"พสุ โลหารชุน" ชง 51 จังหวัด ปลดล็อกผังเมืองตั้งโรงงาน ก.พ. 59 (9 ม.ค. 59)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 9 มกราคม 2559
"พสุ โลหารชุน" ชง 51 จังหวัด ปลดล็อกผังเมืองตั้งโรงงาน ก.พ. 59
สัมภาษณ์
ตลอดช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้พยายามออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อดึงดูดนักลงทุน แต่หลายจังหวัดที่เอกชนสนใจไม่สามารถจัดตั้งโรงงานได้ เพราะติดปัญหาต่าง ๆ มากมาย "กรมโรงงานอุตสาหกรรม" หนึ่งในหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือใบ รง.4 ซึ่งเป็นตัวสะท้อนภาพการขับเคลื่อนการลงทุนของอุตสาหกรรมในประเทศ "ประชาชาติธุรกิจ" มีโอกาสสัมภาษณ์ "พสุ โลหารชุน" อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ถึงนโยบายที่ต้องดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์กระทรวงอุตสาหกรรม 2559-2564
- ยอดตั้งโรงงานใหม่ทั้งปี′58
ตั้งแต่เดือนมกราคม-23 ธันวาคม 2558 มีจำนวน 4,351 โรงงาน ลดลงจากปีก่อน 7.77% เงินลงทุน 386,366 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15.24% ส่วนการขยายกิจการ มีจำนวน 933 โรงงาน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 16.04% เงินลงทุน 196,747 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 11.07% ปี 2559 คาดว่ายอดเปิดกิจการและขยายกิจการจะมีแนวโน้มทรงตัว หรือสูงขึ้นกว่าปีนี้ประมาณ 5% เนื่องจากรัฐบาลกำหนดให้ปี 2559 เป็นปีแห่งการลงทุน ซึ่งจะมีทั้งมาตรการสนับสนุนให้ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคต ที่สอดคล้องกับการกำหนด 9 คลัสเตอร์ออกมา รวมทั้งการออกสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นการลงทุนในปีหน้า
- หลายจังหวัดติดปัญหาผังเมือง
จังหวัดที่ติดผังเมืองมี 51 จังหวัด ขณะนี้แก้บัญชีแนบท้ายไปแล้ว ได้พยายามยืดหยุ่นขอบเขตการตั้งโรงงานแต่ละประเภทแต่ละจังหวัด คาดว่ากุมภาพันธ์ 2559 จะเสร็จทั้งหมด ทั้งระยะของแนวกันชน (Buffer Zone) และแนวป้องกัน (Protection Strip) เพื่อนำข้อกำหนดยืดหยุ่นมาใช้แทนบัญชีแนบท้าย ปัจจุบันจังหวัดที่มีปัญหาก่อสร้างไม่ได้ เช่น นครปฐม เรื่องการขอตั้งโรงงานแปรรูปอาหาร, ฉะเชิงเทรา เรื่องการขอตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทางผังเมืองเองมีแนวคิดว่า อยากเห็นผังเมืองที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งอุตสาหกรรมและเอกชน ล่าสุดได้ส่งรายงานโซนนิ่ง 34 จังหวัดส่งให้ผังเมืองแล้ว รวมถึง Buffer Zone และ Protection Strip เหลือรายงานมาบตาพุดที่เปิดปีใหม่ จะส่งให้ผังเมืองพิจารณา เพื่อช่วยกันหาทางแก้ไขตามมติ ครม.
