10 ปัญหาสิ่งแวดล้อมไทยประจำปี 2558 (7 ม.ค. 59)
ประชาไท 7 มกราคม 2559
10 ปัญหาสิ่งแวดล้อมไทยประจำปี 2558
ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ
ตามธรรมเนียมของทุกปี เมื่อสิ้นปีผมจะจัดลำดับ 10 ปัญหาสิ่งแวดล้อมไทยและภูมิภาคอาเซียนที่ไทยเกี่ยวข้อง สำหรับในปี 2558 ผมได้จัดอันดับปัญหาทั้ง 10 ประเด็นโดยยึดขนาดหรือระดับของปัญหา การเคลื่อนไหวของชุมชนและสังคม และการเป็นข่าวในสื่อมวลชนและความสนใจของสังคม ดังนี้
10. อ่าวไทยปนเปื้อนน้ำมัน
อ่าวไทยคือแหล่งทรัพยากรอาหารทะเลที่สำคัญที่สุดของประเทศ แต่ตลอดปี 2558 เราจะพบว่ามีข่าวว่าอ่าวไทยปนเปื้อนน้ำมันเป็นระยะๆ เช่น ในเดือนตุลาคมเกิดคราบน้ำมันที่ชายทะเลชะอำ หัวหิน ปราณบุรี และพบซากลูกโลมาอายุไม่ถึง 2 ปี ลอยเกยหาดบริเวณเดียวกับที่พบคราบน้ำมัน ทำให้เกิดความวิตกกังวลถึงผลกระทบ แม้มีการคาดว่าคราบน้ำมันเกิดจากเรือเดินสมุทรปล่อยน้ำมันทิ้งลงทะเล แต่ก็ยังไม่สามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ ขณะที่ในวันที่ 20 ธันวาคม ก็มีรายงานข่าวว่าก้อนน้ำมันโผล่บริเวณแหลมตะลุมพุกพร้อมกับมีปลาตายเกลื่อนหาด เช่น ปลามะเขือแดง ปลาแป้น พร้อมกับก้อนน้ำมัน ตลอดแนวความยาวกว่า 1 กม.ของแหลมตะลุมพุก ขณะที่นักสิ่งแวดล้อมคาดว่าก้อนน้ำมันมาจากแท่นขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทย แต่ถึงปัจจุบันแหล่งที่มาของก้อนน้ำมันที่ทำร้ายทะเลอ่าวไทยก็ยังเป็นปริศนาต่อไป
9. ท่าเทียบเรือน้ำลึก
แผนการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกทั้งชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน เช่น ที่เทพา ปะทิว ปากบารา ในปี 2558 กรมเจ้าท่าได้เร่งเดินหน้าโครงการท่าเทียบเรือและได้นำไปสู่การเคลื่อนไหวคัดค้านของคนในท้องถิ่นและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องตลอดปี และบางพื้นที่ได้นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านด้วยกัน โดยฝ่ายสนับสนุนมองว่า การสร้างท่าเรือน้ำลึกจะทำให้ท้องถิ่นเจริญ และมีรายได้จากการเก็บภาษี ทำให้เกิดการจ้างงาน ขณะที่ฝ่ายคัดค้านมองว่าท่าเรือน้ำลึกจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านอย่างรุนแรง จะมีการเวนคืนที่ดิน เป็นต้น ขณะที่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก็ล้มเหลวเช่นเดียวกับโครงการอื่นๆ ในประเทศไทยที่ผู้คัดค้านถูกกีดกันออกไป
8.เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน
เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ชายแดนเป็นนโยบายที่สำคัญในการเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบัน และเพื่อให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จัดหาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก มุกดาหาร หนองคาย สระแก้ว และตราด ได้เร็วขึ้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มีคำสั่งให้เพิกถอนที่ดินจากป่าสงวนแห่งชาติ เขตป่าไม้ถาวร เขตปฏิรูป และที่ดินสาธารณะ ให้เป็นที่ราชพัสดุเพื่อนำมาใช้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ขณะที่เฟสต่อไปรัฐบาลมีแผนจะประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มอีกใน 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย นครพนม กาญจนบุรี นราธิวาส และ อ.สะเดา จ.สงขลา
