'เตือนใจ' ลงพื้นที่ตรวจสอบปมร้อน เหมืองแร่เมืองเลย ชาวบ้านเกือบแห้ว ขอฟังด้วย (15 ม.ค. 59)

ประชาไท 15 มกราคม 2559
'เตือนใจ' ลงพื้นที่ตรวจสอบปมร้อน เหมืองแร่เมืองเลย ชาวบ้านเกือบแห้ว ขอฟังด้วย

เตือนใจ ดีเทศน์ อนุกรรมการสิทธิด้านชุมชนฯ พาสื่อลงพื้นที่ครั้งแรกหลังรับตำแหน่ง ประเดิมปมร้อนเหมืองแร่เมืองเลย  เป็นตัวกลางคุยราชการ บริษัท ด้านชาวบ้าน-นศ.ขอติดสอย เกือบไม่ได้เข้าพื้นที่เหมือง สุดท้ายบริษัทยอมแต่ต้องเซ็นชื่อทุกคน ตัวแทนบริษัทชี้ยินดีถอนฟ้อง ถ้ากสม.พาเด็กมาคุย แจงบริษัทถูกโจมตีใส่ร้าย

15 ม.ค.2559 เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชน และประธานอนุกรรมการดูแลด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมคณะสื่อมวลชนหลายสำนัก เดินทางลงพื้นที่ความขัดแย้งประเด็นเหมืองแร่ในจังหวัดเลย นับเป็นการลงพื้นที่ครั้งแรกหลังจากเข้ารับตำแหน่งกรรมการสิทธิ

การลงพื้นที่ครั้งนี้คณะของเตือนใจได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงตัวแทนบริษัทและชาวบ้านกลุ่มผู้คัดค้านเหมืองในพื้นที่ด้วย จากนั้นอนุกรรมการได้พาสื่อมวลชนลงพื้นที่สำรวจเหมืองของบริษัททุ่งคำจำกัด

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ ประเด็นเหมืองแร่เมืองเลยกลายเป็นประเด็นร้อนเมื่อทางบริษัทฟ้องเยาวชนในพื้นที่ที่ศึกษาอยู่ชั้น ม.4 รวมถึงสถานีโทรทัศน์ไทยพีเอส ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา หลังรายงานข่าวในช่วงนักข่าวพลเมือง ตอน "ค่ายเยาวชนฮักบ้านเจ้าของ ตอน นักสืบลำน้ำฮวยแท้ๆ แน๊ว" ซึ่งมีตอนหนึ่งกล่าวถึงผลกระทบจากการทำเหมือง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเข้าตรวจสอบครั้งนี้ มีชาวบ้านกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด และนักศึกษา รวมจำนวน 10 คน ขอติดตาม กสม. มารับฟังข้อเท็จจริงด้วย เวลาประมาณ 14.20 น. ที่บริเวณด้านหน้าประตูทางเข้าเหมืองแร่ทองคำ พนักงานรักษาความปลอดภัยได้กั้นไม่ให้ชาวบ้านเข้ามาในพื้นที่เหมือง จนทำให้กรรมการสิทธิต้องเจรจากับ อัครเดช โจ ที่ปรึกษาบริษัททุ่งคา ฮาเบอร์ จำกัด จนกระทั่งทางบริษัทอนุญาตให้ชาวบ้านและนักศึกษาเข้ามาในพื้นที่ได้ แต่ทุกคนต้องเซ็นต์ชื่อก่อนเข้า

อัครเดช โจ ที่ปรึกษา บ.ทุ่งคา ฮาเบอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด กล่าวว่า ทางบริษัทยินดีถอนฟ้องนักเรียนคนดังกล่าว หากกรรมการสิทธิเป็นคนกลางนำเด็กมาพูดคุยกับบริษัท

“อาจารย์ก็เห็นใจเด็กเยาวชน ไม่อยากให้เด็กเป็นเครื่องมือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เด็กควรตั้งใจศึกษาเล่าเรียนอย่างแท้จริง การใช้เด็กไปกระทำการใดๆ ควรคำนึงถึงสิทธิเด็กสักนิดหนึ่ง” อัครเดชกล่าว

