บูมระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก แผนดึงการลงทุนปั้นไทยแลนด์ 4.0 (8 ก.ค. 59)

ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ 8 กรกฎาคม 2559
บูมระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก แผนดึงการลงทุนปั้นไทยแลนด์ 4.0

บูมระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก แผนดึงการลงทุนปั้นไทยแลนด์ 4.0

เดินเครื่องต่อเนื่องแล้ว สำหรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ”Eastern Economics Corridor Development – EEC) ที่ครม.เห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยจากนี้จะเร่งทำแผนโดยละเอียดเสร็จใน 3 เดือน ผลักดันร่างกฎหมาย 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ…… ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายบีโอไอ และร่างพ.ร.บ.กองทุนเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันสำหรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นการรีลอนช์การลงทุนในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกของไทย(อีสเทิร์นซีบอร์ด) รอบใหม่ ที่จะลงทุนมากกว่าและมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงกว่า


การบูรณาการเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานและการดึงดูดการลงทุน

ย้อนรอยอีสเทิร์นซีบอร์ด
โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก หรืออีสเทิร์นซีบอร์ด เป็นการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ใหญ่อีกครั้งในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย เริ่มดำเนินการในปี 2524 หลังผลการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทยระบุมีแหล่งก๊าซธรรมชาติมากพอที่จะลงทุนเชิงพาณิชย์ โดยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกฯขณะนั้นประกาศ สู่ยุค”โชติช่วงชัชวาลย์”

อีสเทิร์นซีบอร์ดเป็นฐานการผลิตสำคัญของประเทศมาตราบถึงปัจจุบัน มีทั้งอุตสาหกรรมปิโตรเคมี พลังงาน และยานยนต์ มีเม็ดเงินลงทุนเอกชนคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.9 ล้านล้านบาท (36% ของประเทศ) ภาครัฐได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 3 แสนล้านบาท มีผลิตภัณฑ์มวลรวม ณ ราคาประจำปี คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของประเทศ และฐานการผลิตอุตสาหกรรมปิโตรเคมีแถวหน้าแห่งหนึ่งของโลก

โดยในการบริหารโครงการในอดีต รัฐบาลได้ออกกฎหมายจัดตั้งสำนักงานบริหารพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือสำนักงานอีสเทิร์นซีบอร์ดขึ้นเป็นการเฉพาะ เพื่อความคล่องตัวและให้เบ็ดเสร็จในจุดเดียว เช่นเดียวกับครั้งนี้ที่จะจัดตั้งสำนักงานอีอีซีขึ้นมาดูแลเช่นกัน

ที่มาบูมระเบียงศก.ตะวันออก
โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ”Eastern Economics Corridor Development – EEC) ที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ประโคมอยู่นี้ จะดำเนินการใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก ประกอบด้วย ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เป็นแหล่งอุตสาหกรรมอยู่แล้ว
แผนการบูมพื้นที่ฝั่งทะเลตะวันออกรอบใหม่ ปรากฏครั้งแรกจาก”กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ หนึ่งในทีมงานเศรษฐกิจของรัฐบาล ให้สัมภาษณ์”ฐานเศรษฐกิจ”เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมว่า รัฐบาลมีนโยบายจะยกระดับอีสเทิร์นซีบอร์ด ขึ้นเป็นซูเปอร์อีสเทิร์นซีบอร์ด เพราะมีความพร้อมและศักยภาพสูง และเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ

ขณะเดียวกันรัฐบาลได้อนุมัติแผนลงทุนพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งในพื้นที่ภาคตะวันออกครั้งใหญ่ภายในระยะ 1 ปีครึ่งจากนี้ ทั้งแผนลงทุนโครงข่ายขนส่งทางน้ำ ทั้งที่ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 การเชื่อมโยงการขนส่งรถไฟ-ท่าเรือ อุตสาหกรรมมาบตาพุด ขยายมอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-ชลบุรี ต่อถึงพัทยา-แหลมฉบัง และแผนมอเตอร์เวย์ในอนาคตแหลมฉบัง-นครราชสีมา เช่นเดียวกับทางรถไฟที่จะเป็นการโครงข่ายหลักขนส่งสินค้า กำลังทำรถไฟทางคู่ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย และกำลังศึกษารถไฟทางคู่กรุงเทพฯ-ระยอง

ส่วนโครงข่ายขนส่งทางอากาศพัฒนาอู่ตะเภาเป็นสนามบินเชิงพาณิชย์แห่งที่ 3 อย่างเต็มรูปแบบ รองรับการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก เชื่อมโยงกับสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิ รวมทั้งจะให้เป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานเพื่อลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศ พัฒนาท่าเรือน้ำลึกจุกเสม็ดเป็นที่จอดเรือสำราญ เรือยอชต์ และเรือข้ามฟากพัทยา-จุกเสม็ด-ชะอำ ลดเวลาเดินทางระหว่างภาคตะวันออกกับภาคใต้

แผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรอบใหม่เหล่านี้ นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า จะมีวงเงินรวมไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท และคาดว่าเอกชนจะลงทุนในอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจ ไม่ต่ำกว่า 1.9 ล้านล้านบาท

โฟกัส10อุตฯเป้าหมาย
นอกจากโครงสร้างเชิงกายภาพดังกล่าวแล้ว รัฐบาลยังได้ประกาศแผนเร่งรัดการลงทุนเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 โดยกำหนด 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศขึ้น โดยเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน และสามารถพัฒนาหรือต่อยอดการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ประกอบด้วย 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) คือ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ท่องเที่ยวไฮเอนด์และเชิงสุขภาพ เกษตรเทคโนโลยีชีวภาพ และแปรรูปอาหาร กับ 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) คือ หุ่นยนต์เพื่อการผลิต การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพ-เคมีชีวภาพ ดิจิตอล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร โดยให้สิทธิประโยชน์ทางการลงทุนระดับสูงเป็นพิเศษ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกในการประกอบการพร้อมมูล และผลักดันให้เกิดการลงทุนเป็นพื้นที่ เพื่อสร้างคลัสเตอร์และซูเปอร์คลัสเตอร์แต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม ให้เกิดความเข้มแข็ง กระจายไปในพื้นที่ที่เป็นฐานการผลิตเดิมของแต่ละอุตสาหกรรม

การประกาศโครงการพัฒนาระเบียงศก.ตะวันออกครั้งนี้ จึงเป็นการโฟกัสลงไปอีกชั้น โดยเริ่มจาก 3 จังหวัดนำร่อง คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ดังกล่าว ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มอบหมายรองฯสมคิด ร่วมกับกระทรวงคมนาคม กองทัพเรือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาจัดทำรายละเอียดโครงการนี้ ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน

เร่งต่างชาติแห่ลงทุน
นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เผยว่า แนวโน้มการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนปี 2559 เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 4.5 แสนล้านบาท โดยครึ่งปีนี้จะประเมินคำขอเป็นมูลค่ารวม 3แสนล้านบาท

ส่วนภาพรวมการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในครึ่งปีหลังเชื่อว่า จะมีอัตราเร่งมากกว่าครึ่งปีแรก และต่อเนื่องถึงปี 2560 จากมาตรการส่งเสริมฯ ต่าง ๆ ที่รัฐทยอยออกมา โดยเฉพาะการเร่งขับเคลื่อนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก(อีอีซี) แก้กฎหมายบีโอไอให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินได้นิติบุคคลจากเดิม 8 ปีเป็น 13 ปี และการให้หักค่าใช้จ่ายสำหรับการลงทุน สามารถนำมาหักกำไรเพื่อเสียภาษีเงินได้ในอัตราที่ลดลง เป็นต้น

เช่นเดียวกับนายคนิศ แสงสุพรรณ ประธานคณะทำงานส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน กระทรวงการคลัง ก็ชี้ว่า ร่างพ.ร.บ.พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จะเป็นเครื่องมือสำคัญกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน เมื่อรวมกับร่างพ.ร.บ.บีโอไอ และร่างพ.ร.บ.กองทุนเพิ่มขีดความสามารถฯ จะทำให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนมากขึ้น และเศรษฐกิจไทยจะโตได้ที่ระดับ 5 % ไม่ใช่ 2-3 %เหมือนที่ผ่านมา

เร่งลงทุนหนุน”ไทยแลนด์4.0″
เป็นไปตามยุทธศาสตร์การยกระดับประเทศหนีกับดักรายได้ปานกลางที่ต้องเร่งการลงทุนภาคเอกชนให้เพิ่มขึ้นโดยที่ผ่านมาอยู่ในระดับตํ่าเพียงประมาณไม่เกิน 15% ต่อเนื่องมาหลายปี

สัดส่วนการลงทุนดังกล่าว เป็นระดับที่ตํ่ากว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์เห็นว่าเศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตเต็มศักยภาพที่ระดับ 4-5% แล้ว ระดับการลงทุนที่เหมาะสมควรอยู่ที่ระดับ 26%ของจีดีพี

การลงทุนเอกชนจึงเป็นความหวังในการฟื้นเศรษฐกิจตัวจริง ภาครัฐเดินหน้าลงทุนแล้ว จากนี้ต้องเร่งเอกชนตัดสินใจลงทุน โดยการให้สิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับการลงทุนทันทีภายในปีนี้ เพื่อให้เม็ดเงินลงทุนออกมาหมุนเวียนต่อจากแผนกระตุ้นที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจที่ผ่านมาการแกะกล่องโครงการอีอีซีก็เป็นอีกหนึ่งแรงที่จะกระตุ้นการลงทุนเอกชนให้เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อปั้นไทยสู่ประเทศรายได้สูงตามโมเดล “ไทยแลนด์ 4.0”

 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,172 วันที่ 7 – 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2559