8 ปี ‘ทุ่งคำ’ ฟ้องชาวบ้าน 320 ล้าน 16 พ.ค. ชี้ชะตาคดีชายชุดดำทุบ ‘ฅนรักษ์บ้านเกิด’ (17 ม.ค. 59)

Green News TV 17 มกราคม 2559
8 ปี ‘ทุ่งคำ’ ฟ้องชาวบ้าน 320 ล้าน 16 พ.ค. ชี้ชะตาคดีชายชุดดำทุบ ‘ฅนรักษ์บ้านเกิด’

เปิดข้อมูลกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดถูกเหมืองแร่ทองคำฟ้องร้อง พบ 8 ปี มีถึง 19 คดี เรียกค่าเสียหายรวม 320 ล้านบาท ทนายความ ระบุ วันที่ 16 พ.ค.นี้ ศาลจะพิพากษาคดีชายชุดดำ 200 ราย ทุบชาวบ้านรอบเหมือง

นายสุทธิเกียรติ คชโส นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวในเวทีเสวนาเรื่อง เปิดคดีเหมือง แนวทางสู้ของชาวบ้าน ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ม.ค.2558 ที่ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ตอนหนึ่งว่า ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา บริษัททุ่งคำ จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของสัมปทานเหมืองทองคำ อ.วังสะพุง ได้ฟ้องร้องชาวบ้านซึ่งอยู่รอบเหมืองไปแล้ว 19 คดี เรียกค่าเสียหายรวม 320 ล้านบาท อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้บริษัทได้เจรจากับชาวบ้าน โดยยื่นข้อเสนอที่จะถอนฟ้อง 12 คดี แลกกับการขอนำแร่ออกจากเหมือง ทำให้ในปัจจุบันมีคดีแพ่งและอาญาอยู่ระหว่างการดำเนินการ 7 คดี ซึ่งเป็นคดีที่เกิดขึ้นใหม่หลังจากมีการถอนฟ้อง 12 คดีแรกไปแล้ว

น.ส.ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่า ในวันที่ 16 พ.ค.นี้ ศาลจะพิพากษาคดีที่ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ฟ้องร้องผู้ที่เกี่ยวข้องกับการนำกำลังชายฉกรรจ์ในชุดดำกว่า 200 ราย เข้ามาทำร้ายชาวบ้านกลางดึกของวันที่ 15 พ.ค.2557 โดยชาวบ้านยืนยันว่าพร้อมสู้ 3 ศาลอย่างแน่นอน

น.ส.ส.รัตนมณี กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านถูกบริษัททุ่งคำฟ้องทั้งหมด 19 คดี แต่จบลงไปแล้ว 12 คดี เพราะบริษัททุ่งคำได้ต่อรองขอนำแร่ออกจากพื้นที่แลกกับการถอนฟ้อง ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วพบว่าการฟ้องร้องดังกล่าวไม่ได้เกิดประโยชน์กับบริษัท เช่น ฟ้องเรียกค่าเสียหายชาวบ้านเป็นเงิน 50 ล้านบาท ซึ่งข้อเท็จจริงคือชาวบ้านไม่มีทางจะหาเงินมาจ่ายให้ได้

“ประเด็นก็คือเราไม่มีกรอบควบคุมการตั้งมูลค่าคดี คำถามคือหากฝ่ายโจทก์ชนะคดีจริง จะบังคับคดีกันอย่างไร”น.ส.ส.รัตนมณี กล่าว

นายวิเชียร อันประเสริฐ อาจารย์ประจำสาขาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า การดำเนินการกับชาวบ้านเข้าข่ายการใช้กลยุทธ์ฟ้องร้องสกัดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ (SLAPPS) ซึ่งขณะนี้ชาวบ้านถูกฟ้องร้องทั้งสิ้น 25ราย ยังเหลือคดีที่ต้องต่อสู้อีก 7 คดี ถูกเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท โดยถูกแจ้งข้อกล่าวหา อาทิ หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา หมิ่นประมาณตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ การบุกรุก การละเมิด

สำหรับผลกระทบที่ชาวบ้านได้รับภายหลังมีการฟ้องคดี เริ่มตั้งแต่ประเด็นด้านเศรษฐกิจ ซึ่งชาวบ้านไม่สามารถหากินได้ และต้องมีรายจ่ายค่าคดี ค่าทนาย ค่าเอกสาร ค่าประกันตัว ฯลฯ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความหวาดกลัวให้กับชาวบ้านและครอบครัวที่อยู่เบื้องหลัง

“ยังไม่นับเรื่องการถูกกักกั้นอิสรภาพในการดำเนินชีวิตเพราะมีคดีอยู่ ความเสียหายต่อชื่อเสียงและตำแหน่งหน้าที่ รวมถึงชาวบ้านกลุ่มที่เห็นต่างดูถูกเกลียดชัง”นายวิเชียร กล่าว

นายไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า ขณะนี้สิทธิของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบรวมถึงพันธมิตรที่เข้ามาช่วยเหลือกำลังถูกละเมิดด้วยการปิดกั้นโดยอาศัยกฎหมายและอำนาจอื่นเข้ามาจัดการ ส่งผลให้เรื่องปกติที่เคยทำได้ในอดีตกลับไม่สามารถทำได้ในปัจจุบัน

“เวลาชาวบ้านเดือดร้อนก็ใช้สิทธิไปร้องเรียน ซึ่งเมื่อก่อนสามารถทำได้แต่ปัจจุบันกลับถูกฟ้องคดี ตัวอย่างเช่น ชาวบ้านได้ร้องเรียนต่อสถานฑูตออสเตรเลียถึงผลกระทบจากกิจการเหมืองทองคำ แต่กลับถูกบริษัทฟ้องร้อง”นายไชยณรงค์ กล่าว

นายไชยณรงค์ กล่าวอีกว่า ชาวบ้านกำลังถูกซ้ำเติมความทุกข์จากการใช้กฎหมายเข้ามาจัดการ ซึ่งความทุกข์ทางกายกำลังถูกแปลให้เป็นความทุกข์เชิงสังคม คือความทุกข์ที่เกิดจากความไม่ยุติธรรมจากโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งกระบวนการยุติธรรมด้วย

“สิ่งที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นถึงโครงสร้างต่างๆ ที่ไม่ได้ให้ความยุติธรรมกับชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ และที่สิ่งเหล่านั้นสามารถเกิดขึ้นได้ ก็เพราะรัฐเอื้อให้กับทุนเพื่อให้ทุนสามารถสะสมทุนต่อไปได้ ดังนั้นผมคิดว่าเราจำเป็นต้องมีกฎหมายเพื่อป้องกันการ SLAPPS ในอนาคต”นายไชยณรงค์ กล่าว