ผลของนโยบายดังกล่าวได้ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้านตามมา โดยเฉพาะที่แม่สอด จ.ตาก เพราะชาวบ้านจำนวนมากได้ลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรม ขณะที่ในพื้นที่อื่นๆ ก็ปรากฏว่ามีการเคลื่อนไหวคัดค้านเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ชายแดนเนื่องจากวิตกกังวลถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชาวบ้าน เช่น ที่เชียงราย เป็นต้น กระแสการคัดค้านยังมาจากความวิตกกังวลว่า กนอ.จะฉวยโอกาสไม่จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้โครงการนี้ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมาในระยะยาว
การผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ชายแดนสะท้อนให้เห็นถึงแนวนโยบายการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยยึดแนวทางตามลัทธิเสรีนิยมใหม่ เพราะนโยบายนี้เอื้อให้กับทุนสามารถสะสมทุนได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดการเบียดขับคนจนที่อยู่ชายแดนให้กลายเป็นคนชายขอบมากยิ่งขึ้น
7.เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย
เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายทางฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ประเทศพม่า ที่มีทั้งอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงไฟฟ้าถ่านหิน เขื่อน และท่าเทียบเรือน้ำลึกเพื่อจะทำให้การส่งออกสินค้าไปยังอินเดียและตะวันออกกลางเป็นไปอย่างรวดเร็วและประหยัด โครงการนี้รัฐบาลไทยและทุนไทยได้เข้าไปผลักดันและลงทุนในพื้นที่หลายร้อยตารางกิโลเมตร และได้มีการบังคับอพยพชาวบ้านและสร้างความเดือดให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์ในทวายอย่างหนัก และตลอดปีที่ผ่านมาได้มีการเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการนี้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีทั้งการทำวิจัยของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ การสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศ รวมทั้งการที่ผู้ได้รับผลกระทบได้เข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)
แม้ว่าผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนจะเกิดขึ้นชัดเจนมากขึ้น แต่ในวันที่ 18 เดือนธันวาคม รัฐบาลญี่ปุ่นก็ประกาศจะให้การสนับสนุนเงินทุนร่วมกับรัฐบาลไทย ในการก่อสร้างท่าเรือและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายในประเทศพม่า โดยผู้แทนจากญี่ปุ่น ไทย และพม่าได้เข้าร่วมพิธีลงนามที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ เมื่อกลางเดือนธันวาคม ซึ่งจะทำให้โครงการนี้เดินหน้าต่อไปได้ง่ายขึ้น กรณีเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายจึงสะท้อนการรุกของทุนไทยและญี่ปุ่นเข้าไปในพม่าภายใต้ลัทธิเสรีนิยมใหม่อย่างชัดเจน ขณะที่คนกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าต้องเผชิญกับการเบียดขับจากทุนข้ามแดนทั้งไทยและญี่ปุ่น
6. นโยบายทวงคืนผืนป่าและฝ่าวิกฤตยางพารา
แผนแม่บทป่าไม้ปี 2557 ที่ต้องการเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ร้อยละ 40% ของพื้นที่ประเทศหรือ “นโยบายทวงคืนผืนป่า” และนโยบายฝ่าวิกฤตยางพาราที่ต้องการลดสต็อกยางพาราเพื่อแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำโดยการโค่นยางพาราของรัฐบาลปัจจุบัน ได้นำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างรัฐกับชาวบ้าน เพราะนโยบายทั้งสองได้นำไปสู่การโค่นยางพาราของชาวบ้านที่มีปัญหาที่ดินทำกินซ้อนทับกับเขตป่าทั่วประเทศทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ไปจนถึงภาคใต้
