งวดเข้าทุกที “สมัชชาแม่น้ำ” จับตา โครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา (8 ก.ค. 59)

สำนักข่าวอิศรา 8 กรกฎาคม 2559
งวดเข้าทุกที “สมัชชาแม่น้ำ” จับตา โครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา

กลุ่ม Friends of  River  และภาคี แถลงเปิดตัวสมัชชาแม่น้ำ ทำงาน สาน-สร้าง-เสริม เพื่อให้เกิดพลังการออกแบบและจัดการแม่น้ำอย่างมีส่วนร่วม ยันรัฐบาล – สจล.รับฟังความเห็นประชาชนผ่านไปแล้ว 5 เดือน ยังตอบชุมชนไม่ได้ ทำไมต้องสร้าง

วันที่ 7 กรกฎาคม 2559 ณ หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ กลุ่ม Friends of  River (FOR)  แถลงเปิดตัว สมัชชาแม่น้ำ โดยมีการรวมกลุ่มจากภาคประชาสังคม ภาคีเครือข่ายที่ทำงานเกี่ยวข้องกับแม่น้ำ องค์กรรัฐ เอกชน และประชาชนเข้าร่วม กว่า 40 องค์กร มีเป้าหมายให้เกิดกระบวนการ สาน-สร้าง-เสริม เพื่อให้เกิดพลังการออกแบบและจัดการแม่น้ำอย่างมีส่วนร่วม จากภาครัฐและเอกชน โดยคำนึงถึง ประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม  

นางภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง ตัวแทนจากสมัชชาแม่น้ำ กล่าวถึงพันธกิจของสมัชชาแม่น้ำที่จะเริ่มดำเนินงานแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มงาน 9 ภารกิจ ประกอบด้วย กลุ่มงานที่ 1 ด้านกลไกการทำงาน โดยจะมีการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชน นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ จากนั้นจึงรวบรวมและวิจัยองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและฟื้นฟูริมน้ำ กลุ่มงานที่ 2 ด้านนโยบายและโครงการ ซึ่งจะต้องมาจากการสร้างกลไกการทำงานกับภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ จนผลักดันให้เกิดเป็นนโยบายสาธารณที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและฟื้นฟูริมแม่น้ำขึ้นมา รวมไปถึงการผลักดันให้เกิดการจัดทำผังแม่บทการพัฒนาแม่น้ำอย่างเป็นรูปธรรม และกลุ่มงานที่ 3 ด้านการสื่อสาร กลุ่มสมัชชาแม่น้ำจะต้องเป็นกระบอกเสียง สื่อสารกับหน่วยงานรัฐ และสาธารณชน มีการสร้างกิจกรรมและงานสื่อสาร เผยแพร่องค์ความรู้ สร้างจิตสำนึกและทำงานร่วมกับชุมชนในพื้นที่ พร้อมทั้งขยายเครือข่ายและทำงานร่วมกับผู้มีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิด 

“ เราได้เดินหน้าเข้าพบกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ว่าข้อเสนอทั้งหมดนี้จะสามารถนำมาพัฒนาแม่น้ำให้เกิดเป็นนโยบายใหญ่ได้ โดยเราพบว่ามีเครื่องมือตาม พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ ที่มีสมัชชาสุขภาพเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้สมัชชาแม่น้ำอาจจะขยับขึ้นเป็นสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นแม่น้ำได้ ถ้าเรายังรักที่จะทำงานด้านนี้ต่อไป” 

ด้านนายยศพล บุญสม สถาปนิก ตัวแทนสมัชชาแม่น้ำ กล่าวว่า มีความเร่งด่วนของความท้าทายที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำเจ้าพระยา แน่นอนว่าทุกสายน้ำมักจะมีความท้าทาย ซึ่งในวันนี้แม่น้ำเจ้าพระยาไม่ต่างอะไรกับสายน้ำอื่นๆ ที่ถูกท้าทายด้วยโครงการพัฒนาริมฝั่งที่กำลังจะมีการดำเนินการในเร็วๆนี้ โดยจะใช้ระยะทางกว่า 57 กิโลเมตร และเงินงบประมาณกว่า 30,000 ล้านบาท ในระยะแรก 14 กิโลเมตรเริ่มจากสะพานพระราม 7 ไปจนถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ข้างละ7 กิโลเมตร รวมเป็น 14 กิโลเมตร และทางสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)อยู่ในระหว่างการศึกษาอยู่โดยใช้ระยะเวลา 7 เดือน ซึ่งขณะนี้ผ่านไป 5 เดือนแล้ว เหลืออีก 2 เดือนที่จะนำไปสู่การประมูลแบบก่อสร้างในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้และจะตอกเสาเข็มก้อนแรกลงบนแม่น้ำเจ้าพระยาในเดือนมกราคม 2560 

“ มีการนับถอยหลังที่เข้มข้นขึ้นมาเรื่อยๆ มีชุมชน 33 ชุมชนริมน้ำที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง และอีกประมาณ 9 ชุมชนที่มีความสุ่มเสี่ยงว่าจะโดนรื้อออกไป และสิ่งที่จะถูกทำลายจะมีทั้งระบบนิเวศ ภูมิทัศน์รวมถึงระบบวัฒนธรรมต่างๆ ในขณะที่งบประมาณที่ถูกใช้ ยังหาเหตุผลไม่ได้ว่า เพราะอะไรถึงมีการสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาที่ใช้งบประมาณมากขนาดนี้ ซึ่งรัฐบาลและ สจล. ผ่านมา 5 เดือนแล้วยังตอบชุมชนในพื้นที่ถึงเรื่องนี้ไม่ได้ นอกจากนี้รัฐบาลยังไม่มีทางเลือกในเรื่องการพัฒนาแบบอื่นที่จะให้ชุมชนหรือสังคมเป็นผู้เลือก” 

นายยศพล กล่าวด้วยว่า จากการพูดคุยไม่ได้มีผลกระทบในเชิงกายภาพอย่างเดียว สิ่งสำคัญที่สุดที่อาจถูกมองข้ามไปคือผลกระทบในเชิงนโยบายว่าโครงการนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อ 30 ปีที่ด้วยเหตุผลหนึ่ง แต่พอโครงการนี้กลับมาอีกครั้งในรัฐบาลชุดนี้ก็ด้วยเหตุผลอีกชุดหนึ่งคือการเพิ่มความเท่าเทียมด้วยความเข้าถึง แต่คำถามคือนโยบายอะไรที่จะบอกว่าโครงการนี้จำเป็นต้องมี และข้อกังวลของการดำเนินนโยบายของรัฐต่อการใช้งบประมาณที่มากแต่ไม่มีคำตอบให้กับประชาชน  

“ในส่วนของนโยบายทางเลียบเจ้าพระยามีความเกี่ยวข้องในหลายระดับ ทั้งในระดับโลก ระดับประเทศ ระดับเมือง ในเรื่องการจัดการปัญหาน้ำท่วม น้ำเสีย และน้ำแล้ง จะส่งผลกระทบอย่างไร เรื่องเศรษฐกิจชุมชน กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวหรือนโยบายที่เชื่อมโยงระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับลุ่มน้ำต่างๆที่มีความสัมพันธ์กัน ได้แก่ แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำบางประกง ที่จะส่งผลกระทบต่อคนที่อยู่ท้ายน้ำเช่นกัน เพราะฉะนั้นนี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องตอบว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร”