ก.อุตฯเปิดแผนโรดโชว์6คลัสเตอร์ จีบยักษ์ข้ามชาติเจาะลึกนักลงทุนเป็นรายผลิตภัณฑ์ (14 ม.ค. 59)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 14 มกราคม 2559
ก.อุตฯเปิดแผนโรดโชว์6คลัสเตอร์ จีบยักษ์ข้ามชาติเจาะลึกนักลงทุนเป็นรายผลิตภัณฑ์
"อรรชกา" เปิดแผนโรดโชว์ 6 คลัสเตอร์ เจาะกลุ่มเป้าหมายลงลึกตามประเภทผลิตภัณฑ์ วาดฝันจีบบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ "สหรัฐ-ยุโรป-ญี่ปุ่น-จีน-เกาหลี-ไต้หวัน" ทั้งซัมซุง เกาหลี, SanDisk สหรัฐ, Toshiba ญี่ปุ่น, Seagate
นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในฐานะประธานคณะกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ว่า หลังการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการคลัสเตอร์ทั้ง 6 คลัสเตอร์ ขณะนี้แต่ละชุดได้มีการกำหนดผลิตภัณฑ์เป้าหมายเสร็จ และเตรียมนำเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษรูปแบบคลัสเตอร์ (กบพ.) ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในเร็ว ๆ นี้เพื่อรับทราบและกำหนดแผนโรดโชว์ที่สอดรับกับทีมเศรษฐกิจในการโรดโชว์ประเทศเป้าหมาย
คลัสเตอร์เกษตรแปรรูปซึ่งมีนายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานอนุคลัสเตอร์ ได้กำหนดผลิตภัณฑ์เป้าหมายที่มีศักยภาพ 11 ประเภทกิจการ ได้แก่ กิจการปรับปรุงพันธุ์พืชหรือสัตว์ กิจการผลิตสารสกัดจากวัตถุดิบธรรมชาติ กิจการอาหารทางการแพทย์ กิจการผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ กิจการเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น โดยมีเป้าหมายดึงนักลงทุนรายใหญ่ 77 บริษัท ซึ่งมีทั้งกิจการที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอที่ลงทุนในไทยแล้ว รวมถึงรายที่สำนักงานต่างประเทศของบีโอไอเสนอ
ทั้งนี้ บางรายได้รับการติดต่อกันแล้ว อาทิ บริษัท KWS MAIS GMBH ประเทศเยอรมนี, Groupe Grimaud-Hubbardbreeders ประเทศฝรั่งเศส, Harim ประเทศเกาหลีใต้, Monterey Murray Greys ประเทศออสเตรเลีย สำหรับรายใหม่ที่ต้องการชักจูงมาลงทุน อาทิ Suntory Holdings ประเทศญี่ปุ่น, DLF Trifiolium AS ประเทศเดนมาร์ก, BioCatalysts ประเทศอังกฤษ เป็นต้น ซึ่งมีมาตรการสนับสนุนการพัฒนาคลัสเตอร์ดังกล่าว โดยให้สิทธิประโยชน์ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้แก่ สนับสนุนนักศึกษาให้ทำงานควบคู่กับการปฏิบัติในโรงงาน Tax 300% และคูปองนวัตกรรม รวมถึง Start up Voucher ซึ่งร่วมกับทั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สถาบันอาหาร กำหนดให้เสร็จ 12 เดือน
คลัสเตอร์เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ คมนาคม มีนายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นประธานอนุคลัสเตอร์ ได้กำหนดผลิตภัณฑ์เป้าหมาย อาทิ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ SSD โดยมีเป้าหมายดึงนักลงทุนรายใหญ่ อาทิ จากบริษัท Samsung เกาหลี, SanDisk สหรัฐอเมริกา, Toshiba ญี่ปุ่น, Seagate ไต้หวัน, Electronic Controlling Devices จากบริษัท Yokokawa ญี่ปุ่น, Schneider Electric สวิตเซอร์แลนด์ อุปกรณ์โทรคมนาคม Gateway Routers จากบริษัท Cisco สหรัฐ, Huawei จีน เป็นต้น ทั้งนี้ มาตรการสนับสนุนจะให้สิทธิประโยชน์ เช่น การจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการออกแบบ แก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค อาจจะมีการยกเว้นอากรขาเข้าเพื่อการวิจัยและพัฒนา
คลัสเตอร์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีนางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นประธานอนุคลัสเตอร์ ได้กำหนดผลิตภัณฑ์เป้าหมาย อาทิ เส้นใยวัสดุการเกษตร (เส้นใยยาว/PLA/Regenerated Fiber) โดยมีเป้าหมายดึงนักลงทุนรายใหญ่ อาทิ บริษัทไทยนำโชค, กลุ่ม ICC, กลุ่มมิตรผล, ดูปองท์ สหรัฐ ส่วนเส้นใยประดิษฐ์ เป้าหมายคือ Toray/Teijin ญี่ปุ่น ส่วนด้าย/ผ้า ประเภท Sporttech/Meditech/Mobiltech เป้าหมายนักลงทุนรายใหญ่ บริษัทสหยูเนี่ยน, ไทยอาซาฮี, DASCO, SCG เป็นต้น สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการวิจัยพัฒนาหรือออกแบบ/เสื้อผ้าแฟชั่น/สถาบันแฟชั่นระดับโลกร่วมลงทุนกับนักลงทุนไทยเป้าหมายนักลงทุนบริษัทสิ่งทอซาติน, สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย,ผู้ผลิต OEM ไทย, H&M สวีเดน,NIKE สหรัฐ, Istituto Marangoni อิตาลี, Bunka Fashion College ญี่ปุ่น ส่วนสาขา IHQ/ITC ในไทยโดย Buyers รายใหญ่ระดับโลก บริษัท NIKE, adidas, VF Corp.
