หวั่นมลพิษปี 59 วิกฤต จากผลกระทบเอลนีโญ กรมควบคุมมลพิษเตรียมวิธีแก้ไข-ขอความร่วมมือ ปชช. (7 ม.ค. 59)

Thai PBS 7 มกราคม 2559
หวั่นมลพิษปี 59 วิกฤต จากผลกระทบเอลนีโญ กรมควบคุมมลพิษเตรียมวิธีแก้ไข-ขอความร่วมมือ ปชช.

กรมควบคุมมลพิษ สรุปสถานการณ์มลพิษประจำปี 2558 พบภาพรวมทั้งคุณภาพน้ำ อากาศ ทั่วประเทศอยู่ในเกณฑ์พอใช้ โดย จ.สระบุรี มีปัญหาด้านมลพิษทางอากาศมากที่สุด พื้นที่อ่าวไทยตอนในเสื่อมโทรมต่อเนื่อง หวั่นปีนี้มลพิษทางน้ำ-อากาศวิกฤต เหตุอากาศแล้งต่อเนื่องจากเอลนีโญ

วันนี้ (7 ม.ค.2559) ที่กรมควบคุมมลพิษ นายวิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า กังวลและเป็นห่วงต่อสถานการณ์มลพิษที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในปีนี้ โดยเฉพาะมลพิษทางน้ำ เนื่องจากปริมาณน้ำที่น้อยลง เพราะอากาศแล้งกว่าปกติ ซึ่งเป็นผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญต่อเนื่อง ทำให้น้ำเสียที่ปล่อยลงแหล่งน้ำสาธารณะมีความเข้มข้นมากขึ้น กรมควบคุมมลพิษจึงเน้นแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้น ด้วยการนำน้ำเสียมาบำบัดก่อนก่อนปล่อย ซึ่งขอความร่วมมือจากประชาชนในจุดนี้ด้วย

นายวิจารย์ กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของมลพิษทางอากาศ ยังคงเฝ้าระวังใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เกี่ยวกับเรื่องจุดความร้อน (Hot Spot) ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าดูแลและรณรงค์ให้มีจุดความร้อนไม่เกิน 70,000 จุด โดยเป็นระดับที่กรมควบคุมมลพิษควบคุมสถานการณ์ได้ แต่ถ้าเกินกว่านี้ต้องวางแผนรับมือเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี เรื่องปัญหาหมอกควันจากจุดความร้อนในประเทศเพื่อนบ้านที่ติดกับไทย จะมีการประชุมหารือกันในเดือน ก.พ.-มี.ค. 2559 เบื้องต้นไทยให้ความช่วยเหลือติดตั้งสถานีวัดอากาศที่ประเทศลาวเพื่อเฝ้าระวัง ขณะที่ประเทศเมียนมาและประเทศกัมพูชา ทำเรื่องขอความร่วมมือให้ไทยเข้าติดตั้งสถานีวันอากาศเช่นกัน

“ในส่วนของขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่กังวลทั้งจากคอมพิวเตอร์ มือถือที่ใช้คลื่นสัญญาณ 2จี และ 3จี หรือแม้แต่ โทรทัศน์รุ่นเก่า รอร่าง พ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ... (ฉบับปรับปรุงแก้ไข) ซึ่งอยู่ในขั้นตอนพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งถ้าประกาศใช้ก็จะมีแผนแม่บทจัดการในเรื่องนี้ โดยผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายต้องรับผิดชอบร่วมกันในการจัดศูนย์เรียกคืนและกำจัดขยะดังกล่าวอย่างถูกกฎหมาย ขณะที่ขยะชุมชนทั่วประเทศปริมาณปีนี้อยู่ที่ 26.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ถึงร้อยละ 3 หรือเฉลี่ยคนไทยผลิตขยะวันละ 1.13 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน” อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ระบุ

นอกจากนี้ นายวิจารย์ ยังแถลงสถานการณ์มลพิษประเทศไทยประจำปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่สภาพอากาศแห้งแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ และได้รับผลกระทบจากหมอกควันข้ามแดนจากปัญหาเผาป่าพรุในประเทศอินโดนีเซีย

