กสม.ลงพื้นที่วังสะพุง สอบปมเหมืองทองทำการยามวิกาล-กรณีฟ้องเยาวชนรายงานข่าวพลเมือง (16 ม.ค. 59)

Citizen Thai PBS 16 มกราคม 2559
กสม.ลงพื้นที่วังสะพุง สอบปมเหมืองทองทำการยามวิกาล-กรณีฟ้องเยาวชนรายงานข่าวพลเมือง

สสจ.เผยพบ ‘สารหนู’ ส่งผลกระทบสุขภาพประชาชน อุตสาหกรรมฯ แจงปมเหมืองทองเปิดทำการยามวิกาล-ขอใช้ที่ป่า ส่วนกรณีเหมืองทองฟ้องเยาวชน รองผู้ว่าฯ เลย รับลูกต่อ ให้ กพร.ประสาน ด้าน‘ทุ่งคำ’ ประกาศพร้อมถอนฟ้อง! ให้ กสม.เป็นตัวเชื่อม

วันนี้ (15 ม.ค.59) คณะอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรธรรมชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) นำโดย นางเตือนใจ ดีเทศน์ ประธานอนุกรรมการฯ ลงพื้นที่ อ.วังสะพุง จ.เลย เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ในกรณีผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ของบริษัททุ่งคำจำกัด หลังหยุดทำการมาตั้งแต่ราวปี 2555 แต่ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ร้องเรียนว่ายังมีการประกอบกิจกรรมบางอย่างในพื้นที่ทั้งกลางวันและกลางคืน 

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 8 ม.ค.2559 คณะอนุกรรมการฯ จัดการประชุมรับฟังการชี้แจงข้อเท็จจริงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีผลกระทบการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำของบริษัททุ่งคำจำกัด จ.เลย รวมทั้งกรณีล่าสุดในประเด็นบริษัทเหมืองทองฟ้องหมิ่นประมาทเยาวชนอายุ 15 ปี จากการรายงานข่าวนักข่าวพลเมืองถึงผลกระทบที่เกิดในพื้นที่

ช่วงเช้า ที่ห้องประชุมศาลาว่าการจังหวัดเลย อนุกรรมการฯ ร่วมประชุมกับ นายเสน่ห์ นนทโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย และตัวแทนหน่วยงานระดับจังหวัดที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานสิ่งแวดล้อม ภาค 9 อุดรธานี สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 2 อุดรธานี อุตสาหกรรมจังหวัดเลย สาธารณสุขจังหวัดเลย สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเลย แต่ไม่มีตัวแทนจากสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จ.เลย และผู้ประกอบการเหมืองเข้าร่วม อย่างไรก็ตาม ในช่วงบ่ายจะมีการลงพื้นที่เหมืองทองและชุมชนต่อไป

สสจ.เผยพบ ‘สารหนู’ ส่งผลกระทบสุขภาพประชาชน

นางปาณิศา อุทังบุญ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย กล่าวให้ข้อมูลการว่า ผลการตรวจร่างกายประชาชนในพื้นที่รอบเหมืองทองคำพบว่าประชาชนได้รับผลกระทบจากสารหนูอย่างมีนัยสำคัญ โดย ในปี 2557 พบผู้ป่วยด้วยพิษจากสารหนู 21 ราย จากผู้ที่เข้าตรวจ 408 ราย และได้ขึ้นทะเบียนดูแลสุขภาพต่อเนื่อง ต่อมาปี 2558 พบจำนวนเพิ่มอีก 25 ราย จากกว่า 400 ราย จึงรวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 46 ราย ล่าสุดมีการตรวจสปีชีย์สารหนูเพื่อให้ทราบว่ามาจากแหล่งใด ผลออกมาแล้วแต่ยังไม่แยกอย่างชัดเจน 

ส่วนสารหนูในตัวอย่างอื่นๆ ที่ตรวจ อาทิ พืชผัก ข้าว และสัตว์ ในปี 2552-2553 พบว่ามีหอยขมในห้วยเหล็กมีปริมาณสารหนูเกินค่ามาตรฐาน ส่วนพืช ผัก และอาหารอื่นๆ ไม่พบสารพิษเกินค่ามาตรฐาน แต่ในปี 2558 ไม่มีหอยขมในพื้นที่อีกแล้ว จึงตรวจปูแทนและพบว่ามีปริมาณสารหนูเกินค่ามาตรฐาน

สำหรับผลตรวจสารไซยาไนด์ ตั้งแต่ 2551-2556 ไม่พบข้อมูลที่บ่งชี้ว่าประชาชนได้รับผลกระทบ

นายเฉลี่ยว ลีสง่า ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 9 อุดรธานี กล่าวว่า ในแหล่งน้ำรอบเหมือง คือ ห้วยผุก ห้วยเหล็ก และห้วยฮวย ที่ผ่านมามีการตรวจพบไซยาไนด์เกินค่ามาตรฐานในบ่อสังเกตการณ์รอบเหมือง และลำห้วยเหล็ก แต่เมื่อน้ำจากห้วยเหล็กไหลลงสู่ห้วยฮวยกลับพบว่าค่าไซยาไนด์ลดลงเรื่อยๆ จนไม่เกินมาตรฐาน นั่นเพราะตามธรรมชาติแล้วไซยาไนด์ใช้เวลาสลายตัวเองได้เร็ว 


