บูมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก คมนาคมหัวหอกลุย 4 แสนล. - ITD จอง "แหลมฉบัง" (4 ก.ค. 59)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 4 กรกฎาคม 2559
บูมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก คมนาคมหัวหอกลุย4แสนล.-ITDจอง"แหลมฉบัง"

คมนาคมทุ่ม 4 แสนล้าน ผุดโครงข่ายบก ราง น้ำและอากาศ ลุยมอเตอร์เวย์ชลบุรี-โคราช บูมพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เชื่อมการค้า-ขนส่งไทยทะลุโลก "อิตาเลียนไทย" เสือปืนไว ยื่นข้อเสนอรัฐเทิร์นคีย์ 8 หมื่นล้านแจ้งเกิดแหลมฉบังเฟส 3 แลกสัมปทานระยะยาว "อาคม" แย้มมีความเป็นไปได้สูง รอผล EHIA ฉลุย "กลุ่มสยามอิสเทอร์น" เล็งสร้างท่าเรือเฟอร์รี่ สวนสนุก ที่อยู่อาศัย 4 พันล้าน เชื่อมท่องเที่ยวพัทยา-บางปู-หัวหิน

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับกองทัพเรือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาจัดทำรายละเอียดโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development) ให้เสร็จภายใน 3 เดือน

ผุดโครงข่ายเชื่อม CLMV

โดยมีแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งทั้งทางบก น้ำ ราง และอากาศ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งภายในประเทศกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ทวาย ลาว กัมพูชา เวียดนาม อีกทั้งยังมีแผนดำเนินการด้านผังเมือง การพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว และผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานจัดทำแผน 

"ให้ทบทวนโครงการที่ทำแล้วและโครงการที่ยังไม่ได้ทำ รวมทั้งปัญหาด้านการจราจรในพื้นที่ชายฝั่งตะวันออก โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำให้คมนาคมดูการเดินทางด้วยเรือเฟอร์รี่เชื่อมอ่าวไทยตะวันออก-ตะวันตก ร่นระยะเวลาเดินทางเหลือ 2-3 ชั่วโมง ก่อนหน้านี้มีผู้ยื่นเสนอการเดินเรือมาที่กรมเจ้าท่า 2 ราย ซึ่ง 1 รายเป็นเอกชน อีก 1 รายเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลชะอำ"

คมนาคมทุ่ม 4 แสน ล. 19 โครงการ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงมีโครงการที่กำลังก่อสร้าง คือ ท่าเทียบเรือ A, ศูนย์ขนส่งสินค้าทางรถไฟ, มอเตอร์เวย์พัทยา-มาบตาพุด, ทางคู่ฉะเชิงเทรา-คลอง 19-แก่งคอย และถนนเชื่อมเข้าท่าเรือ ส่วนอาคารผู้โดยสารใหม่ของสนามบินอู่ตะเภา จะเปิดให้บริการ ส.ค.นี้ โครงการลงทุนเพิ่มเติมมีนิคมอุตสาหกรรมการบินอู่ตะเภา รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยองปรับท่าเรือสัตหีบเป็นท่าเรือพาณิชย์รับเรือเฟอร์รี่ ครุยส์ เรือสินค้า เชื่อมโยงท่าเรือชายฝั่งสงขลากับแหลมฉบัง 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของกระทรวงคมนาคม รองรับพื้นที่ภาคตะวันออกปี 2558-2565 มี 19 โครงการ เงินลงทุน 414,786 ล้านบาท (ดูตาราง) แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น 2559-2560 มี 12 โครงการ วงเงิน 292,656 ล้านบาท ระยะกลาง 2561-2563 จำนวน 4 โครงการ 13,834 ล้านบาท และระยะยาว 2564-2570 มี 2 โครงการ 108,296 ล้านบาท มีโครงการที่น่าสนใจคือ มอเตอร์เวย์สายชลบุรี-โคราช 288 กม.103,200 ล้านบาทที่เพิ่มเข้ามา ซึ่งโดยกรมทางหลวง (ทล.) บรรจุอยู่ในแผนแม่บทมอเตอร์เวย์ช่วง 10 ปีแรก

ITD ดอดเสนอลงทุนแหลมฉบัง

ก่อนหน้านี้ นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์กล่าวว่า บริษัทเสนอตัวลงทุนพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 กว่า 8.8 หมื่นล้านบาทให้รัฐบาล แลกกับขอสิทธิสัมปทานมากกว่า 30 ปี โดยร่วมกับกลุ่มโหงวฮกและนามยง ตั้งเป็นบริษัทใหม่ขึ้น คล้ายกับโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย

"เสนอไอเดียกับรัฐว่าเราจะลงทุนให้หมด รับสัมปทานบริหารโครงการระยะยาว ซึ่งรัฐนำรายได้จากการพัฒนาท่าเรือนี้ชำระคืนบริษัท คาดว่าใช้เงินลงทุนกว่า 8 หมื่นล้านบาท เพราะต้องมีถมทะเลเพิ่มและสร้างรถไฟด้วย"

นายเปรมชัยยังกล่าวว่า โครงการนี้เป็นการลงทุน PPP อย่างหนึ่งตามที่รัฐมีนโยบาย ซึ่งแหล่งเงินบริษัทเตรียมความพร้อมไว้แล้ว โดยบริษัทฟินันซ่าเป็นผู้ประเมินและจัดหาเงินลงทุนให้ หากรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)ได้รับอนุมัติ คาดว่าจะใช้เวลาอีก 6 เดือนจะเสร็จ จากนั้นจะเริ่มกระบวนประมูลก่อสร้างได้ทันที

"อาคม" แบะท่าเปิดทางเอกชน

นายอาคมกล่าวว่าการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่ให้สัมปทานเอกชนพัฒนาก่อน ตามที่อิตาเลียนไทยฯยื่นข้อเสนอมานั้น ก็มีความเป็นไปได้ ซึ่งขณะนี้การศึกษายังไม่แล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการทำผลการศึกษา EHIA

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนท่าเรือเฟอร์รี่ก่อนหน้านี้มี บจ.สยามอิสเทอร์น ลอยิสติคส์ เทอร์มินอล ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม เสนอแนวคิดให้กรมเจ้าท่า (จท.) พัฒนาโครงการรูปแบบครบวงจร มีทั้งท่าเรือเฟอร์รี่ สวนสนุกและที่อยู่อาศัย ใช้เวลาพัฒนา 4 ปี (2559-2562) เงินลงทุน 4,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ปี 2559-2560 จะเป็นการต่อเรือ สร้าง Home Port และเทอร์มินอล ปี 2560-2561 เริ่มเดินเรือในเส้นทางพัทยา-หัวหิน-ปราณบุรี และปี 2561-2562 ขยายเส้นทางเป็นบางปู-หัวหิน-ปราณบุรี และบางปู-พัทยา ตั้งเป้ามีผู้ใช้บริการปีละ 3 ล้านคน และรถยนต์ปีละ 220,000 คัน