“พูดตรงนี้ก็ได้ เรายินดีที่จะถอนฟ้องถ้าท่านเตือนใจ ดีเทศน์ ยินดีเป็นตัวกลางนำเด็กมาพูดคุยกับเรา เรายินดีเพราะเราไม่มีเจตนาที่จะฟ้องเด็ก และท่านดร.จิรศักดิ์ (ผอ.โรงเรียน) พูดชัดเจนว่าท่านมีเจตนาดีจะขอไกล่เกลี่ย แต่มีประชาชนหมู่ 3 ตัวแทนกลุ่มรักษ์บ้านเกิดไปกดดันท่านผู้อำนวยการโรงเรียนศรีสงครามวิทยา มันมีที่มาที่ไป ทางกลุ่มรักษ์บ้านเกิดขอเสนอฉายสารคดีให้เด็กดูในสถาบันการศึกษาแห่งนี้ ท่านผู้อำนวยการบอกว่านี่เป็นสถาบันการศึกษา ไม่อยากให้อยู่บนพื้นฐานความขัดแย้งอย่ากให้เป็นเรื่องการศึกษาจริงๆ แต่ชาวบ้านไม่ยอม ยกพวกไปด่าเขา ฝากท่านเตือนใจเรียก ดร.จิรศักดิ์ มาสอบถามได้”

ด้านเตือนใจ ดีเทศน์ กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า โดยหลักการเป็นสิทธิของเด็กที่จะไม่ถูกฟ้อง และขึ้นอยู่กับบริษัทว่าจะถอนฟ้องหรือไม่

อัครเดช กล่าวเพิ่มเติมถึงประเด็นข้อกล่าวหามลภาวะที่เกิดขึ้นว่า การกล่าวหาบริษัทเป็นผู้สร้างมลภาวะถือเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนเพราะสภาพที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดาของแหล่งแร่ธรรมชาติ

“มีแหล่งแร่แบบนี้ แหล่งแร่ธรรมชาติ สารพวกนี้ก็ย่อมมีอยู่แลว ท่านบอกว่าน้ำกินไม่ได้ ข้าวกินไม่ได้ ท่านกรรมการสิทธิไปเห็น พื้นที่นารอบๆ ปลูกถั่วปลูกข้าวสวยมาก ประชาชนที่นี่ยังกินข้าวในนาที่ตัวเองปลุก กระแสข่าวที่ออกไป มีข้อความโจมตีตรงน้ออกไป ท่านอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง เราอย่าไปตีหน้าเศร้าเล่าความเท็จ ไม่เกิดผลประโยชน์” อัครเดชกล่าว

ด้าน สรพงษ์ ลิมปัชโยพาส ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ทุ่งคำ ระบุว่า ทางฝ่ายกฎหมายเกริ่นมาคร่าวๆ ว่าอยากให้น้องนักเรียนขอโทษทางบริษัทว่ากระทำโดยความบริสุทธิ์ใจของตัวเขาเอง เรื่องนี้เป็นเรื่องของฝ่ายกฎหมายที่ส่วนกลาง

สรพงษ์ กล่าวต่อถึงประเด็นข้อถกเถียงเรื่องมลภาวะว่า เรามั่นใจมากว่าผลกระทบต่างๆ ไม่ได้เกิดจากเหมืองและยินดีให้ตรวจสอบ

“ก่อนที่เราจะปล่อยกากแร่ไปที่บ่อเก็บกักกากแร่มันมีการวิเคราะห์อยู่แล้ว ล้านส่วนเราปล่อยแค่สองส่วน ทั้งที่เราขออนุญาตไปยี่สิบส่วนในล้านส่วน แต่เราบังคับให้กระบวนการผลิตควบคุมไว้ไม่เกินสองส่วน” สรพงษ์กล่าว