ปี 58 กพร.สั่งปิดเหมือง 200 แห่ง เหตุมาตรการดูแลสิ่งแวดล้อมมีปัญหา (1 ม.ค. 59)
Green News TV 1 มกราคม 2559
ปี 58 กพร.สั่งปิดเหมือง 200 แห่ง เหตุมาตรการดูแลสิ่งแวดล้อมมีปัญหา
อธิบดี กพร. เปิดเผยสถิติการดำเนินการปิดเหมืองแร่ปี 2558 พบ 200 แห่ง จาก 600 แห่งทั่วประเทศ จ่อแก้กฎหมายเพิ่มโทษ
หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 28-30 ธ.ค.2558 เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของ นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ถึงคำสั่งการปิดเหมือง 200 แห่ง จาก 600 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้ปรับปรุงแก้ไขด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
นายชาติ กล่าวกับประชาชาติธุรกิจว่า ปัญหาส่วนใหญ่ที่ กพร.พบเป็นเหมืองหินประมาณ 50% นอกจากนั้นเป็นเหมืองยิปซัม โดย กพร.จะลงพื้นที่ตรวจสอบผลการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง หากพบว่ารายใดไม่เร่งแก้ปัญหาภายใน 30 วัน นับจากวันที่มีคำสั่ง กพร.จะลงโทษตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 โทษปรับ 2,000-1 หมื่นบาท/ครั้ง และหากยังไม่ปฏิบัติตาม จะดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการเหมืองแร่
“ขณะนี้อยู่ระหว่างแก้กฎหมายเพิ่มบทลงโทษ ปรับสูงสุดเพิ่มเป็น 3 แสนบาทต่อครั้ง รวมถึงโทษทางปกครองด้วย”นายชาติ กล่าว
นายชาติ กล่าวว่า สถานการณ์ปี 2557 พบว่ามีเหมืองที่ถูกสั่งให้แก้ไขเรื่องสิ่งแวดล้อมประมาณ 50-60 แห่ง แต่ปี 2558 กลับเพิ่มขึ้นถึง 200 แห่ง และยังมีคำสั่งปิดดำเนินการชั่วคราวบางแปลงไปจำนวน 1 แห่ง คือ เหมืองทองชาตรี หรือบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)
นายชาติ กล่าวอีกว่า แม้ว่าหลักเกณฑ์ กพร.จะป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งกายภาพ ชีวภาพ สังคม แต่ต้องยอมรับว่าในข้อเท็จจริงผู้ประกอบการอาจไม่ได้ทำครบถ้วนสมบูรณ์ จึงก่อให้เกิดผลกระทบขึ้นบางส่วน จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานกำกับดูแลหมืองอย่างเข้มงวด ให้เป็นไปตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อม
“หากพบว่ามีการกระทำผิดเรื่องใดก็ตาม ให้ดำเนินการตามกฎหมายทันที หากหน่วยงานใดไม่ให้ความร่วมมือให้ส่งเรื่องมายังส่วนกลาง ซึ่งจะใช้อำนาจในการสั่งการโดยทันที สามารถเอาผิดเจ้าหน้าที่ได้ แต่ต้องประเมินผลการกระทำก่อน เพื่อพิจารณาว่าจะโยกย้ายอย่างไร”นายชาติ กล่าว