขอใบสัมปทานจากอุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี รวม 2 แปลง
       
       โดยก่อนหน้านี้ ชาวบ้านได้รับหนังสือให้ไปรับฟังคำชี้แจงซึ่งชาวบ้านต่างเข้าใจว่าเป็นเพียงคำชี้แจงเท่านั้น จึงได้เพียงแค่ส่งตัวแทนไปรับฟังคำชี้แจงจำนวนไม่มากนัก เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องออกไปทำมาหากิน แต่เมื่อพอไปถึงบริเวณศาลาอเนกประสงค์หน้าที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลกลอนโด ก็พบว่า มีชาวบ้านซึ่งไม่ทราบว่ามาจากไหนประมาณ 300 คน นั่งอยู่ภายในเต็นท์ที่อยู่ด้านข้างศาลาอเนกประสงค์ โดยมีเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ด่านมะขามเตี้ย คอยดูแลความสะดวก โดยมีทีมงานของบริษัทดังกล่าวเป็นผู้กล่าวชี้แจง
       
       แต่อยู่ๆ ทางบริษัทก็ประกาศขอให้ชาวบ้านที่มารับฟังคำชี้แจงให้มีการยกมือลงประชามติ ว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่บริษัท เคไลม์ สโตน จำกัด จะขอประทานบัตรประกอบกิจการโรงโม่หินปูนที่เขาปู่คง ทำให้ตัวแทนของชาวบ้านที่เดินทางไปรับฟังคำชี้แจงไม่พอใจ จึงรีบแจ้งให้ชาวบ้านที่ไม่ได้เดินทางมาด้วยทราบข่าว หลังจากทุกคนทราบจึงรีบเดินทางมาสมทบเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และจากการตรวจสอบกลุ่มบุคคลที่มารับฟังคำชี้แจงที่นั่งอยู่ในเต็นท์ เราไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน และไม่ทราบเลยว่าชาวบ้านเหล่านั้นมาจากที่ไหน และขณะที่ทุกคนยกมือเห็นด้วยต่อการขอประทานบัตร จึงเกิดการโต้เถียงกันเกิดขึ้น ทำให้เกิดเหตุการณ์วุ่นวายมากพอสมควร
       
       เมื่อเป็นเช่นนั้น ช่วงบ่ายของวันเดียวกันพวกตนผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง จึงรวมตัวกันมาร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อขอความเป็นธรรม เนื่องจากพวกเราเกรงว่า แปลงสัมปทานบัตรที่ 28308/14567 และแปลงประทานบัตรที่ 28309/14566 บริเวณเขาปู่คง หมู่ 10 ต.กลอนโด ของบริษัท เอเชียเพลเลทส์ จำกัด ที่กำลังหมดอายุลงในเร็วๆ นี้ จะมีการอนุญาตสัมปทานบัตรให้แก่ บริษัท เคไลม์ สโตน จำกัด ที่เป็นบริษัทในเครือเดียวกัน ซึ่งพวกเราชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบต้องการที่จะอนุรักษ์ผืนป่าดังกล่าวเอาไว้ให้แก่ลูกหลานในอนาคตต่อไป 

นางน้ำอ้อย เปิดเผยต่อว่า แต่อย่างไรก็ตามการที่บริษัท เคไลม์ สโตน จำกัด จะขอประทานบัตรประกอบกิจการโรงโม่หินปูนที่เขาปู่คง ชาวบ้านหมู่ 10 ทั้งหมด ได้มีการร่วมประชุมหารือ และมีมติเห็นพร้อมโดยขอเรียกร้องให้ผู้ประกอบการดำเนินการใน 4 ข้อ คือ

       1.เราต้องการให้ทางบริษัทออกมาชี้แจงเป็นเอกสารเกี่ยวกับวิธีการทำเหมืองแร่ให้ชาวบ้านทั้งหมดทราบข้อเท็จจริงเสียก่อน
       
       2.เราต้องการทราบถึงมาตรการการป้องกันถึงผลกระทบและสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ โดยขอให้ทางบริษัททำเป็นเอกสารนำมาชี้แจงแก่ชาวบ้าน

      3.ในวันที่จะมีการทำประชาคมชี้แจง ขอให้ผู้ประกอบการติดต่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาร่วมสังเกตการณ์ เช่น เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์กรภาคเอกชนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ดูแลทรัพยากรธรรมชาติ และขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี มาเป็นประธานในการทำประชาคม และ

      4.สถานที่การจัดประชุมประชาคมขอให้จัดที่ศาลาประชาคม หมู่ 10 ที่วัดเขาปู่คงเท่านั้น
       
       ด้าน นายมนูญ วิบูลกิจ หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานอุตาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวในวันเดียวกันว่า การที่ชาวบ้านเดินทางมาร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรมนั้น สืบเนื่องจากผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10 ต.กลอนโด อ.ด่านมะขามเตี้ย ได้เชิญกรรมการหมู่บ้าน และชาวบ้านไปประชุมเพื่อรับฟังคำชี้แจงโครงการทำเหมืองแร่ที่มีการขอประทานบัตรที่บริเวณเขาปู่คง หมู่ 10 ต.กลอนโด ในช่วงเช้าของวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากมีชาวบ้านส่วนหนึ่งไม่เข้าใจว่าการประชุมชี้แจงเป็นการทำประชาคมหมู่บ้าน จึงมาเรียกร้องให้หน่วยงานราชการลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีความถูกต้อง หรือมีความชอบธรรมหรือไม่อย่างไร
       
       ซึ่งตนก็ได้อธิบายให้ชาวบ้านที่เดินทางมาร้องเรียนทราบ และเข้าใจแล้วว่า การขอประทานบัตรการทำเหมืองแร่ สามารถเรียกร้องได้ตลอดเวลา ซึ่งระเบียบของข้อกฎหมายในการขอประทานเหมืองแร่ ขั้นตอนแรกจะต้องให้ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่นั้นๆ จัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน จากนั้นให้ผู้ใหญ่บ้านเสนอความคิดเห็นของชาวบ้านไปที่ อบต.จากนั้น อบต.ก็จะมีการประชุมแล้วมีมติออกมา ซึ่งมติที่ประชุมของ อบต.อาจจะมีความเห็นไม่ตร งหรือเห็นตรงกันกับชาวบ้านก็ได้ จากนั้นก็ส่งมติมาที่อุตสาหกรรมจังหวัด และเข้าสู่กระบวนการพิจารณาต่อไป
       
       สำหรับแปลงสัมปทานบัตรเดิมทีมีทั้งหมด 3 แปลง ซึ่งเป็นของบริษัท เอเชียเพลเลทส์ จำกัด ใบสัมปทานบัตรหมดอายุไปแล้ว 1 แปลง ส่วนอีก 2 แปลง กำลังจะหมดอายุในเร็วๆ นี้ แต่ต่อมาบริษัท เคไลม์ สโตน จำกัด ซึ่งอยู่ในเครือเดียวกันกับบริษัท เอเชียเพลเลทส์ จำกัด ได้ยื่นขอสัมปทานบัตรใน 2 แปลงที่กำลังหมดอายุ ซึ่งเราได้กันพื้นที่ลุ่มน้ำที่เราเกรงว่าจะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมออกไปแล้ว ก็เหลือพื้นที่ที่ยังสามารถขอสัมปทานบัตรได้อยู่อีก 2 แปลง และอยู่ระหว่างการดำเนินการทำตามขั้นตอนของกฎระเบียบอยู่