‘ทุ่งคำ’ เบี้ยวแจงข้อมูลฟ้องเด็ก ม.4 กสม.ลงพื้นที่พบผู้บริหาร 15 ม.ค.นี้ (9 ม.ค. 59)

Green News Tv 9 มกราคม 2559
‘ทุ่งคำ’ เบี้ยวแจงข้อมูลฟ้องเด็ก ม.4 กสม.ลงพื้นที่พบผู้บริหาร 15 ม.ค.นี้

ผู้อำนวยการสิ่งแวดล้อมภาค 9 อุดรธานี ระบุชัด “ไซยาไนด์” เหมืองทอง จ.เลย ซึมออกสู่ภายนอก เหตุตรวจพบในดิน ด้าน กสม.จ่อลงพื้นที่พบผู้บริหารทุ่งคำ 15 ม.ค.นี้ 

เมื่อวันที่ 8 ม.ค.2559 คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดการประชุมรับฟังการชี้แจงข้อเท็จจริงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีผลกระทบการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จ.เลย โดยเฉพาะประเด็นการฟ้องร้องเยาวชนอายุ 15 ปี ซึ่งเรียนอยู่ระดับชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 4 เพื่อหาทางออกร่วมกัน

สำหรับการประชุมดังกล่าว คณะอนุกรรมการฯ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 8 ฝ่าย เข้าให้ข้อมูล ประกอบด้วย 1.ชาวบ้าน อ.วังสะพุง จ.เลย 2.สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ภาคอีสาน 3.สำนักงานสิ่งแวดล้อม ภาค 9 อุดรธานี 4.สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 2 อุดรธานี 5.อุตสาหกรรมจังหวัดเลย 6.สาธารณสุขจังหวัดเลย 7.สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จ.เลย 8.บริษัททุ่งคำ

อย่างไรก็ตาม สถานพินิจฯ และบริษัททุ่งคำ กลับไม่ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมให้ข้อเท็จจริง เป็นเหตุให้ กสม.ไม่สามารถสอบสวนประเด็นการฟ้องร้องเยาวชนอายุ 16 ปี ได้ คณะอนุกรรมการฯ จึงมีมติลงพื้นที่ อ.วังสะพุง จ.เลย เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ในวันที่ 15-16 ม.ค.นี้

นางเตือนใจ ดีเทศน์ ประธานอนุกรรมการฯ กล่าวว่า จะมีการลงพื้นที่ จ.เลย เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้งในวันที่ 15 ม.ค.นี้ และคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้พบกับผู้บริหารของบริษัททุ่งคำ เพื่อพูดคุยไกล่เกลี่ยให้บริษัทยกเลิกการดำเนินการกับเยาวชนมัธยม 4 รวมถึงร่วมหามาตรการคุ้มครองเยียวยาชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ

“ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นไร ต้องไม่ลืมว่าน้องเป็นเด็กอายุ 15 ปี เด็กและเยาวชนต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่เด็กมีจิตใจรักและห่วงใยบ้านเกิด ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรจะได้รับการสนับสนุน” นางเตือนใจ กล่าว

นายมิตรชัย หัตถสาร อนุกรรมการฯ กล่าวว่า หน่วยงานรัฐมีหน้าที่ต้องแจ้งให้ประชาชนทราบว่าจะดำเนินการใดๆ ซึ่งสาเหตุนี้เองอาจเป็นชนวนปัญหาของเรื่องราวทั้งหมดจนนำมาสู่ความสงสัยและปรากฎออกมาสู่การรายงานข่าวที่เป็นประเด็นปัญหา การตั้งคำถามเช่นนี้จึงบอกได้เลยว่าเป็นสิ่งที่เด็กควรทำด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงข้อกังวลอื่นๆ ภายหลังชาวบ้านได้ร้องเรียนอีกเพิ่มเติม ได้แก่ ตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา ชาวบ้านได้ยินเสียงเครื่องจักรทำงานบริเวณเหมืองในตอนกลางคืนอยู่สม่ำเสมอ จึงสงสัยว่าในเมื่อเหมืองปิดกิจการไปแล้ว เหตุใดยังมีการดำเนินการในพื้นที่ในยามวิกาลอีก

