ก.พลังงานตอบโจทย์ ครม. เพิ่ม "จ้างผลิต" สำรวจปิโตรเลียมรอบ 21 (31 ธ.ค. 58)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 31 ธันวาคม 2558
ก.พลังงานตอบโจทย์ ครม. เพิ่ม "จ้างผลิต" สำรวจปิโตรเลียมรอบ 21
ในการแถลงผลงานประจำปีของกระทรวงพลังงานเมื่อเร็ว ๆ นี้ แม้จะมีภารกิจที่สำเร็จลุล่วงไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการกำกับดูแลราคาพลังงาน/ค่าไฟฟ้า การเปิดเสรีธุรกิจพลังงานไปจนกระทั่งถึง โครงการวางท่อส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือ แต่การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 กลับเป็นภารกิจที่กระทรวงพลังงานถูกสาธารณชนจับต้องมากที่สุด เพราะตลอด 1 ปีที่ผ่านมาการแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียมฉบับใหม่ยังเป็นได้แค่ "ร่าง" ที่มีข้อโต้แย้งทั้งจากภาคประชาสังคม (NFO) และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องอยู่
ทั้งนี้ ในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับปรับปรุงแก้ไขครั้งล่าสุด กระทรวงพลังงานได้กำหนดรูปแบบการเปิดให้สิทธิเพื่อการสำรวจปิโตรเลียมไว้ 2 รูปแบบคือ 1) ระบบสัมปทาน ยังคงใช้รูปแบบเดิมที่ใช้ในปัจจุบัน และ 2) ระบบแบ่งปันผลผลิต หรือ PSC (Production Sharing Contract) โดยร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับนี้ได้ผ่านการตรวจสอบรายละเอียดโดยสำนักงานคณะกรรมการ กฤษฎีกาไปแล้ว แต่เมื่อกระทรวงพลังงานนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้ง ปรากฏยังมีข้อท้วงติงจาก ครม.ได้สั่งการให้กระทรวงพลังงานกลับไปแก้ไขปรับปรุงรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับความเห็นจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ภายใต้หลักการที่ว่า ทรัพยากรของชาติจะต้องถูกนำขึ้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด
นายวีรศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวถึงประเด็นที่กระทรวงพลังงานกำลังปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ด้วยการ "เพิ่มรูปแบบ" ในการเปิดให้สิทธิเพื่อการสำรวจปิโตรเลียมด้วยนิยาม "การจ้างผลิต" เข้าไปเป็นรูปแบบที่สาม เมื่อผ่านขั้นตอนทางกฎหมายแล้ว กระทรวงพลังงานก็จะเสนอร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อใช้ในการเลือกรูปแบบการเปิดให้สิทธิเพื่อสำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 21 หลังจากนั้นต้องนำร่างยังต้องเข้าหารือในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และเข้าที่ประชุม ครม.อีกครั้ง คาดว่าขั้นตอนในการผ่านร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับปรับปรุงแก้ไขใหม่อาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน ฉะนั้นคาดว่า ในปี 2559 น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่กระทรวงพลังงานต้องรอขั้นตอนทางกฎหมายในเรื่องของรูปแบบการเปิดให้ สิทธิเพื่อการสำรวจ (สัมปทาน-ระบบแบ่งปันผลผลิต-การจ้างผลิต) นั้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะต้องดำเนินการศึกษารายละเอียดในเชิงลึกเกี่ยวกับแนว ปฏิบัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการตัดสินใจของ กพช.ด้วย โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านปิโตรเลียมเป็นผู้ศึกษา
"หลักการในการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบนี้เราต้องคำนึงด้วยว่าสามารถจูงใจนักลงทุนหรือไม่ ในความเป็นจริงระบบ PSC กับสัญญาจ้างผลิตมันคือวิธีการเดียวกัน เพียงแต่แตกแขนงออกมาเท่านั้น กล่าวคือต้องแบ่งผลประโยชน์ระหว่างรัฐ-เอกชนอย่างน้อยที่ 50 : 50 และยังต้องต่อรองกันอีก ส่วนรายละเอียดที่ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น ไปนั้น กรมเชื้อเพลิงจะนำมากำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติม แต่บางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องแก้ไข โดยอายุสัมปทานรอบนี้ก็ยังเหมือนเดิมคือ 20 ปีเท่านั้น" นายวีรศักดิ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่า กระทรวงพลังงานต้องการเร่งเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ทันที เนื่องจากแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ผลิตอยู่ในปัจจุบันจะเหลือใช้ไม่เกิน 7 ปี ในกรณีที่ไม่มีการสำรวจปิโตรเลียมแหล่งใหม่เพิ่มเติม แต่ภายใต้สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบที่ลดลงมาเฉลี่ยที่ 31-32 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และในปี 2559 อาจมีแนวโน้มลดลงได้อีกนั้น ได้เกิดคำถามขึ้นมาว่า ประเทศไทยยังมีความจำเป็นต้องเร่งเปิดสัมปทานปิโตรเลียมอีกหรือไม่นั้น ในประเด็นนี้นายวีรศักดิ์กล่าวว่า กระทรวงพลังงานต้องการให้แยกระหว่าง "การผลิต" กับ "การสำรวจ" ปิโตรเลียมออกจากกัน เนื่องจากในขั้นตอนการสำรวจปิโตรเลียมกว่าจะเริ่มนับหนึ่งเพื่อผลิตเชิง พาณิชย์จะต้องใช้เวลารวม 10 ปี และแม้ว่าจะเปิดสัมปทานไปแล้ว แต่ผู้ได้รับสิทธิให้สำรวจและผลิตก็ยังสามารถเลือก "หยุดผลิต" ได้ หากเห็นว่า ราคาปิโตรเลียมในช่วงนั้น ๆ ไม่คุ้มทุนที่จะผลิต โดยสถานการณ์การขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่อ่าวไทยภายใต้
โจทย์ที่ราคาน้ำมันดิบลดลงต่อเนื่องแบบนี้ ผู้ประกอบการหลายรายเลือกที่จะชะลอการเจาะหลุมเพิ่ม อย่างเช่น บริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตได้แจ้งขอลดการขุดเจาะหลุมเพิ่มรวมถึง แหล่งอื่น ๆ ด้วย แต่จะไม่กระทบต่อการใช้ก๊าซธรรมชาติภาพรวมภายในประเทศ เนื่องจากปริมาณที่ปรับลดลงส่วนใหญ่จะมาจากการสั่งซื้อเพิ่มจากปริมาณก๊าซ ปกติที่ผู้ขายต้องส่งมอบตามสัญญาซื้อขายในแต่ละวันหรือที่ระดับ DCQ (Daily Contract Quantity)
ส่วนสัมปทานปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดอายุลงและ อยู่ในช่วงการเจรจาต่ออายุสัมปทานนั้น กระทรวงพลังงานจะนำผลการพิจารณารูปแบบในการเปิดสัมปทานรอบที่ 21มาประกอบการพิจารณาเจรจาต่ออายุสัมปทานด้วย คาดว่ารายละเอียดในส่วนนี้จะแล้วเสร็จในช่วงเดือนพฤษภาคม 2559