อุตสาหกรรมฯ แจงปมเหมืองทองเปิดทำการยามวิกาล-ขอใช้ที่ป่า

นายปกร พูนผล วิศวกรรมเหมืองแร่ชำนาญการ สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่ เขต 2 อุดรธานี ชี้แจงประเด็นการลักลอบดำเนินกิจการเหมืองทองคำในช่วงกลางคืนว่า เป็นการซ่อมแซมบ่อเก็บกักกากแร่ และก่อนหน้านี้มีโอกาสได้เข้าไปในเหมืองช่วงกลางวัน พบว่าเหมืองทองคำไม่มีการทำเหมือง อย่างไรก็ตามหลังได้ทราบข้อร้องเรียนที่มีต่อ กสม.เมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา ยังไม่ได้เข้าไปในพื้นที่เหมืองเพื่อตรวจสอบ

นายปกร กล่าวให้ข้อมูลถึงสถานะของการดำเนินกิจการเหมืองแร่ในปัจุบันว่า ประทานบัตรของบริษัททุ่งคำมีอายุ 25 ปี จะหมดอายุในปี 2570-2571แต่ปัจจุบันการขออนุญาตเข้าทำประโยชน์เพื่อการทำเหมืองแร่และกิจการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ป่าหมดไปแล้ว และอยู่ระหว่างการขออนุญาต จึงไม่สามารถเข้าไปดำเนินการใดๆ ในพื้นที่ได้ แต่ก็ยังคงต้องเข้าไปดำเนินการซ้อมแซมบำรุงรักษาบ่อเก็บกับการแร่

ด้านนายพสธร ไชยศึก เจ้าพนักงานป่าไม่ชำนาญงาน สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จ.เลย กล่าวชี้แจงว่า พื้นที่ดังกล่าวสิ้นอายุการขอใช้พื้นที่ป่าสงวนไปตั้งแต่เมื่อปี 2555 แต่เมื่อประทานบัตรยังไม่หมดอายุ บริษัทก็มีสิทธิขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนต่อกรมป่าไม้ และก็ได้ขออนุญาตไปแล้วแต่กรมป่าไม้ยังไม่มีการตอบกลับ อย่างไรก็ตามวันนี้ไม่มีตัวแทนของกรมป่าไม้มาชี้แจง

ส่วนกระบวนการตรวจสอบในการให้ใช้พื้นที่ จะมี 2 หน่วยงานเกี่ยวข้อง คือ สำนักงานป่าไม้จังหวัดเลย ในฐานะตัวแทนกรมป่าไม้ และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จ.เลย ตัวแทนในส่วนจังหวัด โดยพิจารณาจากเงื่อนไขต่างๆ ตามระเบียบ อย่างไรก็ตามในกรณีนี้ยังเงื่อนไขอื่น คือ 1.มีความขัดแย้งกับชุมชน 2.จากกรณีพื้นที่กักเก็บการแร่พัง หากให้ประกอบกิจการอาจมีปัญหาตามมา

รองผู้ว่าฯ เลย รับลูกต่อ กรณีเหมืองทองฟ้องเยาวชนให้ กพร.ประสาน

นายเสน่ห์ นนทโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวต่อที่ประชุมในกรณีบริษัททุ่งคำฟ้องหมิ่นประมาทเยาวชนอายุ 15 ปี ว่า จะรับเรื่องไปพิจารณาเพื่อให้คดีได้ข้อยุติโดยเร็ว เพราะเยาวชนก็เป็นลูกหลานของชาว จ.เลย เช่นกัน ส่วนการถอนฟ้องนั้นฝากผู้แทนกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ซึ่งคุ้นเคยกับบริษัทฯ ไปพูดคุย 

“สิ่งที่เกิดขึ้นคงไม่ใช่เรื่องดีและคงไม่ใช่เรื่องที่ภาคภูมิใจของ จ.เลย ฉะนั้นหลังจากนี้ทางจังหวัดจะมาช่วยหาทางออก” นายเสน่ห์ กล่าว

ด้านนางเตือนใจ ดีเทศน์ ประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชนฯ กล่าวว่า กรณีเหมืองทุ่งคำจะเป็นกรณีตัวอย่างของประเทศไทย ที่ตัวแทนจังหวัดเลยจะทำหน้าที่ปกป้องสิทธิชาวบ้านและสิทธิชุมชน และหวังว่าจะมีการไกล่เกลี่ยให้ปัญหานี้จบลงด้วยดี

“คิดว่า จ.เลยควรดูแลลูกหลายเรา ให้มีสำนึกรักบ้านเกิด และมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” นางเตือนใจ กล่าว

‘ทุ่งคำ’ ประกาศพร้อมถอนฟ้องเยาวชน ให้ กสม.เป็นตัวเชื่อม

ต่อมาในช่วงบ่าย คณะอนุกรรมการฯ กสม.ลงพื้นที่เพื่อรับฟังข้อมูลจากตัวแทนบริษัททุ่งคำ จำกัด ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ อ.วังสะพุง จ.เลย ก่อนร่วมกับสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมพื้นที่เหมือง

นายอัครเดช โจ ที่ปรึกษาส่วนตัวกรรมการบริหารบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด บริษัทแม่ของทุ่งคำ ชี้แจง อนุกรรมการฯ กสม. กรณีฟ้องเยาวชนนักข่าวพลเมือง ระบุไม่เจตนาฟ้องให้เกิดความเสียหาย แต่ต้องดำเนินตามกฏหมาย ที่ผ่านมาได้ประสานกับผู้อำนายการโรงเรียนศรีสงครามวิทยาให้มีการเจรจาแล้ว แต่กลับถูกชาวบ้านกลุ่มหนึ่งไปกดดันไม่ให้เข้ามายุ่งเกี่ยว ทั้งที่ทำไปด้วยเจตนาดี

นายอัครเดชกล่าวด้วยว่า บริษัทยินดีที่จะถอนฟ้อง หาก กสม.จะเป็นตัวกลางนำเด็กมาพูดคุยกับทางบริษัทฯ หรืออาจเชิญทางสถานพินิจฯ เข้ามาร่วมเป็นตัวกลางด้วย