‘ทุ่งคำ’ ยื่น กสม.สอบ ‘กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด’ ปลุกระดมคนเกลียดบริษัท-ขวางขนแร่ทำลายชาติ (17 ม.ค. 59)
Green News TV 17 มกราคม 2559
‘ทุ่งคำ’ ยื่น กสม.สอบ ‘กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด’ ปลุกระดมคนเกลียดบริษัท-ขวางขนแร่ทำลายชาติ
พนักงานทุ่งคำ ยื่นหนังสือร้องทุกข์ กสม.เรียกร้องให้ตรวจสอบพฤติกรรมกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดละเมิดสิทธิ เหตุปิดถนน ปลุกระดมให้คนเกลียดบริษัท ขวางขนแร่ไปขาย ส่งผลให้ชาติไม่ได้รับค่าภาคหลวง
บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เจ้าของสัมปทานเหมืองแร่ทองคำ อ.วังสะพุง จ.เลย ยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อนางเตือนใจ ดีเทศน์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อวันที่ 15 ม.ค.2559 ขอให้ตรวจสอบพฤติกรรมของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง ที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิพนักงานและบริษัททุ่งคำ
สำหรับหนังสือฉบับดังกล่าว ระบุว่า ตามที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ได้มีพฤติกรรมต่อต้านการทำเหมืองแร่ของบริษัทฯ โดยการกล่าวหาและยุยงให้ชาวบ้านเกิดการเข้าใจผิดเกี่ยวกับการประกอบกิจการของบริษัทฯ ทำให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหายหลายประการ และก่อให้เกิดความเสียหายต่อพนักงาน สร้างความแตกแยกแตกความสามัคคีของชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียง รวมทั้งยังส่งผลเสียต่อประเทศชาติทั้งด้านรายได้และความมั่นคง
ทั้งนี้ ผู้ร้องในฐานะพนักงานของบริษัทฯ ซึ่งเป็นประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจึงขอชี้แจงดังนี้ 1.กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเป็นกลุ่มบุคคลที่จัดตั้งขึ้นโดยการรวมตัวของผู้คัดค้านการประกอบกิจการเหมืองแร่ของบริษัทฯ ได้สร้างความแตกแยกต่อชุมชนรอบพื้นที่ มีการเรี่ยไรเงินเป็นหลังคาเรือนเพื่อเป็นทุนในการต่อต้าน หากชาวบ้านคนใดหรือหมู่บ้านใดไม่เข้าร่วมกิจกรรม ทางกลุ่มก็จะมีมาตรการตัดผลประโยชน์ที่ชาวบ้านจะได้รับจากทางราชการ รวมถึงจากกองทุนต่างๆ ที่เป็นส่วนรวม โดยขู่ว่าจะตัดสาธารณูปโภคที่เป็นของหมู่บ้านออกจากบ้านที่ไม่เข้าร่วมกลุ่มฯ มีการจัดตั้ง ออกกฎระเบียบเป็นของตัวเองเพื่อมาบังคับใช้ในชุมมชน รวมทั้งยุให้ชาวบ้านเกลียดชังคนที่เป็นพนักงานของบริษัทฯ
การกระทำดังกล่าวทำให้ชาวบ้านกลัวจะถูกตัดสิทธิ จึงมีบางส่วนเข้าร่วมกลุ่มฯ ซึ่งกลุ่มได้ใช้คนเหล่านี้เป็นกระบอกเสียงเพื่อต่อต้านเหมืองให้บรรลุจุดประสงค์ที่ต้องการให้บริษัทฯ หยุดทำเหมืองให้จงได้
2.การกระทำของกลุ่มฯ ที่ทำให้มีผลกระทบโดยตรงต่อเหมือง คือการรวมกลุ่มประท้วงปิดทางเข้า-ออกเหมือง ขัดขวางพนักงานไม่ให้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ บริษัทฯ จึงไม่สามารถเดินเครื่องจักรได้ เครื่องจักรจึงถูกปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานานได้รับความเสียหายอย่างมาก กลุ่มฯ ได้ก่อกำแพงอิฐบล็อกปิดทางเข้า-ออก และมีการสร้างสิ่งกีดขวางเป็นท่อซีเมนต์ก่อด้วยปูน เมื่อมีการต่อต้านจากเหมือง จึงมีการทำลายสิ่งกีดขวางออกไป แต่กลุ่มฯ ได้ชักชวนชาวบ้านมาสร้างโครงเหล็กปิดกั้นทางเข้า-ออกเป็นครั้งที่สาม ไม่ยอมให้บริษัทฯ ขนห้วแร่ทองแดงที่ผลิตไว้แล้วเพื่อการจำหน่ายทำให้บริษัทฯ สูญเสียโอกาสทางธุรกิจ เสียชื่อเสียงไม่เป็นที่น่าเชื่อถือต่อคู่ค้า
