สกู๊ปพิเศษ โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดา ในสายตาของมาราปาตานี (9 ก.ค. 59)
แนวหน้าออนไลน์ 9 กรกฎาคม 2559
สกู๊ปพิเศษ โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดา ในสายตาของมาราปาตานี
การเคลื่อนไหวของกลุ่ม “มาราปาตานี” ต่อสถานการณ์ความ “ขัดแย้ง” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ “เกาะกุม” โอกาสในวันสำคัญทางศาสนา “ฮารีรายออีดิ้ลฟิตรีย์” โดยการ ส่งสารจาก อาวัง ยาบะ หัวหน้ากลุ่ม “มาราปาตานี” ถึงชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ซึ่งได้แสดงความ “ห่วงใย” ในเรื่อง 3 ประเด็นหลัก คือ 1 เรื่องของโรงเรียนปอเนาะญีฮาด ที่ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี 2 เรื่อง ชู้สาว ระหว่างทหารพราน กับ หญิงสาวชาวมุสลิม ในพื้นที่ อ.ธารโต จ.ยะลา และเรื่องที่ 3 คือ เรื่องความ “เห็นต่าง” ระหว่างรัฐกับประชาชนจำนวนหนึ่ง ในโครงการ “โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” จ.สงขลา
เรื่องแรก เป็นเรื่องที่ ฝ่ายความมั่นคงรับรู้กันมากว่า 3 เดือนแล้วว่า บีอาร์เอ็น มีความพยายามที่จะนำเอาปัญหาของ “ปอเนาะญีฮาด” เข้าสู่ขบวนการ “โออีซี” และหาพันธมิตร ที่เป็นประเทศมุสลิม เพื่อชี้ให้เห็นว่า กระบวนการยุติธรรมของรัฐไทย “รังแก” คนมุสลิม โดยพยายามที่จะนำเรื่องที่เกิดขึ้นให้เข้าประเด็นของการเป็น “ญีฮัด” ให้ได้
ส่วนเรื่องที่ 2 นั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่ แต่ก็เคยเกิดขึ้นหลายครั้งในพื้นที่ ซึ่งสาเหตุมาจากเรื่อง “ชู้สาว” ระหว่างทหารพรานหนุ่มกับหญิงสาวมุสลิม โดยประเด็นสำคัญคือ ใช้สถานที่ ซึ่งไม่เหมาะสมในการนัดหมายมา “พลอดรัก” กัน จนกลายเป็นการสร้างความ ไม่พอใจ ให้เกิดขึ้นกับคนในพื้นที่ ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้ทำการรับผิดชอบไปแล้ว รวมทั้งทำการ ทำความเข้าใจ ในเรื่องที่เกิดขึ้นกับคนในพื้นที่
การหยิบเอาประเด็นที่ ‘อ่อนไหว” ในความรู้สึกของคนในพื้นที่มา “ส่งสาร” ของ มาราปาตานี จึงเป็นเรื่อง “ปกติ” ของการ เคลื่อนไหวในทาง “การเมือง” ที่จะต้องหยิบยก เอา “จุดอ่อน” ของฝ่ายตรงข้ามมา “โจมตี” หรือ “ตอกย้ำ” เพื่อความได้เปรียบในเรื่องของ “มวลชน” ซึ่งเป็นความถนัดของ “บีอาร์เอ็น” ที่มีความ “ช่ำชอง” ซึ่งในครั้งนี้ผู้ที่ออกมา “ขับเคลื่อน” คือ “มาราปาตานี” ซึ่งเป็น “แขนง” ทางการเมืองของ บีอาร์เอ็น
แต่ประเด็นที่น่าสนใจ คือการหยิบเอาประเด็นของ โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา มาพูดถึงเสมือนการส่ง “สัญญาณ” ให้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ “ต่อสู้” กับหน่วยงานของรัฐ ในด้านการพัฒนาประเทศ ที่มีคน “ส่วนหนึ่ง” ไม่เห็นด้วย และทำการ “คัดค้าน”
ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา ขบวนการแบ่งแยกดินแดน ไม่ว่าเป็น พูโล บีไอพีพี หรือกลุ่มอื่นๆ จะให้ความสนใจในเรื่องความไม่เป็นธรรม ที่มาจากกรณี จับกุม คุมขัง ซ้อม ทรมาน อุ้มหาย และที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ ในเรื่องของศาสนา เป็นด้านหลัก แต่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับแผนการ พัฒนาประเทศ เช่นการ สร้างเขื่อน ปัญหาประมงพื้นบ้าน และอื่นๆ ฯลฯ
การออกมา “ส่งสาร” ในเรื่องว่าด้วยความห่วงใย ในเรื่อง “โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพ” ของ อาวัง ยาบะ ในครั้งนี้ ยังมี “นัย” ที่สอดคล้องกับ ความเคลื่อนไหวของกลุ่ม “เปอมูดอ” หรือปีก “เยาวชน” ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่นำเอาประเด็นของ โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เป็นประเด็นในการ “ขับเคลื่อน” ผ่านองค์กรต่างๆ มาก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อประมวลความเคลื่อนไหวของทั้ง 2 ด้าน จึง “ชัดเจน” ว่า บีอาร์เอ็น ปรับแผนในการขับเคลื่อนงาน “มวลชน” โดยหยิบเอาปัญหาความ “เห็นต่าง” ความ “ขัดแย้ง” ของคนในพื้นที่ต่อโครงการพัฒนาของรัฐบาล มาเป็นประเด็นสำคัญ ในการยืนเคียงข้างประชาชนผู้ “เห็นต่าง” จากหน่วยงานของรัฐ