มาตรการสนับสนุนจะให้สิทธิประโยชน์การตั้ง และขยายโรงงานจากกรมโยธาธิการและผังเมือง กรมโรงงานฯ บีโอไอ สนับสนุนเงินทุน หรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพิ่มสภาพคล่องโดยใช้วิธีคำนวณภาษีขายเมื่อส่งมอบถึงผู้บริโภคคนสุดท้าย
คลัสเตอร์ปิโตรเคมี/เคมีภัณฑ์ มีนางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการบีโอไอ เป็นประธานอนุคลัสเตอร์ ผลิตภัณฑ์เป้าหมาย 15 กิจการ อาทิ Polyvinylidene Chloride (PVDC) นักลงทุนเป้าหมาย 32 บริษัท อาทิ ดาวเคมิคอล สหรัฐ, Asahi Kasei ญี่ปุ่น, Solvay/VNT เบลเยียม/ไทย คาดเงินลงทุนปี 2559 อยู่ที่ 3,000 ล้านบาท ส่วนผลิตภัณฑ์กลุ่ม Super Absorbent Polymer บริษัท PTTGC ไทย, Pol-yamide นักลงทุนเป้าหมาย Sabic ซาอุดีอาระเบีย, Braskem บราซิล ซึ่งคาดว่าจากเป้าหมายทั้งหมดจะเห็นการลงทุนตั้งแต่ปี 2559 บางรายจะเห็นการลงทุนปี 2561 อาทิ PTTGC กลุ่มผลิตภัณฑ์ Acrylic Acid & Super เงินลงทุน 14,231 ล้านบาท และกลุ่มผลิตภัณฑ์ Absorbent Polymer อีกกว่า 20,000 ล้านบาทในปี 2563
มาตรการสนับสนุนจะให้สิทธิประโยชน์กลุ่มปิโตรเคมี จากบีโอไอในกลุ่ม A1 ยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี ลดหย่อนภาษี 5 ปี พิจารณาให้สิทธิประโยชน์ R&D โดยรวมการลงทุนเพื่อปรับปรุงกระบวนการเดิมเป็น 200-300% ปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ เช่น เร่งการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 แก้กฎระเบียบด้านผังเมืองจังหวัดระยองที่กำหนดให้ตั้งโรงงานบนพื้นที่ 35,000 ไร่ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 2% เป็นเวลา 8 ปี ครอบคลุมพลาสติกชีวภาพ/เคมีชีวภาพ การคอมพาวนด์ เป็นต้น
คลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วน มีนายสมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ประธานอนุคลัสเตอร์ ผลิตภัณฑ์เป้าหมาย เช่น กิจการผลิตเครื่องยนต์สำหรับรถ Hybrid, EV, PHEV โดยมีเป้าหมายดึงนักลงทุน อาทิ Shanghai Automotive Industry, Daimler AG, DENSO, Panasonic, AESC BYD จากญี่ปุ่น จีน ยุโรป แคนาดา เป็นต้น ส่วนมาตรการสนับสนุนโดยการจัดตั้งศูนย์ทดสอบ ขยายสถาบันพัฒนาบุคลากร ยกเว้นภาษีขาเข้ารถยนต์ต้นแบบ
คลัสเตอร์ดิจิทัล มีนายอุตตม สาวนายนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เป็นประธานอนุคลัสเตอร์ กำหนดมาตรการสนับสนุนพัฒนา High Speed Internet และปฏิรูป Digital Government