บิ๊กตู่จุดพลุทุน 1.5 ล้านล้าน "เขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก" (30 มิ.ย. 59)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 30 มิถุนายน 2559
"บิ๊กตู่" จุดพลุทุน 1.5 ล้านล้าน เขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก

 

รูปธรรมของการลงทุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ใน 10 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย มีหัวใจคือพื้นที่ "เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก" สู่เขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน

รายงานที่ส่งตรงถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คือความพร้อมในการพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี และระยอง ที่รัฐ-เอกชนจะระดมเงินลงทุนอย่างน้อย 1.5 ล้านล้านบาท ใน 5 ปี คาดว่าจะมีการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 แสนล้านบาท, การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 4 แสนล้านบาท, การลงทุนเมืองใหม่ โรงพยาบาล โรงเรียน ที่อยู่อาศัย 4 แสนล้านบาท และการลงทุนด้านการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ประมาณ 2 แสนล้านบาท

ให้สิทธิพิเศษกระตุ้นลงทุน

คณะทำงานส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน กระทรวงการคลัง ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ และสำนักงานส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ จึงได้เตรียมนำเสนอกฎหมายสำคัญ 3 ฉบับ เพื่อสนับสนุนการลงทุนของเอกชนในพื้นที่ภาคตะวันออก 3 จังหวัด คือ 1.แก้ไขพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน ด้วยการยกเว้นภาษีนิติบุคคลไม่เกิน 13 ปี จากเดิม 8 ปี การอนุมัติระยะเวลาการทำงานของต่างชาติและสิทธิการซื้อที่ดิน

2.พระราชบัญญัติกองทุนขีดความสามารถในการแข่งขันซึ่งจะมีการยกเว้นภาษีนิติบุคคลไม่เกิน15ปี การช่วยเหลือทางการเงินด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ผ่อนปรน และเงินทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา และ 3.ร่างพระราชบัญญัติพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. .... ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในต้นเดือน ก.ค.นี้

เพื่อดึงบริษัทผู้ลงทุน ผู้เชี่ยวชาญชั้นนำในเทคโนโลยีระดับสูงของอุตสาหกรรมเป้าหมายเข้าสู่พื้นที่ และเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางถนน ระบบราง ท่าเรือ ทางอากาศ ซึ่งกระทรวงคมนาคมเสนอ 19 โครงการ รวมเงินลงทุน 141,786 ล้านบาท แบ่งเป็นแผนลงทุนในระยะสั้น (2559-2560) ประมาณ 292,659 ล้านบาท ส่วนระยะกลางและระยะยาว (2561-2570) อีก 122,130 ล้านบาท

เขตปลอดภาษี-ให้เช่าที่ดิน 99 ปี

โดยวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จะมีการปรับสิทธิพิเศษเต็มที่ตามกฎหมายใหม่ 8 ประเด็น ประกอบด้วย

1.การได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน 2.อำนวยความสะดวกการอนุมัติเรื่องสิ่งแวดล้อม ผังเมือง การออกใบอนุญาตต่าง ๆ 3.ประกาศเป็นเขตปลอดภาษีของกรมศุลกากร เมื่อจำเป็น

4.สามารถจัดหาที่ดิน และเช่าที่ดินเพื่อลงทุนได้ 50 ปี ต่ออายุได้อีก 49 ปี 5.อนุญาตการเข้า-ออกประเทศของนักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญได้ไม่เกิน 5 ปี 6.นักลงทุนสามารถเก็บรายได้เงินตราต่างประเทศได้ ไม่ต้องรีบแลกเป็นเงินบาท 7.อนุญาตให้มีศูนย์ธุรกรรมการเงินได้ถึงในเขตส่งเสริมพิเศษ 8.มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาพื้นที่ร่วมกับชุมชนในท้องถิ่น

