กนอ.เร่งจัดหาแหล่งน้ำบาดาลสำรองรับมือภัยแล้ง (28 ม.ค. 59)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 28 มกราคม 2559
กนอ.เร่งจัดหาแหล่งน้ำบาดาลสำรองรับมือภัยแล้ง
กนอ.เตรียมจัดหาแหล่งน้ำบาดาลสำรองภาคอุตสาหกรรมรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง มั่นใจผู้ประกอบการในนิคมฯมีน้ำใช้เพียงพอ
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้ง ในปี 2559 นี้ คาดการณ์ว่าจะเกิดสภาวะแห้งแล้งมากกว่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณฝนทิ้งช่วง ทำให้น้ำในแม่น้ำหลายสายที่เป็นแม่น้ำสายหลักป้อนน้ำเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมมีปริมาณน้ำน้อยกว่าทุกปี โดย กนอ.ได้เตรียม 3 มาตรการ รับมือกับสถานการณ์ภัยแล้ง คือ 1.มาตรการการนำน้ำที่ใช้แล้วมาใช้ใหม่ หรือรีไซเคิล 2.มาตรการการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลสำรอง 3.มาตรการการนำน้ำจากแหล่งพื้นที่ใกล้เคียงมาเสริมให้กับนิคมอุตสาหกรรมต่างๆเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนโดยเฉพาะนิคมฯต่างๆในภาคเหนือ และภาคกลางมีน้ำใช้ภาคการผลิตอย่างเพียงพอในช่วงหน้าร้อนมีนาคม-เมษายน 2559 นี้
ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรม ภาคเหนือ จังหวัด ลำพูน นับว่ามีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมากกว่าพื้นที่อื่น เนื่องจากนิคมฯใช้น้ำจากแม่น้ำกวง ซึ่งรับน้ำมาจากอ่างเก็บน้ำแม่งัดที่ปัจจุบันเหลือปริมาณน้ำในอ่างไม่ถึง 20% ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสำรอง มีเพียง 400,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยความต้องการใช้น้ำของนิคมฯ ดังกล่าว จะใช้น้ำปริมาณสูงกว่า 60,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน จากจำนวนสถานประกอบการ 75 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นเป็นนักลงทุนญี่ปุ่น จำนวน 30 ราย
ล่าสุด กนอ. นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายสุนทร คุณชัยมัง ประจำสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมประชุมรับฟังการเตรียมการรับมือภัยแล้งและติดตามสถานการณ์น้ำในนิคมฯ ภาคเหนือ และสรุปการเตรียมความพร้อมรองรับภัยแล้งเฉพาะนิคมฯ ภาคเหนือ ทั้ง 1.การรักษาปริมาณน้ำสำรองให้เต็มความจุอ่างน้ำดิบที่ 400,000 ล้านลูกบาศก์เมตร 2.สูบน้ำดิบจากแม่กวงได้วันละ 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยคาดว่าสูบได้ถึงสิ้นเดือนมกราคม 2559 3.จัดให้มี Forum แลกเปลี่ยนเรียนรู้การประหยัดการใช้น้ำประปาโดยไม่ลดกำลังการผลิตของโรงงานที่ใช้น้ำในระดับ Top Ten 4.เริ่มใช้ระบบ Reuse เพื่อนำน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วมาเก็บไว้ในอ่างน้ำดิบ 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน ผลิตเป็นน้ำประปา การพัฒนาน้ำบาดาลสำหรับเป็นแหล่งน้ำสำรอง
นอกจากนั้น กนอ. ได้ประสานกรมทรัพยากรน้ำบาดาลดำเนินการสำรวจและขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเห็นควรสำรวจและขุดเจาะบ่อบาดาล จำนวน 1 บ่อในเบื้องต้น เพื่อให้ทราบปริมาณน้ำที่ได้ ความคืบหน้าในการขุดเจาะบ่อบาดาล ณ วันที่ 17 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา สามารถเจาะได้ที่ระดับความลึกเป้าหมาย 300 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 10 นิ้ว ซึ่งจะต้องขยายขนาดเป็น 15 นิ้วก่อนที่จะสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ได้ต่อไปโดย กนอ.กำหนดเป้าหมายให้สามารถเริ่มสูบน้ำบาดาลมาเก็บไว้ในอ่างน้ำดิบได้ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นไป ซึ่งขณะนี้ กนอ. อยู่ระหว่างทำสัญญาซื้อน้ำดิบจากบ่อเอกชนในบริเวณใกล้เคียง ปริมาณรวม 300,000 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถส่งน้ำดิบให้นิคมฯ ภาคเหนือ ภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559