ผู้ว่าการกฟผ.คนใหม่กับภารกิจสุดหิน เพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้า 50% - ดันโรงไฟฟ้าถ่านหิน (6 ก.ค. 59)

ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ 6 กรกฎาคม 2559
ผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่กับภารกิจสุดหิน เพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้า50%ดันโรงไฟฟ้าถ่านหิน


 

เป็นการเปิดตัวครั้งแรกของนายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนที่ 13 หลังจากเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่งจะต้องเข้ามารับหน้าที่หัวเรือใหญ่ในการนำพาองค์กร ภายใต้สถานการณ์ที่มีความผันผวนด้านพลังงานของประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการเข้ามาผลักดันแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ(พีดีพี 2015) ที่ต้องลดสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ จากปัจจุบัน 67% ลงเหลือ 30-40% และเพิ่มสัดส่วนถ่านหินจาก 20% เป็น 30% ในช่วงปลายแผน ดังนั้น ภารกิจในช่วงการบริหารงาน1 ปี 10 เดือนจากนี้ จึงถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายว่าผู้ว่าการกฟผ.คนใหม่


ขยับสัดส่วนผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น50%

นายกรศิษฏ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบันกำลังการผลิตไฟฟ้าของภาคเอกชนรายใหญ่(ไอพีพี) เพิ่มอยู่ในสัดส่วนที่สูงมากขึ้น ส่งผลให้กำลังการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ลดลงเหลือ 37% ของกำลังการผลิตทั้งหมด และในช่วงปลายแผนพีดีพีจะเพิ่มขึ้นเพียง 39% ของกำลังการผลิตทั้งหมดเท่านั้น ดังนั้นเพื่อการบริหารจัดการด้านไฟฟ้าที่มั่นคง กระทรวงพลังงานจึงมอบโยบายให้ กฟผ.เพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็น 50% ของกำลังการผลิตทั้งหมด หากเป็นไปได้จะทำให้ กฟผ. มีกำลังการผลิตทั้งสิ้น 3.5 หมื่นเมกะวัตต์ ของกำลังการผลิตทั้งหมดที่ 7 หมื่นเมกะวัตต์ ในปี 2579

ขณะเดียวกันยังตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นเป็น 1-2 พันเมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 10-15% ของกำลังการผลิตทั้งหมด 1.96 หมื่นเมกะวัตต์ ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(เออีดีพี 2015) ภายในปี 2579 จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอยู่เพียง 560 เมกะวัตต์


ภารกิจดันโรงไฟฟ้าถ่านหิน

โดยทิศทางการบริหารงานของ กฟผ. จากนี้ไปจะมุ่งเน้นการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนควบคู่กับการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อถ่วงดุลให้ค่าไฟฟ้าของประเทศไม่สูงจนเกินไป เนื่องจากโรงไฟฟ้าถ่านหินมีต้นทุนผลิตต่ำกว่าเชื้อเพลิงอื่นๆ จึงช่วยเฉลี่ยค่าไฟฟ้าไม่ให้สูงเกินไปได้ ซึ่งตามแผนพีดีพี 2015 กำหนดให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ. จำนวน 6 โรงนั้น จะทำให้ค่าไฟฟ้าประเทศเฉลี่ยตลอดแผนอยู่ที่ระดับ 4.60 บาทต่อหน่วย แต่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ที่แม้จะช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ค่าไฟฟ้าระยะยาวจะเพิ่มขึ้น และไม่มีความเสถียร

ดังนั้นจำเป็นต้องมีการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเข้ามาช่วยสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้า โดยเฉพาะการผลักดันให้โรงฟ้าถ่านหินกระบี่ ขนาด 800 เมกะวัตต์ เกิดขึ้นให้ได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาของคณะไตรภาคี คาดว่าจะใช้เวลา 2-4 เดือนจะได้ข้อสรุปว่าควรสร้างหรือไม่ ซึ่งยอมรับว่าขณะนี้ได้เลื่อนจากแผน 1 ปี แล้ว จากแผนเดิมจะต้องเข้าระบบภายในปี 2562

ขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 2 เฟส กำลังการผลิตรวม 2 พันเมกะวัตต์นั้น ได้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เสนอภาครัฐพิจารณาแล้ว และกำลังจัดทำเงื่อนไขการประมูล (ทีโออาร์) การก่อสร้างคู่ขนานไปกับการรอผลการพิจารณารายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(อีเอชไอเอ) เพราะหากรอผลอีเอชไอเอเพียงอย่างเดียว การก่อสร้างอาจไม่ทันตามแผน โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2564 และ 2567

