'เพ็ญโฉม' ชี้ ร่างพ.ร.บ.โรงงาน ไม่คำนึงผลกระทบด้านมลพิษต่อชุมชน (9 ก.ค. 59)

สำนักข่าวอิศรา 9 กรกฎาคม 2559
'เพ็ญโฉม' ชี้ ร่างพ.ร.บ.โรงงาน ไม่คำนึงผลกระทบด้านมลพิษต่อชุมชน

เพ็ญโฉม วิพากษ์ร่างพ.ร.บ.โรงงาน ฉบับใหม่ หละหลวม เน้นลดขั้นตอนขอใบอนุญาต ไม่คำนึงเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

สืบเนื่องจากมติที่ประชุมครม.ได้เห็นชอบร่างพ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่ ซึ่งเป็นการปรับปรุงกฎหมายเก่าที่ใช้มานานกว่า 20 ปี ให้ทันสมัยมากขึ้น มีการปรับนิยามการตั้งโรงงานใหม่ ซึ่งเป็นการปลดล็อคให้กับกลุ่มผู้ประกอบการโรงงานขนาดเล็ก ที่มีเครื่องจักรกำลังต่ำกว่า 50 แรงม้า และมีคนงานต่ำกว่า 50 คน รวม 60,000 ราย ไม่ต้องมาอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ และไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการตามพ.ร.บ.โรงงาน ทำให้ประกอบกิจการได้อย่างสะดวกมากขึ้น โดยในการอนุญาตได้มอบอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้พิจารณาเอง ซึ่งขั้นตอนต่อจากนี้ จะเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบ ก่อนส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศรา ในประเด็นดังกล่าวว่า ปัจจุบันการพัฒนาอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงไปมาก และปัญหาที่เกิดขึ้น มาจากการพัฒนาอุตสากหกรรมที่รุนแรงมากขึ้น ดังนั้นการที่จะมีการปรับปรุงกฏหมาย ต้องมองให้สอดคล้องในทุกมติ ไม่ใช่เฉพาะขั้นตอนในการขอใบอนุญาตเท่านั้น แต่หากดูในร่างฯที่ผ่านครม.จะพบว่า เป็นการปรับแก้เฉพาะบางมาตรา ซึ่งส่วนมากคือการลดขั้นตอนการของใบอนุญาต การก่อสร้างและการประกอบกิจการของโรงงานต่างๆ ให้มีความรวดเร็วมากขึ้น ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมและการป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้น จากอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย มลพิษ เรื่องเหล่านั้นไม่ได้มีการพูดถึง หรือถ้าจะพูดก็มีแค่มาตราเดียวเท่านั้น คือการวางหลักประกันความเสียทางด้านสิ่งแวดล้อมในมาตรา 8 (9) 

ผอ.มูลนิธิฯ กล่าวว่า การเพิ่มเข้ามาดูเหมือนน่าจะดี คือคำนึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากสิ่งแวดล้อม มีการวางประกันต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ที่นี่เรามีคำถามว่า การวางประกันตรงนั้น ไม่มีความชัดเจนว่า กระบวนการขั้นตอนจะเป็นอย่างไร เป็นส่วนที่กังวล การกำหนดให้มีหลักประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโรงงาน มีคำถามว่า ในส่วนการวางหลักประกัน สำหรับความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ใครเป็นคนทำประกัน เพราะโดยทั่วๆ ไป ผู้ประกอบกิจการต้องเป็นผู้ขอค้ำประกัน ต่อไปจะเป็นเรื่องของบริษัทที่จะทำประกันภัย หากผู้ประกอบกิจการต้องการผู้ทำประกันภัย ความเสียหายของประกันจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขความรับผิดชอบต่อผลประโยชน์เป็นรายบริษัท ไม่แน่ใจว่าขั้นตอนของกฎหมายจะเป็นอย่างไร

"เท่าที่อ่านร่างฯ ที่ผ่านครม.มาคือ 1.)ต่อไปจะเป็นเรื่องของบริษัทประกันภัยที่จะทำกับผู้ประกอบการโรงงาน ซึ่งรายละเอียดก็ขึ้นกับบริษัทประกันภัย น่าจะไม่เหมือนกันว่า จะรับประกันความเสียหายมากน้อยอย่างไร 2.) ถ้ามีปัญหาที่ซ้อนขึ้นมาก หากมีการโอนกิจการ และถ้าเกิดความเสียหายที่เกิดขึ้นในระหว่างนี้ จากผู้หนึ่งที่ถ่ายโอนไปยังอีกคนหนึ่ง การประกันภัยจากความเสียหายตรงนี้ จะครอบคลุมอย่างไร หรือในกรณีที่หากมีการปิดกิจการแล้วหนี ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยมาก แบบนี้บริษัทประกันภัยจะยังคงรับผิดชอบหรือไม่ แล้วมาตรการของรัฐที่จะดูเเลในการจ่ายประกันภัย จะมีการกำกับแค่ไหนอย่างไร มีความรู้สึกว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม กำลังปัดความรับผิดชอบตรงนี้ไปให้กับบริษัทประกันภัยและผู้ขอทำประกัน" 