แม้ว่าจะมีคำสั่ง คสช.66/2557 ว่าการทวงคืนผืนป่าจะไม่ให้กระทบต่อคนจน แต่ในความเป็นจริง ชาวบ้านที่ถูกโค่นยางพาราส่วนใหญ่คือ คนจน อีกทั้งยังปรากฏว่าได้มีการนำกฎหมายมาจัดการกับชาวบ้านที่เป็นคนจนอย่างเข้มงวด ดังกรณีบ้านจัดระเบียบ จ.สกลนคร ที่ชาวบ้านถูกจับกุมดำเนินคดีถึง 34 รายและส่วนใหญ่พวกเขาถูกตัดสินจำคุกโดยไม่รอลงอาญา รวมถึงเฒ่าชราวัย 73 ปี
หากรัฐบาลยังไม่เปลี่ยนแปลงนโยบาย ความขัดแย้งของปัญหาป่าไม้ที่ดินระหว่างรัฐกับคนจนในปีหน้าก็อาจจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
5.เขื่อนกั้นแม่น้ำโขง
แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติที่ยาวที่สุดในอุษาคเนย์ ปัจจุบัน แม่น้ำโขงทางตอนบนในประเทศจีนได้มีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ไปแล้วถึง 5 เขื่อน ขณะที่แม่น้ำโขงตอนล่าง ทุนไทยได้ข้ามแดนไปสร้างเขื่อนไซยะบุรี กั้นแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านประเทศลาว และทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของชาวบ้านลุ่มน้ำโขงทั้งภาคเหนือและภาคอีสานอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น การเคลื่อนไหวยังได้มุ่งไปที่การรณรงค์ให้สังคมไทยและนานาชาติตระหนักถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการที่ สปป.ลาวจะสร้างเขื่อนดอนสะโฮงที่สีทันดร จังหวัดจำปาสัก
แม้ว่าการต่อสู้ของชาวบ้านและนักอนุรักษ์ไม่สามารถประสบชัยชนะในการฟ้องศาลปกครองกรณีเขื่อนไซยะบุรีเมื่อปลายปีได้ ซึ่งนั่นเท่ากับเขื่อนไซยะบุรีเดินหน้าต่อไป แต่การยืนหยัดต่อสู้เพื่อปกป้องแม่น้ำโขงก็ถือว่ายังเป็นจุดเด่นของการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยและในลุ่มน้ำโขง
4. สัมปทานและขุดเจาะปิโตรเลียม
ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับภาคประชาชนและชาวบ้านกรณีการสัมปทานปิโตรเลียมได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีศูนย์กลาง 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นประเด็นของการแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมที่ภาคประชาชนต้องการเปลี่ยนจากระบบสัมปทานเป็นการแบ่งปันผลผลิต และส่วนที่สอง เป็นการเคลื่อนไหวของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการขุดเจาะก๊าซ โดยเฉพาะในแปลงสัมปทานบนบกในภาคอีสาน
ด้วยข้อจำกัดของระบบการเมือง ทำให้การเคลื่อนไหวในปีนี้อ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวในส่วนกลางที่ต้องเข้าไปร่วมร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมใหม่ ส่วนประเด็นการเคลื่อนไหวในส่วนกลางที่ทำให้สังคมตระหนักถึงปัญหาการขุดเจาะก๊าซแบบ fracking ทำให้สังคมเข้าใจปัญหาการขุดเจาะก๊าซมากขึ้น ขณะที่การเคลื่อนไหวของชาวบ้านก็ยังคงปรากฏว่ามีความเข้มแข็งโดยเฉพาะในกรณีของนามูล-ดูนสาด แม้ว่าจะไม่สามารถหยุดยั้งการขุดเจาะก๊าซได้ แต่การต่อสู้ของชาวบ้านก็มีความเข้มแข็งจากการที่ยืนหยัดต่อสู้อย่างยาวนานภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองที่ไม่เอื้ออำนวย
3.ควันไฟป่าอาเซียน