“หากจะบอกว่าเป็นการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูก็ควรมาชี้แจงให้ชาวบ้านทราบ จะออกเป็นเอกสารหรือแค่มาบอกผู้ใหญ่บ้านให้บอกต่อก็โอเคแล้ว แต่นี่มีแผนจะทำอะไรชาวบ้านไม่เคยได้ทราบเรื่อง แม้กระทั่งผลการตรวจน้ำว่าจุดใดเกินค่าจุดใดไม่เกิน ชาวบ้านก็ไม่เคยได้รู้” ตัวแทนชาวบ้านกล่าว

นายเฉลี่ยว ลีสง่า ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 9 อุดรธานี กล่าวว่า จากการเก็บตัวอย่างน้ำในพื้นที่พบว่ามีสารพิษที่เป็นนัยยะสำคัญ 2 ตัว คือสารหนูและไซยาไนด์ ซึ่งมีลักษณะเดียวกันคือไม่เกินค่ามาตรฐานบริเวณต้นน้ำ แต่จะมาเกินค่ามาตรฐานหลายเท่าในบริเวณเหมือง และจะมีค่าลดลงที่ปลายน้ำ ทั้งนี้จากการตรวจสอบตะกอนและน้ำบาดาลไม่พบ จึงคาดว่าน่าจะอยู่เฉพาะน้ำผิวดิน

“สำหรับสารหนูนักวิชาการวิเคราะห์แล้วยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเกิดจากเหมืองหรือไม่ เพราะบริเวณที่มีแร่ทองคำมักจะมีสารหนูเป็นเพื่อนแร่ ในส่วนของไซยาไนด์มีโอกาสเกิดจากธรรมชาติค่อนข้างต่ำ จึงอาจเป็นไปได้ว่ามีการซึมซับจากบ่อกักเก็บกากแร่มายังพื้นที่ภายนอก เพราะบางจุดก็มีค่าสูงเกินกว่ามาตรฐานไปมาก” นายเฉลี่ยว กล่าว

นายปกร พูนผล วิศวกรเหมืองแร่ชำนาญการ สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เขต 2 อุดรธานี กล่าวว่า ปัจจุบันบ่อกักเก็บกากแร่ในพื้นที่เหมืองทองคำได้รับการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมีการติดตามตรวจสอบคุณภาพของบ่ออยู่เป็นระยะ ซึ่งเป็นกระบวนการที่อยู่ในแผนฟื้นฟูของ กพร.มาตั้งแต่ต้น ส่วนการที่บ่อไม่มีระบบป้องกันด้วยแผ่นพลาสติกนั้น ต้องยอมรับว่าเหมืองดังกล่าวสร้างขึ้นในอดีต ที่รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ในยุคนั้นยังไม่ได้กำหนด

“ส่วนหนึ่งที่ควรต้องคำนึงถึงคือพื้นเพดั้งเดิมของพื้นที่ ซึ่งในอดีตโครงการนี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะรัฐบาลมองเห็นศักยภาพของอุตสาหกรรมโลหะหนักในพื้นที่ และจากการตรวจสอบก็พบว่ามีสารหนูและไซยาไนด์ที่เกินค่ามาตรฐานมาตั้งแต่ต้น จึงได้จัดให้มีการเปิดประมูลเพื่อจัดการทรัพยากรบริเวณนี้” นายปกร กล่าว

วิศวกรเหมืองแร่ กพร.เขต 2 กล่าวอีกว่า สำหรับโครงสร้างการกำกับดูแลเหมืองแร่แห่งนี้ไม่ใช่หน้าที่ของ กพร.ทั้งหมด เพราะได้มอบอำนาจให้ทางจังหวัดเลยดำเนินการทั้งหมดแล้ว ด้วยคณะกรรมการที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเลยเป็นประธาน และหน่วยงานส่วนกลางอยู่ในคณะ ทาง กพร.เพียงสนับสนุนงานด้านวิชาการ แต่เวลามีประเด็นปัญหามักจะมาที่ กพร.ก่อนเสมอ

นายสมนึก จงมีวศิน อนุกรรมการฯ กล่าวว่า แผนฟื้นฟูดังกล่าวจะต้องมีการปรับปรุงและเพิ่มอีไอเอด้วย ซึ่งต้องมาคุยกันอีกว่ามาตรการหลายอย่างนั้นทำได้จริงหรือไม่ รวมถึงแผนกระบวนการและกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนเป็นอย่างไร จึงอยากให้เกิดการร่วมพูดคุยกันระหว่างชุมชนกับราชการด้วย เนื่องจากที่ประชาชนไม่เชื่อใจขณะนี้ก็เพราะแผนงานที่ไม่ชัดเจน