ประเด็นเรื่องของขนาดโรงงาน น.ส.เพ็ญโฉม กล่าวว่า ขนาดของโรงงานกับลักษณะของกิจการจะยังสอดคล้องกับยุคสมัยหรือไม่  ถ้าจะมีการพูดถึงขนาดของโรงงาน ภายใต้การขออนุญาต อย่างใบรง.4 ขั้นตอนการออกใบอนุญาต น่าเป็นปัญหา และไม่เห็นด้วย คือ ตามกฎหมายยังคงเเบ่งประเภทโรงงานจำพวก1,2,3 เพียงแต่เพิ่มแรงม้า โรงงานจำพวก 3 ของกฎหมายเดิม จะกลายเป็นจำพวก 2 ตามร่างฯใหม่ เพราะมีการเพิ่มขนาดของเเรงม้า ที่นี้ประเภทกิจการของอุตสาหกรรมในแต่ละประเภท มีการก่อมลพิษและปัญหาสิ่งแวดล้อม สุขภาพที่ต่างกัน

"ที่นี้หากคุณกำหนดประเภทของแรงม้า กับประเภทของอุตสาหกรรมและใช้การออกใบอนุญาต รง.4 แบบเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าฟาร์มหมูขนาด 20 ตัว กับฟาร์มหมูขนาดหนึ่งพันตัว คือประเภทกิจการเดียวกัน แต่ว่าขนาดต่างกัน ในเมื่อขนาดต่างกัน แต่เป็นประเภทเดียวกัน ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโรงานขนาดใหญ่กว่าย่อมมหาศาลมากกว่า ฉะนั้นขั้นตอนการออกใบอนุญาต ไม่ควรเป็นใบ รง.4 แบบเดียวกันทั้งหมด ควรมีการแยกประเภทการออกใบอนุญาต และขั้นการออกใบอนุญาตต้องแตกต่างกัน ตามขนาดและกิจการที่ก่อผลกระทบที่แตกต่างกัน" 

ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวด้วยว่า  ตัวร่างกฎหมายไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้ และปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้เกิดขึ้นจากมลพิษอุตสาหกรรม มลพิษที่เกิดขึ้นจากน้ำ โรงงานเล็กใหญ่ ก่อปัญหาแตกต่างกันมาก แต่ระดับความรุนแรงของมลพิษบางทีคล้ายกัน ดังนั้นขั้นตอนการออกใบอนุญาตไม่ควจะเหมือนกัน

"เราไม่รู้ว่า เกณฑ์ที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งกฎกระทรวงไม่รู้ว่า เกณฑ์ใหม่จะเป็นอย่างไร แล้วเรื่องผังเมือง พื้นที่กันชน หรือแนวป้องกัน ระยะห่างจากชุมชน หรือว่าระยะห่างจากระบบนิเวศแหล่งน้ำที่มีความสำคัญต่างๆ กฎเกณฑ์จะเป็นอย่างไร ซึ่งตรงนี้ไม่สามารถบอกได้จากตัวร่างๆ กฎหมาย"

“โดยรวมแล้วมีความวิตกกังวลมาก สำหรับตัวร่าง เนื่องจาก 1.) ดูหละหลวมมาก 2.) การแก้ไขรายมาตราเพื่ออำนวยให้ ขั้นตอนการขอใบอนุญาตประกอบกิจการเร็วขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มว่าผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่มีต่อชุมชนจะเป็นปัญหาใหญ่ในภายภาคหน้ามากขึ้นด้วยเช่นกัน” น.ส.เพ็ญโฉม กล่าว และว่า  ส่วนการกระจายอำนาจ โรงงานจำพวกสองไปอยู่ในการดูเเลของ อปท. เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ แต่มีข้อท้วงติงว่าการกระจายอำนาจไปให้อปท. ควรมีการออกกฎกระทรวง กำหนดเกณฑ์ของประเภทกิจการ กิจการบางประเภทก่อมลพิษรุนแรง แม้แต่จะเป็นโรงงานที่ขนาดไม่ใหญ่ แต่หากจะก่อให้เกิดมลพิษรุนแรง กิจการเหล่านั้นควรขึ้นตรงกับกรมโรงงานและอุตสาหกรรม เพราะว่าในการกำกับดูเเล ใช้ความเชี่ยวชาญ  ภาระของ อปท.ที่มีอยู่ในปัจจุบันแบกภาระเยอะจากการกระจายอำนาจ คงไม่มีทรัพยากร ไม่มีความเชี่ยวชาญในการเข้าไปกำกับดูเเลตรวจสอบ เพราะฉะนั้น ไม่ควรให้อปท.กำกับดูเเลทั้งหมด โดยในส่วนของโรงงานที่จะก่อมลพิษร้ายแรง ควรทำเกณฑ์บัญชี รายชื่อที่ต้อง ดูเเล ไม่อย่างนั้น กฎหมายจะไม่สามารถป้องกันควบคุมมลพิษและสิ่งแวดล้อม แต่กลับกัน จะส่งเสียต่อสิ่งแวดล้อมรุนแรงมากขึ้น