สถานการณ์คุณภาพอากาศ
ผลการจรวจวัดคุณภาพอากาศใน 29 จังหวัด พบว่า จ.สระบุรี มีจำนวนวันที่มีมลพิษทางอากาศเกินค่ามาตรฐานมากที่สุด 150 วัน รองลงมาคือ จ.ลำปาง 89 วัน จ.สมุทรปราการ 81 วัน กรุงเทพมหานคร 74 วัน และขอนแก่น 70 วัน ซึ่งมลพิษที่เป็นปัญหาสำคัญคือ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมคอน และก๊าซโอโซน

สถานการณ์คุณภาพน้ำ
จากการประเมินคุณภาพน้ำ โดยใช้ดัชนีคุณภาพแห่งน้ำผิวดิน (Water Quality Index : WQI) พบว่า คุณภาพแหล่งน้ำผิวดินส่วนใหญ่ร้อยละ 43 อยู่ในเกณฑ์พอใช้ อยู่ในเกณฑ์ดีร้อยละ 31 และเกณฑ์เสื่อมโทรมร้อยละ 26 โดยแหล่งน้ำภาคเหนือมีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ดีกว่าภาคอื่น ๆ ขณะที่ แม่น้ำตาปีตอนบน มีคุณภาพน้ำดีที่สุด ส่วนแหล่งน้ำที่มีคุณภาพเสื่อมโทรมอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ แม่น้ำกวง ลำตะคองตอนล่าง แม่น้ำระยองตอนล่าง แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน แม่น้ำท่าจีนตอนกลางและล่าง และแม่น้ำเพชรบุรีตอนล่าง เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านการลงทุนระบบบำบัดน้ำเสีย

ด้านการตรวจสอบการระบายน้ำทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษ 1,392 แห่ง พบไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย 404 แห่ง ส่วนสถานการณ์ชายฝั่งทะเล พบว่าคุณภาพน้ำทะเลส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์พอใช้ร้อยละ 72 เสื่อมโทรมร้อยละ 9 เสื่อมโทรมมากร้อยละ 3 ขณะที่บริเวณอ่าวไทยตอนในมีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมที่สุด เพราะได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำเสียจากแม่น้ำสายหลัก และชุมชนที่รุกล้ำชายฝั่งทะเล

สถานการณ์การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย
จากการขับเคลื่อนกำจัดขยะมูลฝอยตามโรดแมปวาระแห่งชาติในปี 2557 พบว่า ปี 2558 มีขยะมูลฝอยชุมชนเกิดขึ้น 26.9 ล้านตัน ได้รับการเก็บขนกำจัดถูกต้อง 8.4 ล้านตัน กำจัดไม่ถูกต้อง 7.09 ล้านตัน ส่วนของเสียอันตรายชุมชนเกิดขึ้น 591,127 ตัน เพิ่มจากปี 2557 จำนวน 14,811 ตัน แบ่งเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ 384,233 ตัน เช่นเดียวกับขยะติดเชื้อเกิดขึ้น 5,400 ตัน เพิ่มจากปี 2557 จำนวน 200 ตัน พบเป็นกากอุตสาหกรรม 37.4 ตัน

เหตุฉุกเฉินและอุบัติภัยด้านมลพิษ
ตลอดทั้งปี 2558 เกิดเหตุฉุกเฉินและอุบัติภัยด้านมลพิษ 32 ครั้ง เกิดจากโรงงานและโกดังเก็บสารเคมีมากสุด 15 ครั้ง เหตุเกิดที่ จ.ชลบุรีมากที่สุด รวมถึงพบการลักลอบทิ้งกากของเสีย 4 ครั้ง ขนสารเคมี 1 ครั้ง นอกจากนี้กรมควบคุมมลพิษได้รับการร้องเรียนปัญหามลพิษ 420 เรื่อง พบปัญหามลพิษทางอากาศ กลิ่นเหม็นร้อยละ 41 ปัญหาเสียงดัง เขม่าควัน และฝุ่นละอองร้อยละ 22