New S-Curve เขต ศก.ตะวันออก "ซูเปอร์ปิโตรเคมี-Bioeconomy" 7.8 แสนล้าน (7 ก.ค. 59)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 7 กรกฎาคม 2559
New S-Curve เขต ศก.ตะวันออก "ซูเปอร์ปิโตรเคมี-Bioeconomy" 7.8 แสนล้าน

คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับหลักการ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development) ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา เพื่อพัฒนาให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน จากปัจจุบันพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกก็เป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมหลักของประเทศอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมปิโตรเคมี พลังงาน และยานยนต์ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์มวลรวมคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของประเทศ

จากความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐานทางถนน รถไฟ ท่าเรือ และนิคมอุตสาหกรรม สามารถเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้านทั้งเมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development) จึงกำหนดให้มีการส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) ไม่ว่าจะเป็น ไบโอเทคและอาหาร-ยานยนต์อนาคต-อุปกรณ์อากาศยาน-ปิโตรเคมี และ Bioeconomy

โดยอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเหล่านี้ ทางคณะทำงานพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือ New S-Curve ชุดของ นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จับคู่กับนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล ได้ดำเนินการศึกษาเบื้องต้นในโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกเหมาะสม ที่จะเป็นพื้นที่หลักในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล สอดคล้องกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ด้วยการจัดลำดับความสำคัญของโครงการออกเป็น 5 กลุ่ม คือ

1) อุตสาหกรรมที่สามารถต่อยอดในพื้นที่เดิม ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี, อุตสาหกรรมยานยนต์, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, อุตสาหกรรมการบิน และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 2) Bioeconomy เน้นการพัฒนาจากเศรษฐกิจฐานเกษตรกรรมจากความได้เปรียบในเรื่องของวัตถุดิบและความหลากหลายทางชีวภาพ

3)DigitalEconomy เน้นการขับเคลื่อน e-Commerce การเชื่อมโยงกับโครงการ National e-Payment ของรัฐ การจัดตั้งกลไก Escrow Account ฐานข้อมูล 4) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ จะนำไทยเข้าสู่อุตสาหกรรม Industry 4.0 อาทิ หุ่นยนต์สำหรับผลิตยานยนต์, หุ่นยนต์เชื่อมโลหะ, หุ่นยนต์เฉพาะด้าน และ 5) อุตสาหกรรมระบบโลจิสติกส์ เน้นระบบขนส่งในภาพรวมเพื่อสร้างความเชื่อมโยงสู่การเป็นศูนย์รวมกิจการโลจิสติกส์ที่ทันสมัย

ซูเปอร์คลัสเตอร์ปิโตรเคมี

จากการเป็น1ในอุตสาหกรรมหลักในพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งเป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากปัจจุบันมีมูลค่าคิดเป็น 6% ของ GDP ประเทศไทย ต่อไปซูเปอร์คลัสเตอร์ปิโตรเคมี หรือ High Value Petrochemical จะต้องถูกพัฒนาไปสู่ปิโตรเคมีที่มีมูลค่าสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างความพร้อมของวัตถุดิบเพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วยการเน้นการลงทุนในเขตพื้นที่มาบตาพุดจังหวัดระยองกับศรีราชา จังหวัดชลบุรี คาดการณ์กรอบเงินลงทุนในโครงการที่จะเกิดขึ้นประมาณ 380,000 ล้านบาท

โดยโครงการลงทุนในซูเปอร์คลัสเตอร์ปิโตรเคมี จะต้องมีลักษณะของ Fine Chemicals/Materials หรือเคมีภัณฑ์/วัสดุที่มีความบริสุทธิ์สูง (Purity) มีโครงสร้างเคมีเฉพาะเจาะจงจากกระบวนการสังเคราะห์สกัดและคัดแยก, Spe-cialty Chemicals/Materials หรือเคมีภัณฑ์/วัสดุที่มีคุณสมบัติทางกายภาพ/เคมีที่พิเศษและมีประสิทธิภาพในการใช้งานสูงกว่า หรือเคมีภัณฑ์/วัสดุที่ได้จากการผสม/ควบรวมจนมีคุณสมบัติทางกายภาพ/เคมีที่พิเศษและสูงกว่าทั่วไป และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

Bio-industry หรือการลงทุนเพื่อสร้างอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าชีวภาพจากวัตถุดิบการเกษตรด้วยการใช้เทคโนโลยีชีวภาพ มีการใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาเคมีและตัวเร่งปฏิกิริยาชีวภาพ อาทิ เอนไซม์/จุลินทรีย์ รวมไปถึงความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัย/สถาบันทางการศึกษาในด้านเทคโนโลยีขั้นสูง นวัตกรรม เทคโนโลยีที่มีความยั่งยืนในด้านการพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาทางเคมี/ชีวภาพ และโครงการด้านอื่น ๆ

