ชาวคลิตี้โวย คพ.เมินฟื้นฟูลำห้วย คนกรุงเสี่ยงสารตะกั่วปนเปื้อนน้ำประปา (10 ม.ค. 59)

Green News TV 10 มกราคม 2559
ชาวคลิตี้โวย คพ.เมินฟื้นฟูลำห้วย คนกรุงเสี่ยงสารตะกั่วปนเปื้อนน้ำประปา

ชาวบ้านคลิตี้ล่าง ระบุ คพ.ไม่ดำเนินการฟื้นฟูลำห้วย แม้ศาลจะพิพากษามาแล้ว 3 ปี ด้าน ผอ.ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงฯ ซัดกระบวนการบังคับคดีมีปัญหา ส่งผลหน่วยราชการเมินทำตาม

นายธนกฤต โต้งฟ้า ชาวกะเหรี่ยงบ้านคลิตี้ล่าง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เปิดเผยว่า ภายหลังศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 ม.ค.2556 จนถึงขณะนี้ผ่านไป 3 ปีแล้ว กลับพบว่า คพ.ยังไม่ได้ดำเนินการแต่อย่างใด

นายธนกฤต กล่าวว่า ที่ผ่านมามีเพียงผลการศึกษาในการฟื้นฟูเท่านั้น และชาวบ้านก็ไม่มีส่วนร่วมใดๆ แผนการดำเนินการจึงไม่ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของชาวบ้าน เพราะไม่ได้บอกว่าชาวบ้านจะสามารถกลับไปใช้น้ำ และกินปลา จากลำห้วยคลิตี้ได้อีกเมื่อใด หรือไม่มีการพูดถึงประเด็นสุขภาพของชาวบ้านว่าดีขึ้นหรือไม่ อย่างไร

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา กล่าวว่า แม้ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาว่า คพ.ดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ล่าช้า และให้เร่งทำแผนฟื้นฟูตลอดจนดำเนินการฟื้นฟูภายใน 90 วัน แต่การดำเนินการก็ยังล่าช้าอยู่เช่นเดิม ซึ่งเป็นปัญหาของการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลที่ควรปรับปรุงแก้ไขให้มีกระบวนการบังคับให้หน่วยงานที่ถูกฟ้อง ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามคำพิพากษาของศาล

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า หากไม่เร่งฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ปัญหาในอนาคตข้างหน้าจะไม่ใช่เฉพาะชาวบ้านคลิตี้ หรือชาว จ.กาญจนบุรี เท่านั้น แต่น้ำในลำห้วยคลิตี้ซึ่งปนเปื้อนสารตะกั่วได้ไหลลงสู่แม่น้ำแม่กลอง และน้ำจากแม่น้ำแม่กลองที่ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี จะผันลงสู่คลองมหาสวัสดิ์ เพื่อเป็นน้ำดิบที่นำไปผลิตน้ำประปาให้คนกรุงเทพ และคนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาใช้

“คนกรุงเทพ และปริมลฑล อาจจะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน และแม่น้ำแม่กลองก็จะไหลลงสู่อ่าวไทย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญที่สุดของประเทศอีกด้วย”นายสุรพงษ์ กล่าว

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ความเสียหายและสูญเสียที่ชาวบ้านคลิตี้ได้รับ ทำให้ชาวบ้านคลิตี้ล่าง 151 คนยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรีเพื่อเรียกค่าเสียหายจากบริษัทผู้ก่อมลพิษ ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้บริษัทจ่ายชดใช้ค่าเสียหายรวม  36,050,000 บาท ต่อมาในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำนวนค่าเสียหายให้บริษัทจ่ายตามศาลชั้นต้น

ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา

สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อปี 2541 เมื่อโรงแต่งแร่ตะกั่ว บริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ได้ปล่อยน้ำหางแร่จนก่อให้เกิดสารตะกั่วปนเปื้อนลำห้วยคลิตี้ตลอดสาย ทำให้ชาวบ้านกะเหรี่ยงบ้านคลิตี้ล่าง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เจ็บป่วยล้มตาย ต่อมา คพ.มีแผนที่จะฟื้นฟูลำห้วยแต่ไม่ดำเนินการ ทำให้ชาวบ้านฟ้องกรมควบคุมมลพิษต่อศาลปกครอง

ขณะนั้น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ตรวจเลือดชาวบ้านคลิตี้ล่างเพื่อหาระดับสารตะกั่วในเลือด พบว่าชาวบ้านทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีระดับสารตะกั่วในเลือดสูง โดยเด็กอายุ 0-6 ปีมีระดับตะกั่วในเลือดเฉลี่ย 23.56 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เด็กอายุ 7-15 ปีมีระดับตะกั่วในเลือดเฉลี่ย 28.30 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และผู้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป มีระดับตะกั่วในเลือดเฉลี่ย 26.31 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ขณะที่การสำรวจระดับตะกั่วในเลือดเฉลี่ยของคนไทยทั่วไปเมื่อปี 2538 – 2539 โดยกองอาชีวอนามัย พบว่ามีค่า 4.29 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

นอกจากนี้กรมควบคุมมลพิษได้ตรวจสภาพแวดล้อมในลำห้วยคลิตี้ พบว่าตะกอนธารน้ำมีตะกั่วจากกิจกรรมเหมืองแร่ปนเปื้อนจำนวนมาก สัตว์น้ำ จำพวกปลา  กุ้ง หอย มีตะกั่วปนเปื้อนในเนื้อเกินค่ามาตรฐานมาก

กระทั่ง เมื่อวันที่ 10 ม.ค.2556 ศาลปกครองสูงสุด ได้อ่านคำพิพากษาให้ คพ.กำหนดแผนงาน วิธีการ และดำเนินการฟื้นฟูตรวจและวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ให้ครอบคลุมทุกฤดูกาลอย่างน้อยฤดูกาลละ 1 ครั้ง จนกว่าจะพบว่าค่าสารตะกั่วในน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ไม่เกินค่ามาตรฐาน เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี

นอกจากนี้ ยังให้ชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 คน เป็นเงินรายละ 177,199.55 บาท โดยกำหนดให้ดำเนินการภายใน 90 วัน