ร่มหลากสี! ร่วมขบวนรณรงค์กลางฝน "คนปากชม" ค้านขอประทานบัตรเหมืองถ่านหิน (7 ก.ค.59)
Citizen Thai PBS 7 กรกฎาคม 2559
ร่มหลากสี! ร่วมขบวนรณรงค์กลางฝน ‘คนปากชม’ ค้านขอประทานบัตรทำเหมืองถ่านหิน
6 ก.ค. 2559 เวลาประมาณ 9.00 น. ชาวบ้าน ต.เชียงกลม อ.ปากชม จ.เลย รวมตัวรณรงค์บริเวณทางเข้าหมู่บ้านสาธร หมู่ 10 และหมู่บ้านคอนสา หมู่ 4 เพื่อคัดค้านการยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ถ่านหินของ หจก.ไทยเจริญไมนิ่ง และบริษัท ซี.เอส.เอ็น ไมนิ่ง จำกัด ซึ่งได้เริ่มเข้ามาสำรวจแร่ถ่านหินตามอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ถ่านหินในพื้นที่เมื่อประมาณเดือน ส.ค. 2557
การรณรงค์ในวันนี้เกิดขึ้นเนื่องจากบริษัททั้ง 2 ซึ่งเป็นบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่คนเดียวกันได้ทำการยื่นคำขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ถ่านหินในบริเวณที่ดินทำกินของชาวบ้าน 2 หมู่บ้าน โดย หจก.ไทยเจริญไมนิ่งอยู่ระหว่างดำเนินการรังวัดกำหนดเขตคำขอประทานบัตรแปลงที่หนึ่งประมาณ 300 ไร่ ด้วยการเข้ามาทำการจับพิกัดตำแหน่งและขอบเขตและนำเสาคอนกรีตและแท่งเหล็กหล่อปูนฝังลงไปในที่ดินทำกินของชาวบ้านจำนวนอย่างน้อย 40 ราย ที่สำรวจพบโดยพลการ ไม่แจ้งการเข้ามาในที่ดินทำกินของชาวบ้านให้ทราบ
การรังวัดกำหนดเขตดังกล่าว อ้างตามคำขอประทานบัตรแปลงที่หนึ่งจากทั้งหมด 4 แปลงที่ หจก. ได้ยื่นคำขอประทานบัตรไว้กับอุตสาหกรรมจังหวัดเลย
เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความตื่นตัวและตื่นกลัวให้กับชาวบ้าน เหตุที่ตื่นตัวก็เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการบุกรุกที่ดินทำกินของชาวบ้านอย่างชัดเจน และเกรงว่าหากไม่หยุดยั้งไว้ก็จะเกิดการเข้ามาทำการรังวัดกำหนดเขตคำขอประทานบัตรแปลงที่ 2 3 และ 4 บนที่ดินทำกินชาวบ้านโดยไม่แจ้งให้ทราบอีก และมีข้อสงสัยว่าการเข้ามารังวัดกำหนดเขตคำขอประทานบัตรของบริษัทในครั้งนี้กำนันผู้ใหญ่บ้านรับรู้หรือไม่ หรือรับรู้แต่ไม่ยอมแจ้งให้ชาวบ้านทราบ
เหตุที่ตื่นกลัวก็เพราะมีการข่มขู่ชาวบ้านว่าที่ดินทำกินของชาวบ้านที่ หจก.ไทยเจริญไมนิ่งเข้ามาทำการรังวัดกำหนดเขตคำขอประทานบัตรนั้นชาวบ้านไม่มีสิทธิ์ในที่ดินทำกิน เพราะเป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าภูเขาแก้ว-ดงปากชม หากชาวบ้านไปร้องเรียนว่า หจก.ไทยเจริญไมนิ่งเข้ามารังวัดฯ โดยบุกรุกที่ดินทำกินของชาวบ้าน หจก. ก็จะถูกเรียนต่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้เช่นเดียวกันว่าชาวบ้านบุกรุกที่ดินป่าสงวนฯ
ทั้ง ๆ ที่ที่ดินทำกินของชาวบ้านทั้ง 2 หมู่บ้านได้ถูกกันเขตออกจากป่าสงวนแห่งชาติป่าภูเขาแก้ว-ดงปากชมให้เป็นที่ดินทำกินของชาวบ้านทั้ง 2 หมู่บ้านแล้วตั้งแต่ปี 2552 แต่เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่รู้สิทธิตัวเองและกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าวจึงทำให้ชาวบ้านหวาดกลัว เพราะกลัวว่าเจ้าหน้าที่ป่าไม้จะมายึดที่ดินทำกินไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขบวนรณรงค์ของชาวบ้านประมาณ 500 คน ตั้งแถวยาวประมาณ 150 เมตรบนถนนหนึ่งเลน อีกหนึ่งเลนเปิดทางจราจรไว้ให้รถสัญจรไปมา โดยมีเจ้าหน้าที่ อปพร. จากเทศบาลตำบลคอนสาคอยอำนวยความสะดวก
