ศาลปกครองเชียงใหม่ สั่งยุติคดีเหมืองแม่เมาะ (11 ม.ค. 59)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 11 มกราคม 2559
ศาลปกครองเชียงใหม่ สั่งยุติคดีเหมืองแม่เมาะ
รายงานข่าวแจ้งว่า ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำสั่งยุติคดีที่มีผู้ร้องคัดค้านการดำเนินการของ กฟผ.ในคดีเหมืองแม่เมาะ เนื่องจากพิจารณาว่า การดำเนินงานของ กฟผ.เป็นไปตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด รวมทั้งการดำเนินงานสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟแม่เมาะถูกต้องตามมาตรการฟื้นฟู ขุมเหมือง ถือเป็นนิมิตรหมายของการเริ่มต้นที่ดี กฟผ.พร้อมเดินหน้าพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดลำปาง
นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการกิจการสังคม ในฐานะโฆษก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ตามที่มีผู้ฟ้องคดีเหมืองแม่เมาะบางราย ยื่นคำร้องคัดค้านการดำเนินงานของ กฟผ.ว่า ไม่เป็นไปตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดในคดีแม่เมาะที่พิพากษาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 และสำนักงานศาลปกครองเชียงใหม่ ได้มีหนังสือรายงานคำสั่งศาลปกครองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2558 รวม 3 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 ตามที่ผู้ร้องเห็นว่า เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในคดีเหมืองแม่เมาะ กฟผ.จะต้องเริ่มกระบวนการทำแผนขอแก้ไขมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมเหมืองแม่เมาะใหม่ ซึ่งศาลปกครองเชียงใหม่พิจารณาว่า การดำเนินการของ กฟผ.ที่ขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่ออธิบดี กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ภายในเวลา 90 วัน ถือว่า กฟผ.ได้ปฏิบัติตามหน้าที่ภายในกำหนดเวลาที่ศาลมีคำสั่งแล้ว
กรณีที่ 2 เรื่องการแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาอพยพราษฎรที่ได้รับผลกระทบที่อาจนำไปสู่อันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินและมีความประสงค์จะอพยพหมู่บ้านออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตร ผู้ร้องเห็นว่า คณะทำงานที่แต่งตั้งล้วนแต่เป็นข้าราชการส่วนภูมิภาคและเจ้าหน้าที่ กฟผ. ไม่มีผู้แทนชาวบ้าน ผู้ฟ้อง และองค์กรสิ่งแวดล้อมนั้น ศาลพิจารณาว่า คำสั่งของจังหวัดลำปางที่แต่งตั้งคณะทำงานดังกล่าว ประกอบด้วย ตัวแทนจากหมู่บ้าน ท้องถิ่น อำเภอ จังหวัด และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้าน เหมืองแร่และอุตสาหกรรมถลุงหรือแต่งแร่ (คชก.) ถือว่า การจัดตั้งถูกต้องตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว
กรณีที่ 3 สวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ ซึ่ง กฟผ.จะต้องฟื้นฟูขุมเหมืองโดยการถมดินกลับให้มากที่สุดและปลูกป่าทดแทน แต่ผู้ฟ้องเห็นว่า กฟผ.ไม่ได้ดำเนินการนั้น ศาลพิจารณาว่า เมื่อมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ ประกอบกับสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟไม่ใช่พื้นที่ขุมเหมืองแต่เป็นพื้นที่ทิ้งดินเดิม จึงไม่สามารถถมดินกลับในบ่อเหมืองได้ และ กฟผ.ได้มีการปลูกพืชคลุมดินหรือปลูกไม้ยืนต้นแล้ว จึงถือว่าได้มีการฟื้นฟูสภาพเหมืองถูกต้องแล้ว
ดังนั้น กฟผ.ได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จึงมีผลใช้บังคับโดยสมบูรณ์ ถือว่าได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลแล้ว และศาลปกครองเชียงใหม่ได้มีคำสั่งให้ยุติการบังคับคดีนี้