โครงการ Bioeconomy

จากความพร้อมของประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity), ศักยภาพและความพร้อมทางวัตถุดิบชีวภาพ (Bio-based Feedstock), การมีอุตสาหกรรมพื้นฐานทางเกษตรกรรม, ขีดความสามารถในการพัฒนาพลังงานชีวภาพ (Bioenergy) และความพร้อมในการปรับปรุงพันธุ์ จะช่วยให้ประเทศไทยพัฒนาเข้าสู่การเพิ่มมูลค่าฐานเกษตรกรรมจากพืช 2 ชนิด คือ อ้อย กับมันสำปะหลัง เฉพาะอ้อยมีการส่งออกในรูปของน้ำตาลเป็นอันดับ 2 ของโลก (พื้นที่ปลูกอ้อย 16.7 ล้านไร่) ส่วนมันสำปะหลัง ไทยส่งออกเป็นอันดับ 1 (พื้นที่ปลูก 8.5 ล้านไร่) กรอบเงินลงทุน 400,000 ล้านบาท ใน 10 ปี โครงการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในกลุ่ม Bioeconomy จะประกอบไปด้วย

1) กลุ่ม Bio-based Energy ประกอบไปด้วย โครงการ Ethanolซึ่งมีโครงการย่อยคือ Methanol-to-Ethanol for Biodiesel กับ Diesohol จัดเป็น Quick Win สนับสนุนการใช้เอทานอลในประเทศและเพิ่มโอกาสส่งออก สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอ้อยและมันสำปะหลัง และของเหลือใช้จากการแปรรูปวัตถุดิบขั้นต้น ได้แก่ โมลาส ชานอ้อย กากมัน และน้ำเสีย คาดว่าจะใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้นจาก 900 ล้านลิตร/ปี เป็น 2,000 ล้านลิตร/ปี มันสำปะหลังใช้ผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้นจาก 320 ล้านลิตร/ปี เป็น 506 ล้านลิตร/ปี งบฯ 26,364 ล้านบาท

โครงการ Biomass/Biogas to Power โครงการย่อย ได้แก่ VSPP/SPP Firm Contract/AEDP กับ Localization หรือโรงไฟฟ้าประชารัฐ สร้างมูลค่าเพิ่มของเหลือใช้ (Waste) โดยใช้ชานอ้อยผลิตไฟฟ้าจาก 500 MW/ปี เป็น 1,800 MW/ปี กากมันผลิตไฟฟ้า 336-500 MW/ปี ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ.-กฟภ.

โครงการผลิต CBG สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ (CBG for Fleet) ด้วยการใช้กากมัน-น้ำเสียจากโรงงานไปผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ (Biogas) ถูกใช้ผลิตเป็นความร้อน-ไฟฟ้าใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังสามารถพัฒนาก๊าซชีวภาพด้วยการผ่านกระบวนการผลิต CBG Compressed Biogas มีคุณสมบัติเทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับก๊าซ NGV ที่ใช้ในรถยนต์ได้ด้วย โดยคาดการณ์ว่าจะใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบในการผลิต CBG สำหรับรถบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ได้ 13,000 ตัน/ปี ใช้อ้อยและมันสำปะหลังผลิตได้ CBG สำหรับรถบรรทุกเล็กได้ 0.014 ตัน/ปี

2) กลุ่ม Bio-based Chemicals/Materials ประกอบไปด้วย โครงการส่งเสริมการใช้พลาสติกชีวภาพ PLA แบบย่อยสลายได้ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดศูนย์อุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio Complex/Biorefinery) ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ เคมี และพลาสติกชีวภาพประเภทย่อยสลายได้

3) กลุ่ม Food/Feed for the Future มีโครงการย่อย ได้แก่ โครงการ Feed Ingredients กับ Food Ingredients ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารเสริม อาหารที่มีผลเชิงการรักษาโรค จากกลุ่มแป้งและน้ำตาลที่ไทยผลิตอยู่แล้ว

4) กลุ่ม Biopharmaceuticals ประกอบไปด้วย โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมยาชีววัตถุและวัคซีนขั้นสูง (Biopharmaceuticals and Advenced Vaccine) เพื่อพัฒนาให้ประเทศไทยเป็น Hub ในการผลิตยาชีววัตถุและวัคซีนขั้นสูงในอาเซียน ภายในระยะเวลา 10 ปี รวมทั้งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องเสริมให้ Medical Hub ที่ไทยเข้มแข็งทางด้านการบริการอยู่แล้ว