ในขบวนรณรงค์ตั้งแต่ทางเข้าหมู่บ้านไปจนถึงวัดโนนสว่าง บ้านคอนสา หมู่ 10 ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1 ชั้วโมงครึ่งเคลื่อนตัวไปอย่างช้า ๆ แต่เต็มไปด้วยความคึกคัก ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านของทั้ง 2 หมู่บ้าน ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยพืชเศรษฐกิจที่เป็นรายได้หลักหล่อเลี้ยงครอบครัวและชุมชนก็มียางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แก้วมังกร นอกจากนี้ยังมีเด็กนักเรียนจากโรงเรียนบ้านคอนสามาร่วมเดินรณรงค์ในครั้งนี้ด้วย
เมื่อขบวนเคลื่อนมาถึงในบริเวณลานหน้าศาลาวัดโนนสว่างชาวบ้านได้ตั้งขบวนล้อมเป็นวงกลมเพื่อตะโกนขับไล่เหมืองแร่ออกไปจากหมู่บ้าน หลังจากนั้นก็มีการปราศรัยและประชุมให้ข้อมูลเกี่ยวกับการยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ถ่านหินครั้งนี้จากนักกิจกรรมทางสังคมและชาวบ้านจากตำบลเขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ที่ต่อสู้คัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และให้ข้อมูลด้วย
ส่วนข้อมูลสำคัญที่มีการประชุมแลกเปลี่ยนในวันนี้ อาทิ การที่ผู้ใหญ่บ้าน พนักงานจาก หจก.ไทยเจริญไมนิ่ง และอุตสาหกรรมจังหวัดเลย ได้ให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนเชิงข่มขู่กับชาวบ้านเกี่ยวกับเขตแหล่งแร่ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2534 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ หจก.ไทยเจริญไมนิ่งยื่นคำขอประทานบัตรทั้ง 4 แปลงไว้ว่า เขตแหล่งแร่ตามมติ ครม. ดังกล่าวได้อนุญาตให้หน่วยงานรัฐและ หจก.ไทยเจริญไมนิ่งใช้พื้นที่ทำเหมืองแร่แล้ว เพราะถือเสมือนว่าได้เฉือนหรือกันพื้นที่เขตแหล่งแร่ตามมติ ครม. ดังกล่าวออกจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูเขาแก้ว-ดงปากชมแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องอนุญาตหรือแจ้งให้ทราบว่าได้เข้าไปรังวัดกำหนดเขตคำขอประทานบัตรในพื้นที่ที่ชาวบ้านถือครองใช้ประโยชน์เป็นที่ดินทำกินอีกต่อไป
แต่ข้อเท็จจริงที่รับทราบจากการประชุมในวันนี้ก็คือ เขตแหล่งแร่ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2534 มีสถานะเพียงแค่ให้กรมทรัพยากรธรณี หรือปัจจุบันคือกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ดำเนินการสำรวจแหล่งแร่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ประเภทต่าง ๆ และจัดทำเป็นเขตแหล่งแร่เอาไว้สำหรับเปิดให้เอกชนเข้ามาขอสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ในเวลาต่อไป ซึ่งการขอสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ยังคงต้องดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายสงวนหวงห้ามการใช้พื้นที่ป่าอนุรักษ์ประเภทต่าง ๆ อยู่เช่นเดิม ไม่ใช่ประกาศเขตแหล่งแร่เพื่อยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายในการอนุญาตขอใช้พื้นที่แต่อย่างใด