ปัญหาควันไฟป่าอินโดนีเซียควันเกิดขึ้นมานานกว่า 2 ทศวรรษ แต่ในเดือนตุลาคม ปี 2558 ลมที่หอบเอาควันจากไฟป่าอินโดนีเซียได้กระจายไปมากกว่า 1,200 กิโลเมตร และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การบิน และสุขภาพของประชาชนถึง 5 ประเทศ ทั้งอินโดนีเซียเอง สิงคโปร์ มาเลเซีย ภาคใต้ของไทย และฟิลิปปินส์ที่อยู่ห่างจากแหล่งไฟป่าถึง 1,200 กิโลเมตร จนถือได้ว่า ควันไฟป่าครั้งนี้ คือ "ภัยพิบัติในระดับอาเซียน"
สาเหตุของไฟป่ามาจากการลงทุนข้ามชาติในอุตสาหกรรมเกษตรในอินโดนีเซียที่ได้มีการพัฒนาพื้นที่ป่าเพื่อเปลี่ยนเป็นการเกษตรแบบพืชเชิงเดี่ยว (plantation) โดยเฉพาะการเผาป่าพรุเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน โดยนายทุนมีทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย และทุนจากไทยที่ข้ามแดนไปร่วมวงไพบูลย์เผาป่าเพื่อปลูกปาล์มน้ำมันกับเขาด้วย
หลังจากหมอกควันจางหาย ในสิ้นเดือนธันวาคมก็มีรายงานข่าวว่า กรมป่าไม้ของอินโดนีเซียได้เพิกถอนการให้เอกชนสัมปทานพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันบางแห่ง แต่ข่าวร้ายก็คือ ศาลอินโดนีเซียไม่รับฟ้องคดีที่กรมป่าไม้ของอินโดนีเซียฟ้องบริษัทปลูกปาล์มน้ำมันที่เป็นสาเหตุของหมอกควันที่ทำให้เกิดความเดือนร้อนกว่าครึ่งค่อนภูมิภาคอาเซียน
การมีกลุ่มทุนข้ามแดนจากอาเซียนไปร่วมวงไพบูลย์เผาป่าในอินโดนีเซียที่สร้างภัยพิบัติในวงกว้างนับว่าเป็นปํญหาภัยพิบัติสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนที่สำคัญที่สุดในปีนี้ และปัญหานี้ก็ท้าทายกลไกของอาเซียนในการแก้ไขและปกป้องสิ่งแวดล้อมร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นใหญ่ดังที่กล่าวมา แต่เนื่องจากไม่ปรากฏการณ์เคลื่อนไหวของภาคประชาชนและนักสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ผมจึงจัดให้ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญอันดับ 3
2. การคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน
นโยบายการพัฒนาแหล่งผลิตไฟฟ้าโดยการสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านและภาคประชาสังคมอย่างต่อเนื่อง ในปี 2558 การอดอาหารประท้วงการประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ท่ามกลางเงื่อนไขทางการเมืองที่ไม่เอื้ออำนวยถือได้ว่าเป็นความสำเร็จที่สำคัญของภาคประชาชน เพราะทำให้มีการเลื่อนการประมูลออกไปและมีการตั้งคณะกรรมการร่วมขึ้นมา
ในปีนี้ กระแสการคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินยังขยายไปสู่พื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา และกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดชัยภูมิ แต่การต่อสู้ตัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ยังต้องเผชิญกับกระบวนการตัดสินใจที่บิดเบี้ยวและการใช้อำนาจรัฐเข้าคุกคาม ดังกรณีโรงไฟฟ้าเทพาที่มีการส่งกำลังทหารเข้าไปคุ้มกันเวที ขณะที่ชาวบ้านและกลุ่มคัดค้านถูกกีดกันออกไปจากเวที นอกจากนั้น ยังปรากฏว่าชาวบ้านที่ต่อต้านยังถูกคุกคามจาก “อิทธิพล” ดังกรณี นายก อบต.แห่งหนึ่งขู่จะยิงแกนนำ
การต่อสู้ที่เข้มแข็งและต่อเนื่องท่ามกลางเงื่อนไขที่จำกัดดังกล่าว ผมจึงจัดให้การคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นประเด็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญเป็นอันดับ 2
1.เหมืองแร่ทองคำ
