ขีดเส้นเปิดประมูล 2แหล่งก๊าซ มี.ค. 60 (1 ก.ค. 59)
โพสต์ทูเดย์ 1 กรกฎาคม 2559
ขีดเส้นเปิดประมูล 2แหล่งก๊าซ มี.ค. 60
กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติขีดเส้นเปิดประมูลแหล่งสัมปทานหมดอายุ บงกช-เอราวัณ เดือน มี.ค. 2560
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานการบริหารแหล่งสัมปทานที่สิ้นสุด อายุ ว่า ได้กำหนดกรอบระยะเวลาในเบื้องต้นของการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมหมดอายุสัมปทาน 2 แหล่ง ได้แก่ แหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณ โดยคาดว่าจะสามารถออกประกาศเชิญชวนและรับคำขอจากนักลงทุนที่สนใจได้ในเดือน มี.ค. 2560 หลังจากนั้นจะเข้าสู่การคัดเลือกคำขอก่อนจะประกาศผู้ได้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้ในช่วงเดือน ก.ย. 2560
“หลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งจะใช้เวลาพิจารณาร่างกฎหมายภายใน 60 วัน ก่อนที่จะเสนอ สนช.ในวาระที่ 2 และ 3 จากนั้นจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป แต่ในระหว่างนี้กรม
เชื้อเพลิงธรรมชาติจะดำเนินการร่างประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม และร่างกฎกระทรวงที่จำเป็น 5 ฉบับ มารองรับการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับ เพื่อให้การเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมดำเนินการได้ทันที” นายวีระศักดิ์ กล่าว
สำหรับการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการประมูลนั้น ขณะนี้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติอยู่ในช่วงของการศึกษาว่าจะใช้รูปแบบใด โดยเฉพาะการใช้วิธีการเปิดประมูล ซึ่งจะต้องมีการศึกษารูปแบบการประมูลทั้งระบบสัมปทาน ระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) และระบบแบ่งปันผลผลิต โดยคณะกรรมการปิโตรเลียมจะเป็นผู้พิจารณาตัดสิน
“ในหลักการการเปิดประมูลจะต้องกำหนดให้สอดคล้องกับกฎหมาย ต้องมีความโปร่งใส และเป็นธรรม โดยสาระสำคัญจะเน้นเรื่องของปริมาณปิโตรเลียมที่มีคะแนนสูงสุดถึง 80% ขณะที่เหลือ 20% จะเป็นปริมาณเงินและการเสนอสิทธิประโยชน์ผลตอบแทนให้กับรัฐ เนื่องจากรัฐมีเป้าหมายที่ต้องการทรัพยากรมากกว่าหากใครเสนอมากโอกาสชนะก็จะสูง เพราะจะทำให้โอกาสที่ไทยได้ปริมาณปิโตรเลียมเพิ่มมากขึ้น” นายวีระศักดิ์ กล่าว
นายวีระศักดิ์ กล่าวถึงกรณีผู้รับสัมปทาน 2 ราย มีแผนที่จะลดการผลิตลงเพื่อลดการลงทุนว่า ในส่วนของ ปตท.สผ. ผู้รับสัมปทานแหล่งบงกช ถ้าต้องการให้มีการลงทุนต่อเนื่องเพื่อรักษาระดับการผลิตก๊าซธรรมชาติไว้ ก็มีแนวคิดให้นำมาตรา 44 มาบังคับใช้กรณีที่ไม่สามารถจัดหาเอกชนมาสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้ตามกรอบเวลาที่กำหนด แต่ถ้ากรณีของบริษัท เชฟรอนฯ ผู้รับสัมปทานแหล่งเอราวัณคงจะไปบังคับใช้ไม่ได้ โดยคาดว่าหลังทั้งสองแหล่งปิโตรเลียมสิ้นสุดสัญญาสัมปทานจะยังมีปริมาณก๊าซที่เหลืออยู่ และรอการขุดเจาะรวม 5.71 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต