ตั้งวิทยาลัยยางพาราไทย-จีน ผลิตบุคลากรรับอุตสาหกรรม (12 ม.ค. 59)

ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ 12 มกราคม 2559
ตั้งวิทยาลัยยางพาราไทย-จีน ผลิตบุคลากรรับอุตสาหกรรม


ตั้งวิทยาลัยยางพาราไทย-จีน ผลิตบุคลากรรับอุตสาหกรรม

ม.อ.จับมือมหาวิทยาลัยฯชิงเต่าและ Rubber Valley Group ก่อตั้งวิทยาลัยนานาชาติยางพาราไทย-จีน ผลิตบุคลากรรองรับการย้ายฐานการผลิตยางล้อรถยนต์ของประเทศจีนมาไทย

รศ. ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชิงเต่า (QUST) และ Rubber Valley Group (RVG) มณฑลชานตง สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ร่วมมือกันจัดตั้งวิทยาลัยนานาชาติยางพาราไทย-จีน(Sino-Thai International Rubber College) โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างบุคลากรที่มีทักษะด้านการผลิตและออกแบบยางล้อ เพื่อตอบสนองโรงงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิตยางล้อรถยนต์ และรองรับโรงงานผลิตยางล้อจากประเทศจีน ที่จะมาตั้งฐานการผลิตในไทยและประเทศอาเซียนในอนาคต และเป็นการสร้างเสริมองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งในมณฑลชานตง สาธารณรัฐประชาชนจีน มีสถาบันการศึกษาที่เชี่ยวชาญเรื่องดังกล่าว และมีโรงงานที่เกี่ยวกับการผลิตยางล้ออยู่เป็นจำนวนมาก

คาดว่าวิทยาลัยนานาชาติยางพาราไทย-จีนจะรับนักศึกษาและเปิดการเรียนการสอนได้ในปีการศึกษา 2560 โดยเปิดสอนเป็นภาษาอังกฤษ ในระดับปริญญาตรี หลักสูตร 2+2 คือ เรียนที่ประเทศไทย 2 ปี และสาธารณรัฐประชาชนจีน 2 ปี และได้รับปริญญาจาก 2 สถาบัน ใน 3 สาขา คือ Polymer Materials and Engineering , Mechanical Engineering และ Mechatronic Engineering รับนักศึกษาหลักสูตรละ 100 คน มีการเปิดสอนในระดับปริญญาโท หลักสูตร 1+1 พร้อมกับการร่วมมือกันจัดอบรมระยะสั้นในเรื่องที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ล่าสุดเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)ได้เปิดโครงการนิคมอุตสาหกรรมเมืองยาง(Rubber City) เพื่อเพิ่มการใช้ยางพาราในภาคอุตสาหกรรมขั้นกลางน้ำและปลายน้ำ ตลอดจนมุ่งเน้นให้เกิดนวัตกรรมเพื่อนำยางพาราไปใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น สำหรับใช้ในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ ส่งผลให้เกิดกลไกผลักดันราคายางในประเทศให้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยโครงการนิคมอุตสาหกรรมเมืองยาง ตั้งอยู่ในพื้นที่ระยะที่ 2/2 และ 3 ของนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ที่ตั้งอยู่ในตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ขนาดพื้นที่ 1,218 ไร่