บริษัทน้ำมันระดมค้านกระทรวงพลังงานรื้อโครงสร้างค่าการกลั่น (15 ม.ค. 59)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 15 มกราคม 2559
บริษัทน้ำมันระดมค้านกระทรวงพลังงานรื้อโครงสร้างค่าการกลั่น

โรงกลั่นตั้งคำถาม ก.พลังงานจะรื้อโครงสร้างราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นไปทำไม เพราะปัจจุบันทั้ง ESSO-IRPC ก็ไม่ได้ใช้สูตรราคานี้ แต่ยอมรับว่าตอนนี้ "ค่าการกลั่น" อยู่ในช่วงราคาที่ดีมาก แนะแทนที่คิดจะเข้ามาคุมราคาหน้าโรงกลั่น ควรปล่อยให้เกิดการแข่งขันเสรี ราคาสุดท้ายก็จะสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง หรือควรโฟกัสไปที่ราคาขายปลีกหน้าปั๊มจะดีกว่าว่าผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมหรือไม่

หลังจากจัดระเบียบโครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกแล้ว ล่าสุด กระทรวงพลังงาน เตรียมรื้อสูตรราคาน้ำมัน ณ หน้าโรงกลั่น หลังจากที่ "ค่าการกลั่น (Gross Refining Margin)" ของโรงกลั่นน้ำมันสูงขึ้นกว่า 6 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ล่าสุด พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้หารือในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และมอบให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ไปศึกษาสูตรราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นว่ามีความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนี้หรือไม่ 

นายมงคลนิมิตร เอื้อเชิดกุล กรรมการและผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมองค์กรและรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เอสโซ่ต้องการให้ภาครัฐปล่อยให้อุตสาหกรรมการกลั่นเป็นตลาดเสรี ที่ผ่านมาโรงกลั่นน้ำมันเอสโซ่ไม่ได้ใช้สูตรดังกล่าวในการกำหนดราคาน้ำมัน เพราะแต่ละโรงกลั่นมีกระบวนการกลั่นน้ำมันที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการบริหารต้นทุนต่ำสุด 

แต่ยอมรับว่า ในช่วงนี้ค่าการกลั่นของโรงกลั่นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ที่โรงกลั่นต้องเผชิญกับปัญหาค่าการกลั่นที่ต่ำมากมาโดยตลอด รวมถึงการขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน (Stock Loss) ดังนั้นจึงไม่เห็นว่าภาครัฐจะเข้ามาช่วยบริหารจัดการ มีเพียงโรงกลั่นน้ำมันเท่านั้นที่ต้องปรับตัว

"ต้นทุนค่าการกลั่นเป็นเรื่องภายในของโรงกลั่นน้ำมันที่จะกำหนดเองแต่ไม่ใช่ว่าจะกำหนดให้สูงเพราะถ้าหากสูงกว่าราคาตลาดโลก ใครที่ไหนจะมาซื้อน้ำมันจากโรงกลั่นเรา เขาก็เปลี่ยนเป็นนำเข้ามาแทน ฉะนั้นจะเห็นว่าราคาขายปลีกของผู้ค้าทุกรายจึงราคาเดียวกัน ทุกบริษัทผู้ค้าน้ำมันก็ต้องรักษาตลาดของตัวเองเอาไว้หากรัฐเข้ามารื้อต้นทุนราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นก็เท่ากับว่ารัฐเข้ามาควบคุมธุรกิจน้ำมัน100%"

นายมงคลนิมิตรกล่าวเพิ่มเติมว่าในทางปฏิบัติภาครัฐควรใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาบริหารจัดการแทนการใช้วิธีปรับโครงสร้างราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นเพื่อสร้างบรรยากาศการค้าเสรี

นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การศึกษาราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันของ ก.พลังงาน น่าจะเป็นการศึกษาว่าโครงสร้างปัจจุบันเหมาะสมหรือไม่เท่านั้น "อาจจะไม่มีการปรับสูตรราคาหน้าโรงกลั่นทันที" 

โดยสูตรราคาหน้าโรงกลั่นที่ในปัจจุบันนั้น ที่ผ่านมามีการตั้งข้อสังเกตว่า "ทำไมจึงต้องอิงราคาน้ำมันสิงคโปร์" ทั้ง ๆ ที่ไม่มีการขนส่งจริง แต่เป็นการใช้ราคาสิงคโปร์เพื่ออ้างอิงเท่านั้น เพราะปัจจุบันการสั่งซื้อน้ำมันจากตะวันออกกลางอาจจะมีค่าขนส่งที่แพงกว่า 

"สูตรราคาหน้าโรงกลั่นที่ใช้ผมมองว่าเหมาะสมอยู่แล้ว ค่าใช้จ่ายที่มีการกล่าวถึงว่าเป็นค่าใช้จ่ายแฝงนั้น จริง ๆ ต้องบอกว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง เช่น ค่าประกันภัย ค่าขนส่ง"

ขณะที่นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โรงกลั่นไออาร์พีซีก็ไม่ได้ใช้สูตรราคาหน้าโรงกลั่นดังกล่าว ในทางกลับกันถ้าใช้สูตรดังกล่าว โรงกลั่นน้ำมันอาจจะกำไรมากกว่านี้ด้วยซ้ำ ทั้งนี้มองว่า ภาครัฐควรปล่อยให้ตลาดน้ำมันแข่งขันกันอย่างเสรี รวมถึงอาจจะยกเลิกสูตรราคาดังกล่าวด้วย หากภาครัฐต้องการควบคุมเพื่อไม่ให้กระทบผู้บริโภคควรโฟกัสที่ราคาน้ำมันขายปลีกสุดท้ายมากกว่า