- แก้กฎหมายให้ลงทุนคล่องตัว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายให้ไปพิจารณา พ.ร.บ.โรงงาน, พ.ร.บ.เครื่องจักร และ พ.ร.บ.วัตถุอันตรายว่ามีอะไรควรปรับอีกให้สอดรับกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เช่น การขนส่งข้ามแดนให้ง่าย การควบคุมกำกับต้องเป็นสากลมากขึ้น ซึ่งมีระยะเวลาทำงาน 1 ปี 6 เดือน
รวมถึงการตรวจกำกับ และโรงงานที่สร้างปัญหา เฉพาะปี 2558 มีเรื่องร้องเรียนประมาณ 1,000 โรง ส่วนที่ไปตรวจกำกับปี 2558 ประมาณ 40,000 โรง พบที่ไม่เรียบร้อยและสั่งการตามมาตรา 37 (โรงงานที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคล) ประมาณ 1,000 ราย ตามมาตรา 39 (จงใจ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ม.37) อีก 99 ราย
- กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมากขึ้น
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบายจะเพิ่มอำนาจเรื่องการกำกับดูแลโรงงานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มากขึ้นจากปัจจุบันให้พิจารณาเฉพาะโรงงานจำพวก 1 และ 2 ต่อไปจะให้อำนาจในการกำกับดูแลโรงงานที่มีขนาดแรงม้าของเครื่องจักรขนาดโดยเฉลี่ย 50 แรงม้า ซึ่งการขยับแรงม้าเครื่องจักรนี้ อาจทำได้ 2 วิธี คือ ไปแก้ประเภทของโรงงานประเภทที่ 2 หรือให้โรงงานประเภทที่ 3 มีแรงม้าต่ำกว่า (ซึ่งแนวทางการแก้กฎหมายยังไม่รู้จะทำยังไง อาจต้องไปแก้ในกฎกระทรวงบัญชี 107 ประเภท) ทั้งนี้ ต้องพิจารณาเรื่องความพร้อมของ อปท.ด้วย ถ้าพร้อม กรอ.จะไปเทรนนิ่งให้
- วางหลักเกณฑ์ป้องกันคอร์รัปชั่น
ปัจจุบันเชื่อว่าการคอร์รัปชั่นน้อยลง และมีแนวโน้มดีขึ้นมาก แม้อาจจะมองว่ามันมีช่องว่างการคอร์รัปชั่น แต่ กรอ.ไม่ใช่ผู้ประกอบการ จึงตอบไม่ได้ว่าจะไม่มีการคอร์รัปชั่นเลย แต่ในส่วนที่กระทรวงทำหลายเรื่องมีแต่คำชมจากผู้ประกอบการทั้งความเร็ว ความถูกต้อง ปัญหาเหล่านี้หากย้อนกลับไปดูประเทศที่พัฒนาแล้วใช้เวลาต่อสู้ทั้งทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม การเมือง เป็นเวลากว่า 100 ปี ประเทศไทยเช่นกัน การจะพัฒนาไปข้างหน้าไม่สามารถแก้ได้ภายในระยะสั้น ทุกอย่างต้องค่อย ๆเปลี่ยน และเป็นทิศทางบวก เพราะคนมีความรู้ มีความเข้าใจ มีความสมดุลของอำนาจมากขึ้น จะขจัดนักการเมืองคอร์รัปชั่นไปได้เอง
- โครงการโซลาร์เซลล์ค้างท่อ
สำหรับโครงการโซลาร์เซลล์ที่ยื่นคำขอไปที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)แล้วทั้งหมดปี2558 มีจำนวน 110 คำขอ หรือประมาณ 550 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุน 7,500 ล้านบาทนั้น สำหรับยอดค้างอยู่ที่ กรอ. 51 โรงนั้น ปัญหาใหญ่คือยังติดผังเมือง จึงไม่สามารถเปิดโรงงานได้ อย่างไรก็ตาม ในการประชุม ครม.เดือนหน้าคาดว่าการหยิบยกเอา ม.44 ปลดล็อกผังเมืองน่าจะมีแนวโน้มความเป็นไปได้สูง
- ผลพวงยกเลิก EIA ใช้ CoP แทน
คสช.มีนโยบายยกเลิกการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) สำหรับโครงการพลังงานความร้อนจากขยะมูลฝอยชุมชน ตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไป เพื่อให้การจัดการขยะของประเทศมีประสิทธิภาพและสามารถสำเร็จได้ตามเป้าหมาย จึงให้หน่วยงานราชการไปลดกฎระเบียบเท่าที่จะทำได้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จึงไปออกกฎหมายให้การยกเว้นว่าโครงการดังกล่าวไม่ต้องทำ EIA แต่ให้ไปทำแนวทางการจัดทำรายงานประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice : CoP)แทน ขณะนี้ กกพ.อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นเพื่อแก้กฎหมาย คาดว่าจะประกาศใช้เดือนมิถุนายน 2559