ทั้งยังทำให้บริษัทฯ สูญเสียรายได้ที่ควรจะได้รับจากมูลค่าของหัวแร่ที่ผลิตไว้ด้วย ครั้นเมื่อมีจัดทำบันทึกความเข้าใจร่วมกัน และบริษัทฯ สามารถขนหัวแร่ไปจำหน่ายได้ ก็เป็นช่วงเวลาที่ราคาโลหะในตลาดโลกตกต่ำกว่าช่วงที่ผลิตได้ ความเสียหายต่อบริษัทฯ ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อพนักงานของบริษัทฯ โดยตรง เพราะบริษัทฯ ไม่มีรายได้ จึงไม่สามารถจ่ายค่าจ้างให้พนักงานได้ ทำให้พนักงานกว่า 300 คน ขาดรายได้จุนเจือครอบครัว และส่งผลให้มีคนเดือดร้อนกว่า 1,000 คน
“การกีดขวางไม่ให้บริษัทฯ ขนส่งหัวแร่เพื่อการจำหน่ายได้ ทำให้ประเทศชาติเกิดความเสียหายในแง่รายได้ที่จะได้มาจากการส่งออกหัวแร่ รวมถึงค่าภาคหลวง ซึ่งค่าภาคหลวงนั้นมีส่วนหนึ่งที่ย้อนกลบมายังองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในตำบลเขาหลวง ส่วนด้านความมั่นคงนั้น กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้มีการชักนำชาวต่างชาติเข้ามาในพื้นที่เพื่อระดมทุน และนำเรื่องผลกระทบที่ทางกลุ่มฯ สร้างขึ้นมาไปเผยแพร่ออกสู่ต่างประเทศ เป็นการสร้างความเสื่อมเสียและขาดความน่าเชื่อถือต่อภาพลักษณ์ในการลงทุนของประเทศชาติ” หนังสือ ระบุ
3.กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดพยายามขัดขวางกิจการเหมืองแร่ ทั้งที่บริษัทฯ ดำเนินการทุกอย่างตามระเบียบข้อบังคับของหน่วยงานที่กำกับดูแลมาโดยตลอด มีการเผยแพร่ข้อมูลที่ปราศจากการพิสูจน์ให้ชุมชนเข้าใจผิดทั้งจัดทำเป็นเอกสารข้อมูลฝ่ายเดียว และเผยแพร่บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ใช้เฟซบุ๊ค หน้าเพจ “เหมืองแร่ เมืองเลย V.2” ที่ไม่สามารถติดต่อ หรือเข้าถึงตัวเจ้าของผู้ใช้นามแฝงได้ มีการเสนอข่าวให้ร้ายบริษัทฯ ทางสถานีโทรทัศน์สาธารณะ อีกทั้งชักนำให้ชาวบ้านและเยาวชนต่อต้านเกลียดชังเหมือง รวมถึงพนักงานบริษัทฯ ดังเช่น การเบี่ยงเบนประเด็นการปนเปื้อนของโลหะหนักในพื้นที่ว่าเป็นสาเหตุมาจากกิจกรรมการทำเหมืองแร่ ซึ่งแท้ที่จริงในพื้นที่ที่มีศักยภาพแหล่งแร่โลหะ ย่อมเป็นเรื่องปกติที่จะมีแร่โลหะหนักเป็นส่วนประกอบตามธรรมชาติอยู่แล้ว ส่วนการปนเปื้อนอาจเกิดจากการชะล้างหน้าดินของน้ำฝนตามฤดูกาล ประกอบกับพื้นที่ 50% ถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรม และมีการใช้สารเคมีโดยไม่มีการควบคุมที่ดี
4.กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดยังได้ดำเนินการร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ไม่ให้สนับสนุนการประกอบการเหมืองแร่ของบริษัทฯ โดยจัดทำหนังสือร้องเรียน กล่าวอ้างว่า ทางเหมืองประกอบกิจการโดยปราศจากใบอนุญาติและลักลอบทำเหมือง โดยเจตนาให้หน่วยงานต่างๆ หลงเชื่อ และขัดขวางไม่ให้ต่ออายุการให้ใช้พื้นที่ในเขตการรับผิดชอบของกรมป่าไม้ และ ส.ป.ก. ให้รับโครงการที่บริษัทฯ เตรียมขออนุญาตในการประกอบกิจการเหมืองแร่ในพื้นที่ใกล้เคียง อีกทั้งยังพยายามบุกรุกพื้นที่ที่บริษัทฯ ยื่นคำของประทานบัตรทำเหมืองแร่ไว้ เพื่อเตรียมจะก่อสร้างพระพุทธรูปในพื้นที่ดังกล่าวอีกด้วย
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมแจ้งไปทางศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเลย และผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเลยเอาไว้แล้ว เมื่อวันที่ 5 ม.ค.2559
“การกระทำของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จึงเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิต่อพนักงานและบริษัททุ่งคำ ทั้งยังก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงทั้งในแง่ผลประโยชน์ที่จะเป็นรายได้ต่อประชาชน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และประเทศชาติ รวมถึงก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม ผู้ร้องจึงใคร่ขอความอนุเคราะห์ให้ กสม.ช่วยตรวจสอบการดำเนินการของกลุ่มฯ และช่วยให้ความเป็นธรรมกับการประกอบการของบริษัทฯ ด้วย”ตอนท้ายของหนังสือ ระบุ