ไทยมีขยะตกค้างเฉียดปีละ 15 ล้านตัน ผงะ! เกือบ 13.5 ล้านตันไม่ถูกจัดการ (4 ก.ค. 59)
Green News TV 4 กรกฎาคม 2559
ไทยมีขยะตกค้างเฉียดปีละ 15 ล้านตัน ผงะ! เกือบ 13.5 ล้านตันไม่ถูกจัดการ
รมว.สธ. เปิดข้อมูลขยะในประเทศไทย พบมีตกค้างสะสมเกือบปีละ 15 ล้านตัน พบขยะชุมชนไม่ได้รับการจัดการมากถึงปีละ 13.49 ล้านตัน
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “คัดแยกขยะที่ต้นทาง ลดโรคร้าย คลายโลกร้อน” เนื่องในวันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย 4 ก.ค.ของทุกปี ตอนหนึ่งว่า การจัดการขยะทุกขั้นตอนมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้นจึงส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งข้อมูลจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่ระบุถึงสถานการณ์มลพิษในปี 2557 พบว่าทั่วประเทศมีขยะตกค้างสะสมสูงถึงปีละ 14.8 ล้านตัน
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า จากข้อมูลของ ทส.ประเทศไทยมีขยะชุมชนปีละ 26.19 ล้านตัน หรือประมาณวันละ 7.72 ตัน นำกลับมาใช้ประโยชน์เพียง 4.82 ล้านตัน คิดเป็น 18.32% สำหรับการกำจัดขยะมีเพียง 7.33 ล้านตัน หรือ 31% เท่านั้นที่ดำเนินการอย่างถูกต้อง ส่วนอีก 13.49 ล้านตันคือขยะที่ยังไม่ได้รับการจัดการ
นอกจากนี้ จากเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะ ยังพบว่าชุมชนในรัศมี 1 กิโลเมตร มีสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินค่ามาตรฐาน 20–30 เท่า และพบฝุ่นละอองขนาดเล็กปริมาณมาก 350 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงกว่าค่ามาตรฐานถึง 30 เท่า
“สธ.ได้ออกกฎระเบียบการจัดการขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และ ปลายทาง ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปออกข้อบัญญัติท้องถิ่น จัดการขยะมูลฝอย เร่งรัดการกำจัดขยะตกค้างในพื้นที่ให้หมดไป โดยการลดและคัดแยกขยะมูลฝอย ส่งกำจัดอย่างถูกหลักวิชาการ” รมว.สธ. กล่าว
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มพื้นที่และจัดตั้งศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวม โดยใช้เทคโนโลยีแบบผสมผสาน และส่งเสริมให้เอกชนลงทุนในการจัดการขยะมูลฝอย ซึ่งได้ดำเนินการตามแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ. 2559-2564 ร่วมกับ ทส. กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงอุตสาหกรรม
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การสร้างจิตสำนึกปลูกฝังเยาวชน และร่วมมือร่วมใจลดปริมาณขยะ ช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย เป็นยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมความเข้มแข็งระบบอนามัยสิ่งแวดล้อมของชุมชนและเมืองอย่างยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมได้ด้วยตนเอง ส่งเสริมให้ชุมชนมีเครือข่ายเฝ้าระวังและจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม
นพ.วชิระ กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้เกิดเมือง “เข้าใจ เข้าถึง พึ่งได้” มีการจัดลำดับความสำคัญ รวมทั้งให้บริการอนามัยสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพ เพื่อให้ประชาชนอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและได้รับบริการอนามัยสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ปลอดภัย และมีส่วนร่วมในการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม