ชาวบ้าน อ.ขลุง ร้องสื่อ ขอโรงงานอย่ามาแอบตั้ง หวั่นกระทบวิถีชีวิต (15 ม.ค. 59)
ไทยรัฐออนไลน์ 15 มกราคม 2559
ชาวบ้าน อ.ขลุง ร้องสื่อ ขอโรงงานอย่ามาแอบตั้ง หวั่นกระทบวิถีชีวิต
ตัวแทนกว่า 10 หมู่บ้าน อ.ขลุง จ.จันทบุรี ร้องสื่อ ถึงผลกระทบ การตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ ซึ่งจังหวัด ซึ่งจัดให้เป็นพื้นที่สีชมพูของชาวสวน พร้อมขึ้นป้าย ต้านโรงงานอุตสาหกรรมทุกประเภท ก่อสร้างในพื้นที่ หวั่นกระทบวิถีชีวิต
เวลา 13.00 น.วันที่ 15 ม.ค.59 นายศิลป์ชัย ตุลารักษ์ รองประธานกลุ่มเกษตรทำสวน ต.เกวียนหัก พร้อมด้วย นายชรินทร์ สิงขุดร กำนัน ต.เกวียนหัก อ.ขลุง จ.จันทบุรี พร้อมผู้นำชุมชน และตัวแทนชาวสวนจาก 10 หมู่บ้าน ใน ต.เกวียนหัก เข้าร้องเรียนกับผู้สื่อข่าวไทยรัฐ ประจำจังหวัดจันทบุรี ถึงกรณีความเดือดร้อน จากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ ซึ่งทางจังหวัดได้พิจาณาให้เป็นพื้นที่สีชมพู หวั่นจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตภาคเกษตร และอาชีพที่มีมายาวนาน
นายศิลป์ชัย ตุลารักษ์ รองประธานกลุ่มเกษตรทำสวน ต.เกวียนหัก เปิดเผยว่า หลังจากมีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางเกษตร ในพื้นที่ ต.เกวียนหัก โดยขออนุญาตก่อสร้างเป็นล้งรับซื้อผลไม้ เพื่อการส่งออก แต่ต่อมาได้มีการดัดแปลงเป็นโรงงานห้องเย็นแช่แข็ง(จำพวกที่ 2) ซึ่งทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ปิดประกาศว่า โรงงานดังกล่าว ซึ่งตั้งอยู่พื้นที่ ม.4 ต.เกวียนหัก ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตจัดตั้งโรงงานประเภทที่ 2 และให้ผู้ที่เกี่ยวข้องแสดงความเห็น ภายในวันที่ 21 ส.ค.58 หากพ้นกำหนดจะพิจาณาคำร้องต่อไป
รูปหลักฐานมีการตั้งโรงงาน ที่ชาวบ้านสังสัยว่ายังไม่ได้ขออนุญาต
"ทางชาวบ้าน พร้อมด้วยชมรมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ต.เกวียนหัก ได้ยื่นหนังสือคัดค้านขอให้มีการทำประชาคม รับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน ต่อมาได้กำหนดให้มีการทำประชาคมในวันที่ 3 ก.ย.58 ผลการทำประชาคม ชาวบ้านไม่เห็นชอบให้มีโรงงานอุตสาหกรรมทุกประเภท เนื่องจาก ต.เกวียนหัก เป็นพื้นที่เกษตรกรรม และผิดระเบียบผังเมือง แต่ทางโรงงานได้ทำหนังสือคัดค้านการประชาคมว่า การทำประชาคมเห็นชอบและขัดต่อกฎหมาย"นายศิลป์ชัย กล่าว
นายศิลป์ชัย กล่าวต่อว่า ต่อมา วันที่ 18 ธ.ค.58 ได้มีการประกาศจากสำนักงานอุตสาหกรรม จ.จันทบุรี เรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการพิจารณาเกี่ยวกับโรงงานจำพวกที่ 3 ว่าจะพิจารณาคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการ จากโรงงานดังกล่าว ชาวบ้านจึงได้ยื่นหนังสือคัดค้านต่ออุตสาหกรรมจังหวัด ในวันที่ 28 ธ.ค.58 หากพ้นกำหนดภายในวันที่ 4 ม.ค.59 อุตสาหกรรมจะออกใบอนุญาตให้โรงงานประกอบกิจการ โดยไม่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน
" ชาวบ้าน ต.เกวียนหัก อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มาทำการตรวจสอบว่าโรงงาน ดังกล่าว ได้กระทำการจัดตั้งถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากทางโรงงาน ได้ดำเนินการผลิตก่อนหน้านี้แล้ว ประมาณ 6 เดือน โดยไม่มีการได้รับอนุญาต และชาวบ้านอยากขอความกระจ่างจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนล่าสุด เมื่อวันที่ 4 ม.ค.59 ผู้นำชุมชน ตลอดจนตัวแทนชาวบ้าน ได้เข้ายื่นหนังสือ พร้อมแนบรายชื่อชาวบ้านที่คัดค้านการตั้งโรงงาน ถึงศูนย์ดำรงธรรม ประจำ จ.จันทบุรี ที่ศาลากลางจังหวัด ให้ช่วยเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณี ดังกล่าว โดยศูนย์ดำรงธรรม ได้รับเรื่องพร้อมกับขอระยะเวลาในการตรวจสอบ 30 วัน"นายศิลป์ชัย กล่าว
ขึ้นป้าย ยืนยัน ชาวตำบลเกวียนหักไม่เอาโรงงาน
ด้าน นายชรินทร์ สิงขุดร กำนัน ต.เกวียนหัก กล่าวว่า เมื่อประมาณ 4-5 ปี ที่ผ่านมา มีการตั้งโรงงานผลิตตะกร้าพลาสติก ในพื้นที่ ซึ่งชาวบ้านต่างก็ไม่เห็นด้วย เนื่องจากมาในลักษณะแอบอ้าง ว่าเป็นเพียงล้งรับซื้อผลไม้ จนกระทั่งทางโรงงานดังกล่าวต้องหยุดดำเนินการไป แต่มาไม่นานกับมีโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปผลไม้ เกิดขึ้นมาอีก ในลักษณะแอบอ้างว่า เป็นล้งผลไม้เช่นเดียวกัน แต่มีการลักลอบต่อเติมขยาย
"หากมีการอนุญาตให้ประกอบการขึ้นจริง ก็จะมีโรงงานฯอีกหลายแห่งเกิดขึ้นตามมาด้วย ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวน จึงได้รวมตัวคัดค้านด้วยเหตุผล ชาวเกวียนหักไม่ต้องการให้มีโรงงานใดๆเกิดขึ้นในพื้นที่ เนื่องจากกลัวปัญหามลภาวะจากกลิ่น ขยะ ของเน่าเสีย อากาศ จากเปลือกผลไม้ การไม่มีบ่อบำบัดน้ำเสีย เกิดปัญหาการลักขโมยของคนงาน ปัญหาโรคพืชติดต่อ และหนอนใต้ หรือหนอนเจาะทุเรียน ผิดระเบียบกฎหมายผังเมือง มีการประกอบกิจการก่อนขออนุญาต ปรับปรุงต่อเติมโดยไม่ขออนุญาต ตลอดจนไม่มีการรับซื้อผลไม้ในพื้นที่ แต่กลับมีการนำเอาผลผลิตทุเรียนจากภาคใต้ขึ้นมาแปรรูปแทน " นายชรินทร์ กล่าว
นายชรินทร์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น การพิจารณาคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการ โรงงานจำพวกที่ 3 ชาวบ้านต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดประชาคมรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ก่อน