นักวิชาการ-เอ็นจีโอ ไม่เห็นด้วย "ถมทะเลสร้างรันเวย์" ที่ภูเก็ต (29 มิ.ย. 59)
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 29 มิถุนายน 2559กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 29 มิถุนายน 2559
นักวิชาการ-เอ็นจีโอ ไม่เห็นด้วยถมทะเลสร้างรันเวย์ที่ภูเก็ต
นักวิชาการด้าน สวล. และเอ็นจีโอไม่เห็นด้วยถมทะเลสร้างรันเวย์ เหตุกระทบในวงกว้าง เพราะทะเลฝั่งตะวันตกเป็นจุดขายท่องเที่ยวภูเก็ต
สืบเนื่องจากกรณีที่นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เสนอแนะให้ทางจังหวัดภูเก็ตหยิบยกโครงการขยายรันเวย์สนามบินภูเก็ตลงทะเล เป็นระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร หลังจากโครงการดังกล่าวถูกยกเลิกไปเมื่อหลายปีก่อน เพื่อรองรับการขยายตัวของการท่องเที่ยว และทางด้าน ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชากานด้านทะเล ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านทางเฟสบุ๊คไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว เพราะจะเกิดผลกระทบที่รุนแรงทั้งการเปลี่ยนแปลงการไหลของกระแสน้ำทะเลจนเกิดการกัดเซาะอย่างรุนแรง รวมทั้งยังกระทบกับแนวปะการัง และการวางไข่ของเต่าทะเล ประกอบกับมองว่าการถมทะเลไม่ใช่ทางเลือกสุดท้ายในการที่จะขยายรันเวย์
เกี่ยวกับแนวคิดการจัดทำโครงการถมทะเล เพื่อขยายรันเวย์นั้น นายธนู แนบเนียน ผู้ประสานงานองค์กรความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน กล่าวว่า หากมองหยาบๆ หรือฟันธงไปเลยคิดว่าไม่ควรสร้างโดยการถมทะเล ส่วนตัวไม่ได้ขัดขวางการพัฒนา แต่อยากให้มองเรื่องของการพัฒนาภูเก็ตให้รอบด้านและเป็นระบบ เพราะมีบริบทและปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายอย่าง และการตัดสินใจถมทะเลนั้นควรจะคิดให้ดี เพราะหากดำเนินการจริงจะทำให้เราเสียชายหาดที่สวยงามไปไม่น้อยกว่า 2 ชายหาด ไม่ว่าจะเป็นหาดไม้ขาวหรือหาดในยาง เพราะเมื่อมีการถมทะเลจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำ เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง รวมไปถึงปัญหาโลกร้อนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ฉะนั้นเรื่องนี้ต้องพิจารณาให้รอบคอบ และปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สามารถนำมาใช้และไม่เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ประกอบกับปัจจุบันเราก็มีปัญหากันค่อนข้างมากอยู่แล้ว จึงควรจะต้องมาทบทวนทิศทางการพัฒนาให้เหมาะสม สำคัญจะต้องไม่กระทบสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นจุดชายของเรา
ขณะที่ นายพงศ์ธีระ บัวเพ็ชร อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต ภูเก็ต กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า ไม่เห็นด้วยที่จะมีการถมทะเล เพราะจะเกิดความสูญเสียค่อนข้างมาก และไม่คุ้มค่ากับรันเวย์ที่ได้มา 1 กิโลเมตร ในขณะที่เราต้องสูญเสียความสวยงามของชายหาดในฝั่งตะวันตก เช่น ในยาง ไม้ขาว เป็นต้น เพราะเมื่อมีการถมทะเลก็จะเร่งให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงกระแสน้ำทะเลเป็นแนวยาว และยังจะทำลายแนวปะการังด้วย จากการศึกษาแนวปะการังบริเวณหาดในยางในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีแนวปะการังที่สวยงามมาก แม้ว่าในปีนี้ค่อนข้างประสบกับปัญหาการฟอกขาว แต่ส่วนนี้สามารถที่จะฟื้นฟูได้
“พื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันตกของภูเก็ต ไม่ควรที่จะมีการเปลี่ยนแปลงสภาพของระบบนิเวศ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีชายหาดสวยงาม และเป็นจุดขายสำคัญด้านการท่องเที่ยวภูเก็ต หากเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศก็จะส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะปัญหาการกัดเซาะชายหาดสวยงาม รวมถึงกระทบกับระบบนิเวศน์อื่นๆ ด้วย”
อย่างไรก็ตาม นายพงศ์ธีระ กล่าวแสดงความเห็นด้วยว่า หากจะมีการขยายรันเวย์ก็ควรจะทำบนบก เพราะเรายังมีพื้นที่ราบพอสมควร ต่างกับบางประเทศที่จำเป็นต้องทำลงทะเล เพราะเขามีทางเลือกน้อย โดยที่น่าจะเป็นไปได้ การท่าฯ ควรจะซื้อที่ดินเพิ่ม และทำเป็นอุโมงค์ทางเดินรถและมีรันเวย์ด้านบน เหมือนกับที่หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์