โรงไฟฟ้าขยะติด พรบ.ร่วมลงทุน ม.44แก้แค่ผังเมือง จี้′บิ๊กตู่′ปลดล็อก (9 ม.ค. 59)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 9 มกราคม 2559
โรงไฟฟ้าขยะติด พรบ.ร่วมลงทุน ม.44แก้แค่ผังเมือง จี้′บิ๊กตู่′ปลดล็อก

 

กรมโยธาธิการชงรัฐบาลเสนอใช้ ม.44 "งด" ใช้ พ.ร.บ.ผังเมืองรวม หวังดัน "เขตเศรษฐกิจพิเศษ -โรงไฟฟ้าขยะ" แจ้งเกิด ด้านกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ส.อ.ท. ชี้ "ปลดล็อก" แค่เพียงครึ่งเดียว แจงสิ่งที่ฟากธุรกิจต้องการก็คือ ไม่ต้องเข้า พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ


หลังจากที่ผู้ประกอบการภาคเอกชนได้ร้องเรียนถึงปัญหาที่เกิดจากการดำเนินการจัดทำผังเมืองรวมและกฎหมายผังเมืองที่กำลังเป็นอุปสรรคในการพัฒนาธุรกิจไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษไปจนกระทั่งถึงการพัฒนาธุรกิจทางด้านพลังงาน ล่าสุด กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้เสนอให้ใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 เพื่อยกเว้นไม่ให้มีการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองรวมแล้ว

นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กรมโยธาฯกำลังอยู่ในระหว่างเสนอเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอให้รัฐบาลใช้มาตรา 44 เพื่อ "ยกเว้น" ไม่ให้มีการบังคับใช้กฎกระทรวงผังเมืองรวมเพื่อขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและขจัดอุปสรรคต่อการพัฒนาธุรกิจใน2เรื่องหลักด้วยกันคือ1) การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด 12 พื้นที่ ได้แก่ ตาก, มุกดาหาร, สระแก้ว, ตราด, สงขลา, หนองคาย, นครพนม, กาญจนบุรี, นราธิวาส และเชียงราย 

โดยการพัฒนาพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ต่อไปจะใช้ประกาศกระทรวงมหาดไทยออกตามกฎหมายควบคุมอาคารมาคุมการก่อสร้างแทน เช่น ความสูงและชนิดของอาคารในบางพื้นที่ที่เป็นพื้นที่อนุรักษ์ ส่วนพื้นที่ไหนที่ส่งเสริมการพัฒนา อย่างเช่นพื้นที่ย่านพาณิชยกรรมจะไม่คุมเข้มก็จะเปิดให้สร้างอาคารขนาดใหญ่ได้ เป็นต้น โดยขณะนี้กรมโยธาฯอยู่ระหว่างร่างข้อกำหนด 2 จังหวัดที่เป็นพื้นที่นำร่อง ได้แก่ จังหวัดตากกับสระแก้ว ที่ตากกำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ จะยอมรับกับข้อกำหนดที่กรมกำหนดหรือไม่ ส่วนจังหวัดสระแก้วมีการดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว 

2) การพัฒนาธุรกิจด้านพลังงานและขยะ เปิดให้สามารถดำเนินการได้ทั่วประเทศโดยไม่มีกฎกระทรวงผังเมืองรวมบังคับใช้ แต่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกฎหมายอื่นประกอบด้วย เช่น กฎหมายโรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม ล่าสุดทางกระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรมกำลังอยู่ระหว่างทำรายละเอียดเพิ่มเติม หลังจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีข้อท้วงติงเข้ามาว่า หากยกเว้นกฎหมายผังเมืองให้แล้ว จะใช้กฎหมายอะไรมาพิจารณาในการขออนุญาตดำเนินการ เช่น การทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นต้น

ทั้งนี้เฉพาะธุรกิจด้านพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนจากขยะ จัดให้กฎหมายผังเมืองรวมเป็น 1 ใน 3 อุปสรรคที่ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างและพัฒนาโรงไฟฟ้าได้ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้ร้องเรียนปัญหาอันเกิดจากกฎหมายผังเมืองต่อกระทรวงพลังงานผ่านทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.)โดยมีโครงการสำคัญที่ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะติดปัญหากฎหมายผังเมืองรวมอาทิ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 153 โครงการ 875 MW, โครงการโรงไฟฟ้าจากขยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงไฟฟ้าพลังงานขยะที่กลุ่ม ปตท.ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง และโครงการก่อสร้างเตาเผาขยะในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ

แหล่งข่าวในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ส.อ.ท. เปิดเผยกรณีที่กรมโยธาธิการและผังเมืองจะเสนอให้ "ปลดล็อก" ปัญหาอุปสรรคในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนอันเนื่องมาจากกฎหมายผังเมืองรวมด้วยการใช้ ม.44 ว่า เป็นการแก้ปัญหาส่วนหนึ่ง แต่โรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการโครงการต่อไปได้อยู่ดี เนื่องจากยังติดปัญหาใหญ่อีก 2 เรื่องที่รอการแก้ไขนั้นก็คือ ระบบสายส่งไฟฟ้าไม่พอ กับอุปสรรคอันเกิดมาจาก พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ที่กำหนดให้ "ขยะ" เป็นทรัพย์สินของรัฐ ส่งผลให้โรงไฟฟ้าขยะต้องเข้าสู่การพิจารณาตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ จนผู้ประกอบการไม่สามารถนำโรงไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้ เพราะติดปัญหาการพิจารณาที่ล่าช้า "เราจะพิจารณาเรื่องนี้เป็นวาระด่วนภายในสัปดาห์นี้" 

ล่าสุด คณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปกิจการไฟฟ้าพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน ได้หารือปัญหาอันเกี่ยวเนื่องจาก พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ โดยภาคเอกชนเสนอให้นำโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนออกจาก พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ เพื่อลดขั้นตอนการขออนุญาตที่ต้องใช้เวลานานแต่ละโครงการไม่ต่ำกว่า 1-2 ปี

นายจารุวัฒน์ สิงห์สมดี ผู้จัดการส่วนพัฒนาธุรกิจ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ในเครือ ปตท. กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมยังไม่สามารถสรุปแนวทางแก้ไขได้ ภาพรวมหารือส่วนของเอกชนเน้นไปที่ต้องการให้ "ยกเว้น" พลังงานทดแทนทุกประเภทไม่เข้าข่ายที่ต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ สำหรับโรงไฟฟ้าขยะของบริษัทโกลบอล เพาเวอร์ฯ กำลังผลิตประมาณ 8 MW ในพื้นที่จังหวัดระยอง "จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า" ยังมีหลายประเด็นที่ยังต้องตีความเพิ่มเติม การคำนวณมูลค่าของโครงการใหม่จากเดิมที่เคยคำนวณไว้ที่ 1,000 ล้านบาท

"ในวันที่ 11 มกราคมจะมีการหารือระหว่างภาคเอกชนกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในส่วนของประเด็นผังเมืองที่กระทบต่อโรงไฟฟ้าขยะ ซึ่งอยู่ระหว่างขอแก้ไขให้เป็นพื้นที่สามารถสร้างโรงงานได้ แต่ที่เรากังวลมากกว่าก็คือ เรื่องของ พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ เพราะผู้ประกอบการต้องใช้เวลานานเพื่อทำตามข้อกำหนดของ พ.ร.บ." นายจารุวัฒน์กล่าว