ชาวบ้านยังมีความห่วงกังวลด้วยว่า ขั้นตอนต่อจากนี้ไปจะถูกปิดเงียบและบิดเบือนข้อมูล เช่น จะต้องมีการปิดประกาศเขตคำขอประทานบัตรให้ชาวบ้านค้านภายใน 20 วัน การจัดทำรายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรซึ่งต้องระบุพื้นที่ที่เป็นที่ดินทำกินของชาวบ้านและห้วยน้ำลำธารเอาไว้ในรายงานฯ ดังกล่าวจะถูกบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง
เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นแล้วกับการยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำที่ภูทับฟ้า-ภูซำป่าบอน ที่หมู่บ้านนาหนองบง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ที่เจ้าหน้าที่รังวัดจากอุตสาหกรรมจังหวัดเลยและผู้นำชุมชนไต่สวนเท็จว่าไม่พบห้วยน้ำลำธารซึ่งเป็นสาขาของลำห้วยเหล็ก ลำห้วยฮวย ในพื้นที่บนภูทับฟ้า-ภูซำป่าบอนแต่อย่างใด
และการขอใช้พื้นที่ป่าสงวนฯ ตาม ‘ระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2548’ และ ‘กฎกระทรวงว่าด้วยการขออนุญาตและการอนุญาตในเขตป่า พ.ศ. 2558’ ว่าจะต้องได้รับความเห็นชอบจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและบันทึกยินยอมไม่มีปัญหาขัดแย้งกับราษฎร โดยการทำประชาคมหมู่บ้านเสียก่อน ซึ่งเกรงว่าอาจเกิดการจัดทำเอกสารเท็จขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การประชุมพูดคุยกันในวันนี้ มีการพูดถึงข้อมูลการจดทะเบียนของบริษัททั้ง 2 ที่พบว่าข้อมูลจดทะเบียนบริษัทกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หจก.ไทยเจริญไมนิ่ง และบริษัท ซี.เอส.เอ็น ไมนิ่ง จำกัด มีทุนจดทะเบียนเพียงแค่บริษัทละ 1 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งสร้างความเคลือบแคลงสงสัยต่อชาวบ้านมากยิ่งขึ้นไปอีกว่าบริษัททั้ง 2 คงไม่มีศักยภาพที่จะทำเหมืองถ่านหินได้ด้วยตนเองอย่างแน่นอน น่าจะเป็นบริษัทที่เข้ามาดำเนินการยื่นคำขอประทานบัตร เมื่อได้ประทานบัตรแล้วน่าจะขายประทานบัตรให้กับบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนรายใหญ่อื่นมากกว่า
การเดินรณรงค์และจัดประชุมให้ความรู้ ข้อมูลและแลกเปลี่ยนประสบการณ์จบลงที่เวลา 12.30 น. ด้วยความสงบเรียบร้อย และมีมติของชาวบ้านว่าให้ผู้นำชุมชนทั้ง 2 หมู่บ้านไปประสานงานกับ หจก.ไทยเจริญไมนิ่งให้มาเอาโต๊ะ เก้าอี้ แก้วน้ำ เต็นท์สนาม ลำโพง และของบริจาคอื่นที่ หจก.ไทยเจริญไมนิ่งบริจาคให้หมู่บ้านเมื่อกลางเดือนที่แล้วกลับไปให้หมด
นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงร่วมกันว่าให้เวลา 1 สัปดาห์แก่ หจก.ไทยเจริญไมนิ่งและอุตสาหกรรมจังหวัดเลยถอนเสาคอนกรีตและแท่งเหล็กหล่อปูนที่ฝังลงไปในที่ดินทำกินของชาวบ้านออกไปให้หมด มิฉะนั้นจะรวมตัวกันเคลื่อนขบวนไปพบนายอำเภอปากชม ณ ที่อำเภอปากชม เพื่อให้ได้รับการแก้ไขปัญหา