ซึ่งหากบีอาร์เอ็นที่กำลัง “เพลี้ยงพล้ำ” ด้านงาน “มวลชน” จากการใช้ความรุนแรง และการ เข่นฆ่า ผู้บริสุทธิ์ เพื่อ “ตอบโต้” เจ้าหน้าที่รัฐ ด้วยการปรับขบวนการใหม่ ด้วยการสนับสนุนกลุ่มผู้ที่ “เห็นต่าง” จากรัฐบาล ในโครงการต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งไม่ใช่มีแต่โครงการ “โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีโครงการอื่นๆ อีกมาก ที่รัฐบาลต้องการผลักดัน ให้เกิดขึ้นในพื้นที่
ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จริง แน่นอนว่า การพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเป็นงานหนักของรัฐบาล เพราะทุกโครงการ ย่อมไม่มี
ผู้เห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่จะต้องมีผู้ “เห็นต่าง” อยู่บ้าง มากบ้าง น้อยบ้าง ตามธรรมชาติ และตาม “เงื่อนไข” ของพื้นที่ ซึ่งเป็นที่ตั้งโครงการ
เช่นเดียวกับ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่ทั้งรัฐบาล และกฟผ.จะต้องไม่นิ่งเฉยต่อการ “ขยับตัว” ของกลุ่ม “มาราปาตานี” ในครั้งนี้ เพราะ “มาราปาตานี” เปิดหน้าอย่าง “ชัดเจน” ถึง วัตถุประสงค์ โดยที่ไม่ต้อง อรรถาธิบาย ให้ซ้ำซาก
แม้ว่า โดยสภาพที่เป็นข้อเท็จจริงว่า โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพานั้น สุดท้ายแล้ว ต้องเกิดขึ้นตามความต้องการของ รัฐบาลเพราะมองในด้านความมั่นคงของพลังงานโดยรวมของประเทศ โดยมีความพยายามชี้ให้เห็นถึงเสียงสนับสนุนจากคนในพื้นที่ ซึ่งมีมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์
และการรับเอาข้อสังเกต ข้อเสนอแนะของกลุ่มที่ “เห็นต่าง” เพื่อแก้ไขในสิ่งที่ คนในพื้นที่เกรงว่าจะเกิด “มลภาวะ” ทั้งต่อสิ่งแวดล้อมต่อสุขภาพ และต่อวิถีชีวิต ของคนในพื้นที่ ซึ่งเชื่อว่า สิ่งที่ ผู้ “เห็นต่าง” ไม่ว่าเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ และประชาชน “ห่วงใย” สามารถที่จะ “ควบคุม” ได้ หากคนในพื้นที่มีความเข้มแข็ง ในการ “ตรวจสอบ” โครงการอย่างจริงๆ จังๆ
โดยข้อเท็จจริง ความ “เห็นต่าง” หรือการมอง “ต่างมุม” ต่อโครงการใหญ่ๆ ที่เป็นการพัฒนาประเทศ ถ้าเกิดขึ้นโดย “สุจริต” มีความพอดีที่ไม่ “สุดโต่ง” ใช้เหตุผลมาทำการ “หักล้าง” การ “เห็นต่าง” เป็นสิ่งที่มีคุณูปการ ต่อการพัฒนาประเทศ และคุณภาพชีวิตของประชาชน
เช่นข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็น ที่ผู้ “เห็นต่าง” นำเสนอ และเจ้าของโครงการนำไปปฏิบัติ มีขบวนการตรวจสอบ และติดตามชัดเจน นั่นคือ ชัยชนะ ของผู้ที่ “เห็นต่าง” ที่สามารถ ทำให้โครงการที่ก่อสร้างเป็นไปตามที่ผู้ “เห็นต่าง” ต้องการ ชัยชนะของผู้ “เห็นต่าง” ไม่ใช่จบลงที่การ “ล้มเลิกโครงการ” เพียงอย่างเดียว
แต่..อย่างไรก็ตาม หน่วยงานความมั่นคง ต้องติดตามความเคลื่อนไหวและ “ล้วงลึก” ถึงการออกมา “ส่งสาร” เรื่อง โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาของ อาวัง ยาบะ หัวหน้ากลุ่ม “มาราปาตานี” ว่ามะอะไรที่ “แอบแฝง” มากกว่าเรื่องการหา “คะแนน” จากมวลชนในพื้นที่หรือไม่
เพราะการเข้ามาเป็น หัวหน้ากลุ่ม “มาราปาตานี” ของ อาวัง ยาบะ นั้น มาเพราะความเห็นชอบของ รัฐบาลมาเลเซีย ซึ่งในวงการความมั่นคงต่างรู้ว่าเขาเป็นเพียง “หุ่นเชิด” ที่ต้องทำตามคำสั่ง ดังนั้นการออกมา “ส่งสาร” ถึงชาวมุสลิมในเรื่องของ “โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” อาจจะเป็นเรื่อง “ธรรมดา” ที่ไม่ “ธรรมดา” และกลายเป็นอีกหนึ่ง “เงื่อนไขใหม่” ของความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ได้
และที่แน่นอนที่สุด นี่คืนงานหนักที่เพิ่มขึ้นมาอีกชิ้นหนึ่งของ แม่ทัพภาคที่ 4 และ หัวหน้าคณะ “พูดคุยสันติสุข” ที่จะต้อง “จับเข่า” เพื่อทำความเข้าใจกับ “มาราปาตานี” ภายใต้ “เสื้อคลุม” ของ บีอาร์เอ็น และ มาเลเซีย
เมือง ไม้ขม