พนง.เหมืองทองยื่นหนังสือจี้สธ.เผยแพร่ข้อมูลสุขภาพ (5 ก.ค. 59)

ไทยรัฐออนไลน์ 5 กรกฎาคม 2559
พนง.เหมืองทองยื่นหนังสือจี้สธ.เผยแพร่ข้อมูลสุขภาพ

เมื่อตอนสายวันที่ 4 ก.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายยุทธ ศรีทองสุข ตัวแทนเครือข่ายพนักงาน บมจ.อัครา รีซอร์สเซส และบริษัทโลตัสออล วิศวกรรมเหมืองแร่และก่อสร้างจำกัด จำนวนกว่า 40 คน เดินทางมายื่นจดหมายเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชนรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรี นายยุทธ เปิดเผยว่า เนื่องจากปัจจุบัน มีการนำข้อมูลเท็จจากหลายแหล่งที่มาใช้กระจายทั้งในชุมชนและในสื่อหลายช่องทาง ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด สร้างความวิตกกังวลในสังคม ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างคุณภาพ น้ำประปา ปริมาณสารต่างๆ ในพืชผัก ดิน ฝุ่นอย่างต่อเนื่อง โดยไม่พบการปนเปื้อนของสารหนูและโลหะมีพิษในน้ำประปาและพืชผักแต่อย่างใดยกเว้นเหล็กและแมงกานีสซึ่งพบได้ทั่วไปในหลายพื้นที่ของประเทศ แต่กลับไม่มีการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ
 
นายยุทธ กล่าวอีกว่า จึงขอเร่งรัดให้เปิดเผยข้อมูลการตรวจวัดทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ได้รับทราบข้อเท็จจริง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องคลายความกังวล และสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ เพื่อให้บริษัทฯ และหน่วยงานรัฐอื่นๆ นำข้อมูลไปดำเนินการให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชาวบ้านในชุมชนรอบเหมืองต่อไปได้ “การได้รับสารโลหะหนักปริมาณใดถึงจะถือว่าเป็นผู้ป่วย เนื่องจากมีข้อมูลทางด้านพิษวิทยาที่ถูกนำเสนอโดยนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวเวชศาสตร์ว่าการตรวจหาสารโลหะหนักในเลือดหรือปัสสาวะเป็นการตรวจหาการสัมผัสเท่านั้น ไม่ใช่การตรวจสุขภาพ และไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นผู้ป่วย การที่ชาวบ้านมีสารหนูและแมงกานีสในร่างกายเกินเกณฑ์มาตรฐานนั้นเกิดจากสาเหตุใด แตกต่างอย่างไรจากพื้นที่อื่นๆ ที่อยู่ไกลจากพื้นที่เหมืองแร่ทองคำชาตรี”
 
ทางเครือข่ายฯ ขอเรียกร้องให้นำข้อมูลการตรวจสุขภาพตามมาตรการ EHIA ที่ บมจ.อัคราฯ จัดตรวจให้กับประชาชนโดยนำส่งผลการตรวจเลือดและปัสสาวะจากห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ รพ.รามาธิบดีมาใช้พิจารณา ในคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ปัญหาข้อขัดแย้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทอัคราฯ ทั้ง 2 ชุด ร่วมกับผลการตรวจของกระทรวงสาธารณสุขและของมหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อให้เกิดการพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้าน โปร่งใส และเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ทั้งนี้ยังได้นำเอกสารอ้างอิงกว่า 20 รายการมาแสดง อาทิ ข้อมูลผลวิเคราะห์น้ำพื้นที่รอบเหมืองของกรมอนามัย ข้อมูลคุณภาพน้ำจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เอกสารสรุปข้อมูลผลวิเคราะห์พืชผักรอบเหมืองของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 นครสวรรค์
 
รายงานปัจจัยที่มีผลกระทบต่อระดับ แมงกานีสในเลือดของบุคลากร รพ.ระยอง ผลสรุปผลการเฝ้าระวังและดูแลสุขภาพประชาชนรอบเหมืองทองคำของกรมควบคุมโรค สรุปผลการดำเนินงาน การเฝ้าระวังและดูแลสุขภาพประชาชนรอบเหมืองทองคำโดย นพ.ไชยนันท์ ทยาวิวัฒน์และงานความเห็นเกี่ยวกับการตรวจเลือดและปัสสาวะของประชาชน โดย ศ.นพ.วินัย วนานุกูล เป็นต้น ซึ่งมี นพ.กิตติศักดิ์ กลับดี เลขานุการ รมว. สาธารณสุข เป็นผู้ออกรับมอบหนังสือขอเรียกร้องเพื่อดำเนินการต่อไป.