ประเด็นเหมืองทองคำเป็นประเด็นที่เป็นข่าวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นปี 2558 โดยเมื่อต้นปี มีชาวบ้านที่อยู่รอบเหมืองทองพิจิตรและเหมืองทองเลยเสียชีวิตพร้อมกันถึง 2 คน คือ พ่อทองมา ธีระชาติดำรง ชาวบ้านเขาหม้อ จ.พิจิตร และพ่อสุวัต จุตโน หลังจากนั้น ก็มีชาวบ้านทยอยเสียชีวิตเรื่อยๆ โดยเฉพาะที่พิจิตร
หลังจากนั้น ในเดือนกุมภาพันธ์ ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมก็ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยรังสิตจัดงานร่วมนำเสนอผลการศึกษาหัวข้อ "เปิดหลักฐานใหม่ผลตรวจสิ่งแวดล้อม...เหมืองทองคำพิจิตร" โดย ผลการวิเคราะห์ไซยาไนด์และโลหะหนักในพืช พบว่ามีไซยาไนด์ในต้นข้าว ต้นบอน กระชาย ผักบุ้ง กระทกรก หญ้าปากควาย เป็นต้น และพบว่ามีปริมาณแคดเมียมในพืชสูง พบแมงกานีสในต้นข้าว กระชาย บอน ฝักกระถิน ตะไคร้ ใบถ่อน ผักบุ้ง เป็นต้น และพบตะกั่วปริมาณเล็กน้อยในพืชบางชนิด
ขณะที่ผลการวิเคราะห์สารหนู แมงกานีส และความผิดปกติของเซลล์ในเลือดและปัสสาวะ" พบว่า ผลตรวจจาก 731 ราย พบผิดปกติ 483 ราย มีสารหนูและแมงกานีสในร่างกาย
หลังจากนั้น ชาวบ้านที่นี่ก็เริ่มทยอยเสียชีวิตมากขึ้นเรื่อย บางรายได้บริจาคร่างกายให้กับแพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์
ขณะที่การเคลื่อนไหวของชาวบ้านได้มุ่งไปที่การเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยมีข้อเรียกร้องหลักก็คือ การปิดเหมืองเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และอพยพชาวบ้านออกไป การต่อสู้ของชาวบ้านยังทำให้ ป.ป.ช.ตั้งคณะกรรมการเพื่อไต่สวนกรณีการลงทุนของเหมืองที่พิจิตร
การยืนหยัดต่อสู้กับทุนข้ามชาติของชาวบ้านพิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก ท่ามกลางการสนับสนุนของคนในสังคมยังช่วยจุดกระแสให้ชาวบ้านและสังคมตระหนักถึงหายนะของเหมืองที่รัฐบาลจะเปิดให้สัมปทาน 1 ล้านไร่ ทั่วประเทศ และนำไปสู่การคัดค้านการให้สัมปทานเหมืองแร่ทองคำทั้งจากชาวบ้านในพื้นที่ นักสิ่งแวดล้อม นักวิชาการ และชนชั้นกลางในสังคม จนกระทั่งทำให้มีการเลื่อนการให้สัมปทานออกไป
ในปลายปี ดูเหมือนว่าข่าวเกี่ยวกับเหมืองจะขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง เมื่อเครือข่ายชาวบ้านผู้คัดค้านเหมืองแร่ทองคำพิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก ได้รับรางวัล “นักสู้ผู้ไม่แพ้” ของรายการคนค้นคน อวอร์ด ครั้งที่ 7 ขณะที่เหมืองแร่เมืองเลย กลับพบกับข่าวร้ายเมื่อ บ.ทุ่งคำ ฟ้องดำเนินคดีกับน้องพลอย นักเรียน ม.4 ที่ทำข่าวพลเมือง และไทยพีบีเอสที่เสนอข่าวดังกล่าว ท่ามกลางการเคลื่อนไหวประท้วงของชาวบ้านและคนในสังคมที่ช่วยกันรณรงค์กดดันให้บริษัทถอนฟ้องน้องพลอย
กรณีเหมืองทองที่เกิดภัยพิบัติอย่างรุนแรงทั้งสิ่งแวดล้อม การเกษตร และสุขภาพของชาวบ้านที่มีคนป่วยจำนวนมากและทยอยเสียชีวิต ขณะที่ชาวบ้านก็ได้ลุกขึ้นมาต่อสู้อย่างเข้มแข็งโดยสามารถระดมการสนับสนุนจากสังคม และการเสนอข่าวของสื่อมวลชนรวมทั้งในโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่อง ผมจึงจัดให้ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญที่สุดอันดับหนึ่งในรอบปี 2558
สำหรับการต่อต้าน พ.ร.บ.จีเอ็มโอ และการต่อต้านโรงไฟฟ้าขยะที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ทั้งสองประเด็นนับว่ามีความสำคัญเช่นกัน เพียงแต่ประเด็นข่าวและการเคลื่อนไหวไม่ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ในปี 2559 นี้ สังคมไทยก็ต้องจับตาทั้งสองประเด็นเช่นกัน