กสม.ประชุมถกเหมืองทองคำเลย ชาวบ้านข้องใจพักกิจการแต่เครื่องจักรทำงานข้ามวันข้ามคืน ผอ.สื่งแวดล้อมชี้ดินจากเหมืองเสี่ยงสารหนู (8 ม.ค. 59)

สำนักข่าวชายขอบ 8 มกราคม 2559
กสม.ประชุมถกเหมืองทองคำเลย ชาวบ้านข้องใจพักกิจการแต่เครื่องจักรทำงานข้ามวันข้ามคืน ผอ.สื่งแวดล้อมชี้ดินจากเหมืองเสี่ยงสารหนู

เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2559 ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ ได้มีประชุมคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชุมชนและฐานทรัพยากร โดยมีนางเตือนใจ ดีเทศน์ เป็นประธาน เพื่อกรณีเหมืองแร่ทองคำ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ซึ่งมีตัวแทนชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)เขต 2 อุดรธานี สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 9 อุดรธานี มูลนิธิบูรณะนิเวศ ฯลฯ เข้าร่วม ทั้งนี้ในที่ประชุมได้ให้แต่ละฝ่ายได้ชี้แจงข้อมูลในประเด็นการปรับปรุงคันกั้นเขื่อน หรือบ่อกักเก็บแร่ของเหมืองทองคำ และประเด็นอื่นๆที่ชาวบ้านร้องเรียน อาทิ กรณีที่บริษัทผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำฟ้องร้องเยาวชนจังหวัดเลย ฯลฯ
 
นายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า หลังจากชาวบ้านได้ร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดให้ตรวจสอบ กรณีที่ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำปรับปรุงบ่อกักเก็บแร่ โดยไม่ผ่านการปรึกษาชาวบ้าน อีกทั้งเร่งปรับปรุงพื้นที่ส่วนป่าไม้และที่ดินสปก. โดยไม่มีการอนุญาต ส่งผลให้เกิดการก่อมลภาวะทางเสียงรบกวนชาวบ้านนั้น ทางผู้ว่าฯได้สั่งการให้ตัวแทนอุตสาหกรรมจังหวัดเลยเข้าไปตรวจสอบแล้ว พร้อมกับชาวบ้านบางส่วน โดยเหมืองเปิดให้ดูเพียงบางพื้นที่เท่านั้น และพบว่าบ่อกักเก็บแร่นั้นแห้ง เหลือน้ำอีกนิดเดียว ชาวบ้านกังวลว่าจะมีการบำบัดน้ำเสียที่ส่งผลกระจายของเสียซึมผ่านบ่อ และเป็นการจัดการน้ำที่ไม่ได้มาตรฐาน และอาจเป็นไปได้ว่าอาจจะขุดลอกเพื่อเอาดินในบ่อมาเสริมคันเขื่อน ซึ่งเป็นการรบกวนของเสียในบ่ออาจจะส่งผลต่อสภาพแวดล้อมรอบๆได้
 
นายสุรพันธ์กล่าวว่า ขณะที่การปรับปรุงคันดินนั้นไม่แน่ใจว่ามีความคืบหน้ามากเพียงใด แต่ชาวบ้านได้ยินเครื่องจักรทำงานทั้งกลางวันและกลางคืน จึงตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใด กพร.และอุตสาหกรรม จึงปล่อยให้เหมืองดำเนินการ ทั้งๆที่ตามหลักการอยู่ระหว่างหยุดประกอบการ แต่ชาวบ้านในพื้นที่ยังได้ยินต่อเนื่อง ชาวบ้านจึงต้องการให้มีการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา กรณีการดำเนินการของบริษัทที่ประกอบการเหมืองทอง และต้องการให้มีการออกคำสั่งระงับการดำเนินการอย่างจริงจัง แล้วตรวจสอบแบบเข้มงวดให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการตรวจสอบด้วย
 
นายจารุกิตต์ เกษแก้ว ผู้อำนวยการ กพร. เขต 2 กล่าวว่า จริงๆแล้วทางเหมืองระงับการดำเนินการและถลุงแร่ตามข้อเรียกร้องแล้ว ซึ่งทางบริษัทก็ไม่มีรายได้ใดๆ แต่กรณีที่ชาวบ้านได้ยินเสียงเครื่องจักรทำงานนั้น เป็นการทำงานเพื่อรักษาเสถียรภาพของพื้นที่ ซึ่งหากปล่อยไว้เสี่ยงต่อการเสื่อมสภาพและอาจส่งผลกระทบด้านอื่น โดยมีการจัดการบ่อ แต่ไม่ได้ถมดิน หรือขนดินมาจากภายนอกเพื่อเสริมคันบ่อกักเก็บแร่ใดๆ โดยบ่อน้ำใสนั้นอยู่ระหว่างการขยายพื้นที่ ซึ่งยืนยันว่าไม่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชาวบ้าน ทั้งนี้สำหรับสภาพพื้นที่ที่ชาวบ้านเคยร้องเรียนให้ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ทางเหมืองฯก็อยู่ระหว่างดำเนินการ
 