ส่งเสริม 6 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

สาระสำคัญของการพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคตะวันออก 3 จังหวัด ตั้งเป้าให้เป็นเขตส่งเสริมการลงทุน 6 ประเภท ประกอบด้วย 1.เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษไบโอเทคและอาหาร จ.ฉะเชิงเทรา 2.เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษยานยนต์อนาคต จ.ชลบุรี 3.เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี 4.เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ อุปกรณ์อากาศยาน จ.ระยอง 5.เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และไอโออีโคโนมี จ.ระยอง 6.เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษสนามบินอู่ตะเภาและพื้นที่ข้างเคียง จ.ระยอง

ภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นหน่วยงานขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ในการพิจารณาและอนุมัติโครงการและแก้ปัญหาการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกทั้งหมด

กนอ.ผุดแผนพัฒนาพื้นที่

โดยในช่วงที่กฎหมายฉบับนี้อยู่ระหว่างการจัดทำคณะกรรมการนโยบายพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ(คนพ.)ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มอบหมายให้ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ทำงานล่วงหน้าในการจัดทำแผนที่เกี่ยวข้องร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ 4 แผน ประกอบไปด้วย 1.แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน กำหนดโครงการที่จะลงทุนก่อนหลัง รวมทั้งวิธีการลงทุนที่เหมาะสม 2.แผนลงทุนอุตฯ เป้าหมายโดยกำหนดสิทธิประโยชน์ที่จะส่งเสริมการลงทุนให้มีความชัดเจน เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญระดับสูง ให้สิทธิเช่าที่ดินเพื่อลงทุนได้50+49 ปี รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขการลงทุนให้คล่องตัวมากขึ้น

3.แผนการพัฒนาเมืองและสิ่งอำนวยความสะดวกให้มีการกำหนดสิทธิประโยชน์สำหรับการสร้างเมืองใหม่สาธารณูปโภคที่จำเป็นรวมทั้งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม(Social Infrastructure) เช่น ลดภาษีนิติบุคคล โรงเรียน โรงพยาบาล รองรับนักลงทุนที่จะเพิ่มขึ้นในพื้นที่ และ 4.แผนการจัดตั้ง One Stop Service อำนวยความสะดวกการลงทุน

ทั้งนี้การกำหนดพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษใน 3 จังหวัดภาคตะวันออกจะไม่ไปทับซ้อนกับพื้นที่เขตปกครอง เนื่องจากจะไม่มีการประกาศพื้นที่ทั้งอำเภอหรือจังหวัดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่จะประกาศเป็นพื้นที่ซึ่งมีความพร้อมสำหรับรองรับการลงทุนในแต่ละอุตสาหกรรม เช่น พื้นที่อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ หรือพื้นที่อุตสาหกรรมการบินที่ประกาศรอบพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา เป็นต้น

ปัจจัยสำคัญของการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก คือ การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินพาณิชย์แห่งที่ 3 ต่อจากสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุน 1 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 5-7 ปี โดยจะลงทุนสร้างรันเวย์ที่ 2 และอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติมอีก 1 อาคาร รองรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาใช้สนามบินแห่งนี้ไม่ต่ำกว่า 6 ล้านคนในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาจะรวมถึงการพัฒนาที่ดินรอบสนามบิน 160 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ประกอบด้วยนิคมอุตฯ ซ่อมบำรุง และอุตฯ การบินอื่น ๆซึ่งจะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญอีกแห่งในอนาคต

กระทรวงอุตฯ เคลียร์มหาดไทยลงตัว

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าล่าสุด ร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกฯ ว่า เร็ว ๆนี้ จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเพราะต้องการผลักดันให้ 3 จังหวัดเกิดการลงทุนในพื้นที่ซูเปอร์คลัสเตอร์

"ล่าสุดได้เคลียร์กันทุกประเด็นที่กระทรวงมหาดไทยกังวลเรียบร้อยแล้วเห็นร่วมกันว่าร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวจะกำหนดพื้นที่เฉพาะจุดเท่านั้น ไม่ได้ประกาศครอบคลุมเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งจังหวัด ไม่ได้ไปลิดรอนอำนาจผังเมือง เพียงขอให้ออกตามการใช้พื้นที่นั้น ๆ โดยเดินตามที่คณะกรรมการบริหารพื้นที่ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ เป็นประธานและมีรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ ร่วมเป็นกรรมการด้วย"