เปิดเวทีถก 7วาระร้อนเจรจา"TPP" NGOsท้วงติงข้อตกลงฯ ยา-สิ่งแวดล้อม-แรงงาน (17 ม.ค. 59)
ประชาชาติิธุรกิจออนไลน์ 17 มกราคม 2559
เปิดเวทีถก 7วาระร้อนเจรจา"TPP" NGOsท้วงติงข้อตกลงฯ ยา-สิ่งแวดล้อม-แรงงาน
พาณิชย์ เปิดเวทีรับฟังความเห็น NGOs ร้อง "แปลความตกลง" เปิดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจร่วม TPP หวั่น 7 เรื่องอ่อนไหวกระทบประชาชน ชี้ "ข้อตกลงยา" อาจกระทบระบบสุขภาพ การเข้าร่วม UPOV 1991 กระทบราคาเมล็ดพันธุ์ ส่วน TDRI ห่วงปัญหาแรงงานกระทบอุตสาหกรรมการผลิต มีเพียงกลุ่มรณรงค์ไม่สูบบุหรี่พอใจข้อตกลงห้ามบริษัทยาสูบฟ้องรัฐ
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า เมื่อ 13 มกราคม 2559 นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อประเด็นเกี่ยวกับความตกลงหุ้นส่วน ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership : TPP) จัดเป็นรอบนักวิชาการและภาคประชาสังคม โดยมีการหยิบยกประเด็นอ่อนไหวในการเจรจามาหารือกัน 7 ประเด็น คือ 1) การคุ้มครองข้อมูลการขึ้นทะเบียนตำรับยา (Data Exclusivity : DE) การขยายระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตร (Patent Term Extension : PTE) การคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ในอนุสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991) การคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indica-tion : GI) การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับนักลงทุน (Investor State Dispute Settlement : ISDS) แรงงาน และสิ่งแวดล้อม โดยจะนำข้อเสนอรายงานต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการศึกษาข้อดี-ข้อเสีย TPP ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ (พกค.) ซึ่งมีนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานนัดแรก ในวันที่ 28 มกราคม 2559
"เบื้องต้นที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯจะมีการกำหนดกรอบการ ทำงาน และแต่งตั้งคณะทำงานย่อยเพื่อศึกษาในรายละเอียดของการเจรจากลุ่มสินค้า บริการ และการลงทุน ภายใต้การเจรจา TPP จากนั้นจะจัดประชุมเพื่อรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชน และเตรียมจัดรับฟังความเห็นในทุกภูมิภาค"
สิ่งแวดล้อม-ยา ฝุ่นตลบ
นาย อภิวัฒน์ กวางแก้ว รองประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย กล่าวว่า ยังกังวลถึงผลกระทบ 4 ด้าน คือ ด้านสุขภาพ ระบบยาอาจต้องอยู่ในภาวะยากลำบากจากการขยายอนุสิทธิบัตรอย่างน้อย 5 ปี ซึ่งอาจต้องแก้ไขกฎหมาย และเรื่อง DE อาจจะกระทบต่อการผลิตยาในประเทศ ทำให้คนป่วยต้องเสียค่ารักษาพยาบาลสูง และประเทศมีภาระงบประมาณเรื่องยามาก 2) ประเด็นสิ่งแวดล้อมกว้างมาก อาจจะกระทบไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีทรัพยากรจำนวนมาก 3) ด้านสังคมต้องมีประเมินผลกระทบทางสังคม หากรับเข้าเป็นภาคี UPOV 1991 และ 4) การกำหนดนโยบายรัฐจะกระทบหรือไม่ เพราะอาจจะมีการเข้ามาแซงก์ชั่นไทยได้ หรือถึงแม้ว่าจะมีการยืดหยุ่นจะทำได้จริงหรือไม่ หรือมาตรการเรื่องการคุ้มครองการลงทุน ซึ่งอาจจะไปผูกพันกับเรื่องอื่น ๆ ดังนั้นไทยจำเป็นต้องดูภาพรวมทั้งหมดอย่างรอบด้าน จริงจัง ชัดเจน และหากสิ่งที่ไทยประเมินไว้ขัดกับสิ่งที่ประเทศใน TPP ตกลงกัน
จะทำอย่างไร จะยอมรับหรือไม่
นายทัฬ ปึงเจริญกุล ผู้อำนวยการบริหารสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน กล่าวว่า 1) ไทยควรแก้ไขระบบการจดสิทธิบัตรภายในด้วย โดยปัจจุบันมี พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกทางการค้า พ.ศ. 2558 จะช่วยลดปัญหา PTE ล่าช้าให้ได้ตามกรอบระยะเวลา 5 ปี ได้หรือไม่ 2) ควรแปลข้อตกลงเป็นภาษาไทยแล้วมาดูเทียบกับกฎหมายในประเทศทีละเรื่องให้ ชัดเจนโดยเร็ว และ 3) เรื่อง DE จะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะบริษัทยาชื่อสามัญจะไม่สามารถผลิตยาชื่อสามัญได้เลย
ตัวแทนจากเครือข่ายเกษตรกรทางเลือกกังวลว่า เกษตรกรไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการร่วม UPOV 1991 จะต้องแก้กฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ทำให้เกษตรกรไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ได้ ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ที่มีราคาแพง บริษัทข้ามชาติที่เป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์จำหน่ายได้ประโยชน์ รวมถึงทำให้เกิดการส่งเสริมการปลูกพืชตัดแต่งพันธุกรรม (GMOs) ซึ่งจะกระทบผู้บริโภคด้วย
ไทยติดบ่วงแรงงานทาส
นางสาว กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) ตั้งข้อสังเกตว่า 1) ข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า หากไม่ร่วม TPP จะกระทบต่อมูลค่าการค้าของ 12 ประเทศ คิดเป็น 39% แต่แท้จริงไทยมีความตกลงเอฟทีเอกับ 9 ประเทศ เหลือเพียงสมาชิก TPP 3 ประเทศที่ไม่ได้ทำเอฟทีเอ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 9% และการเปิดตลาดสินค้าเกษตรบางรายการอาจไม่ได้ประโยชน์ เช่น สิ่งทอ เพราะมีเงื่อนไขบังคับเรื่องการใช้วัตถุดิบลงลึกถึงเส้นใย และกระดุมอย่างเข้มงวด 2) ยังขาดกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน แต่มีหน่วยงานภาครัฐบางหน่วยงานที่กำลังดำเนินการแก้ไขกฎหมาย เพื่อเตรียมเข้า TPP แล้ว ทั้งนี้เห็นว่ารัฐบาลควรมีการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ สังคม อย่างรอบด้าน
ตัวแทนจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ตั้งข้อสังเกตว่า 1) ควรมีการแปลข้อบทต่าง ๆ เป็นภาษาไทย เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ 2) หากไทยไม่ร่วม TPP จะสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงทวิภาคีในการเชื่อมโยงการเป็นห่วงโซ่การผลิต ในภูมิภาคได้หรือไม่ 3) มาตรฐานเรื่องแรงงาน ค่อนข้างน่าห่วง ตามข้อบท 19.6 เพราะหากผลิตเสื้อผ้า และมีกระดุมแม้เพียง 1 เม็ด ที่ผลิตโดยประเทศที่ใช้แรงงานบังคับจะเข้า TPP ไม่ได้
TPP เว้น บ.ยาสูบฟ้องรัฐ
นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ประเด็นการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับนักลงทุน (ISDS) ที่เกี่ยวกับ "ยาสูบ" จัดอยู่ในข้อยกเว้นในบทที่ 29 หัวข้อที่ 29.5 ของ TPP กล่าวคือ ประเทศที่เข้าร่วมสามารถเลือกที่จะไม่ให้มีกลไกนี้ รัฐบาลสามารถกำหนดนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อสาธาณะได้โดยไม่ถูกฟ้อง หากไทยยืนยันตามหลักการนี้ไว้ในตอนเจรจา จะไม่ขัดต่อหลักการขององค์การการค้าโลก (WTO)
ทั้งนี้ ที่ TPP ยกเว้นเรื่องนี้เป็นผลจากมาเลเซีย และออสเตรเลีย ยืนกรานว่าจะไม่รับ รวมถึงสหรัฐก็ไม่รับด้วย