นางสาว ส. รัตนมณี พลกล้า อนุกรรมการสิทธิฯ กล่าวว่า จากกรณีที่ชาวบ้านร้องเรียนมานั้น มีคำถามหลายอย่างชวนสงสัย อาทิ เครื่องจักรที่ทำงานที่ชาวบ้านระบุว่าส่งเสียงรบกวนและความผิดปกติในบ่อกักเก็บแร่นั้นทาง กพร.และอุตสาหกรรมจังหวัด น่าจะต้องทำความเข้าใจ หรือหารือร่วมกับชาวบ้านบ้าง ว่าเงื่อนไขการปรับปรุงนั้นมีเวลาจำกัดหรือไม่ อย่างไร แล้วหลังจากการตั้งคณะทำงานระดับจังหวัดเพื่อแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว โดยประเด็นฟื้นฟูนั้น ใครคือศูนย์กลางความรับผิดชอบ โดยเชื่อว่าไม่ใช่แค่ กพร.ฝ่ายเดียวอย่างแน่นอน แต่หลายฝ่ายต้องรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ถ้าหากหน่วยงานต่างๆมีแผนฟื้นฟูแล้วต้องแสดงต่อสาธารณะด้วย เพราะชาวบ้านมีความจำเป็นต้องรับทราบ
 
ด้านนายเฉลียว สีสง่า อำนวยการระดับสูง สำนักสิ่งแวดล้อมภาคที่ 9 อุดรธานี กล่าวว่า ที่ผ่านมาหลังจากมีข่าวร้องเรียนผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทางสำนักงานฯ ได้มีการตรวจสารสำคัญ 2 ประเภท คือ สารหนูและไซยาไนด์ พบว่าบริเวณต้นน้ำที่ห้วยผุกบริเวณเหนือเหมืองมีสารหนูต่ำกว่ามาตรฐาน แต่ในบริเวณช่วงพื้นที่ทำเหมืองพบสารหนูสูงกว่า 8 เท่า ส่วนสารหนูในช่วงใต้เหมืองนั้นก็พบว่ามีปริมาณต่ำกว่าสารหนูในพื้นที่ทำเหมือง ขณะที่สารหนูในดินนั้นกระจายอยู่ทั่วไป โอกาสไหลลงสู่แหล่งน้ำก็อาจเป็นไปได้ แต่การตรวจพบสารดังกล่าวไม่มีงานวิจัยจากใครยืนยันว่ามาจากเหมืองทองคำ
 
นายเฉลียวกล่าวว่า สามารถพูดได้ว่าการทำเหมืองมีส่วนเสี่ยงต่อการกระจายของสารหนูอยู่บ้าง เพราะเมื่อเปรียบเทียบโดยการศึกษาสารหนูในดินถมที่ 3 กลุ่ม คือ 1 กลุ่มใช้ดินจากเหมือง 2 กลุ่มใช้ดินจากข้างนอก 3 กลุ่มไม่ถมที่คือปล่อยที่ดินคงอยู่ตามปกติ พบว่ากลุ่มชาวบ้านที่ใช้ดินจากการทำเหมืองมาถมที่นั้นพบสารหนูในทุกกรณีศึกษาคือ 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกลุ่ม 2 พบเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ และกลุ่ม 3 พบสารหนูอยู่ประปรายแต่ไม่อันตราย เพราะต่ำกว่ามาตรฐาน ส่วนไซยาไนด์บริเวณเหนือเหมืองตรวจพบ 0.05 มิลลิกรัม ไหลผ่านเหมืองพบ 2 มิลลิกรัม และระดับต่ำกว่าเหมืองพบว่าไซยาไนด์ค่อยจางหายไป อาจเป็นไปได้ว่าซึมซับผ่านจากบ่อเก็บแร่สู่ภายนอก
 
อนึ่ง ข้อมูลจากเว็บไซต์องค์การอนามัยโลกระบุว่า องค์การอนามัยโลกกำหนดให้คุณภาพน้ำสำหรับการบริโภคไม่ควรมีสารหนูปนเปื้อนเกิน 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร หรือ 10 พีพีบี (6),(7) ในขณะที่ประเทศไทยโดยกรมควบคุมมลพิษ กำหนดให้คุณภาพน้ำผิวดินที่จะนำมาบริโภคที่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคและบำบัดเบื้องต้นแล้ว ต้องมีการปนเปื้อนสารหนูไม่เกิน 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตรเช่นกัน (8) แต่มาตรฐานคุณภาพน้ำบาดาลเพื่อการบริโภค คุณภาพน้ำดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิท และมาตรฐานอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์น้ำ อนุโลมให้มีสารหนูปนเปื้อนได้ถึง 0.05 มิลลิกรัมต่อลิตร (9),(10) นอกจากนี้ สารหนูไม่ได้เป็นสารหลักที่จำเป็นจะต้องมีการตรวจวิเคราะห์ และวิธีในการตรวจวิเคราะห์ตามมาตรฐานต้องใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า Atomic Absorption (8) ซึ่งมีราคาแพงมาก ใช้เวลานาน และมีเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย หรือการใช้ชุดตรวจวัดสารหนูภาคสนามก็มีราคาสูงและหาซื้อได้ยาก ทำให้การเฝ้าระวังการปนเปื้อนในน้ำดื่มเป็นไปด้วยความยากลำบาก