ปัจจุบันโรงไฟฟ้าถ่านหิน กฟผ. คิดเป็นสัดส่วน 20% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด หากโรงไฟฟ้ากระบี่และเทพาก่อสร้างได้ตามแผน สัดส่วนจะเพิ่มเป็น 23% ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศมาเลเซีย ที่เพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินถึง 56% และลดกำลังผลิตไฟฟ้าจากก๊าซเหลือ 37% ทั้งที่เป็นประเทศผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติ โดยประเทศไทยมีความจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อกระจายความเสี่ยงด้านพลังงานและลดต้นทุนค่าไฟฟ้า โดยปัจจุบันไทยยังใช้ก๊าซในการผลิตไฟฟ้าเกือบ 70% ซึ่งเป็นก๊าซที่ซื้อจากเมียนมา คิดเป็นประมาณ 6 พันเมกะวัตต์ และก๊าซจากอ่าวไทยคิดเป็น 1 หมื่นเมกะวัตต์ หากก๊าซหายไป ก็จะกระทบการผลิตไฟฟ้าของประเทศอย่างมาก

เตรียมสรุปลงทุนคลังแอลเอ็นจีFSRU

นายกรศิษฏ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม แม้จะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้น แต่ความจำเป็นต้องยังใช้ก๊าซฯผลิตไฟฟ้าอยู่ ประกอบกับปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทยลดลงเรื่อยๆ จึงทำให้กฟผ.ต้องมามองหาแหล่งก๊าซฯป้อนให้กับโรงไฟฟ้าไว้ในอนาคต ซึ่งโครงการลงทุนคลังก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) FSRU ขนาด 5 ล้านตัน เป็นโครงการที่กฟผ.จะเข้าไปดำเนินการซึ่งได้ผ่านมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) แล้ว เพื่อใช้ป้อนแอลเอ็นจีให้กับโรงไฟฟ้าพระนครใต้ แต่ใช้เพียง 3 ล้านตันต่อปีเท่านั้น ดังนั้นจึงอยู่ระหว่างศึกษาว่าแอลเอ็นจีส่วนที่เหลืออีก 2 ล้านตันต่อปี เพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าพระนครเหนือได้หรือไม่ ซึ่งผลการศึกษาจะมีความชัดเจนภายในวันที่ 15 กันยายนนี้ อย่างไรก็ตาม กฟผ. ไม่ได้ทำธุรกิจเพื่อหวังผลกำไร แต่ทำเพื่อต้องการลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากรัฐกำหนดผลตอบแทนการลงทุน(ไออาร์อาร์)ไว้ที่ 5% เท่านั้น

ขณะเดียวกันตามแผนพีดีพี2015 พบว่าความต้องการใช้แอลเอ็นจีในการผลิตไฟฟ้าจะเพิ่มสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องนำเข้า นอกเหนือจาก ปตท.ที่ปัจจุบันเป็นผู้นำเข้าเพียงรายเดียว ซึ่งตัวเลขนำเข้าแอลเอ็นจีปี 2579 จะอยู่ที่ 24 ล้านตัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 3 ล้านตัน ดังนั้นราคาแอลเอ็นจีตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากพึ่งพาในสัดส่วนที่มากเกินไปย่อมกระทบค่าไฟฟ้าของไทย ดังนั้นจำเป็นต้องมีเชื้อเพลิงถ่านหินเข้ามาเสริมด้วย

หนุนกฟผ.อินเตอร์ลงทุนต่างแดน

สำหรับการลงทุนในต่างประเทศ นอกจากจะมีบริษัทลูกอย่างบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) แล้วยังมีบริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่จะเข้าลงทุนในต่างประเทศด้วยแล้ว จะทำอย่างไรให้เกิดความร่วมมือ เพิ่มศักยภาพในการลงทุนต่างประเทศ แต่ปัจจุบัน กฟผ.อินเตอร์ฯยังมีข้อจำกัด เพราะเป็นรัฐวิสาหกิจ เน้นการลงทุนรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) เป็นหลัก

ดังนั้นสิ่งต้องเร่งดำเนินการคือการแก้ไขกฎระเบียบ และข้อจำกัดดังกล่าว โดย นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่มปลัดกระทรวงพลังงาน แจ้งว่าจะเร่งเสนอการปลดล็อกข้อจำกัดของ กฟผ.อินเตอร์ เข้าที่ประชุม ครม.ในเร็วๆนี้

นอกจากนี้ทางบอร์ด กฟผ. ยังได้อนุมัติวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท เพื่อให้ กฟผ.อินเตอร์เข้าซื้อหุ้นในกิจการไฟฟ้าในอาเซียน ซึ่งจะช่วยให้ กฟผ.อินเตอร์ฯมีสินทรัพย์ และสามารถกู้เงินเพื่อลงทุนโครงการต่างๆในอนาคตได้ จากปัจจุบันต้องพึ่งพาเงินจาก กฟผ. เท่านั้น โดยในอนาคตหาก กฟผ.อินเตอร์มีสินทรัพย์ ก็สามารถกู้ได้ในสัดส่วน 70% ของเงินลงทุนทั้งหมด และจะพึ่งพาเงินจาก กฟผ. เพียง 30% เท่านั้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,171 วันที่ 3 – 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559