สัมภาษณ์ : พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ 3 ทางเลือก การสำรวจผลิตปิโตรเลียมไทย (26 มิ.ย. 59)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 26 มิถุนายน 2559
สัมภาษณ์ : พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ 3 ทางเลือก การสำรวจผลิตปิโตรเลียมไทย

การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และการพิจารณาแนวทางในการบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สัมปทานจะสิ้นสุดอายุลง (แหล่งบงกช-เอราวัณ) ของกระทรวงพลังงาน ได้กลายเป็นประเด็นถกเถียงระหว่างกระทรวงพลังงาน กับเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จากเดิมที่เปิดให้ขุดเจาะสำรวจและผลิตภายใต้ระบบสัมปทาน มาเป็นการ "กดดัน" ให้นำระบบแบ่งปันผลผลิต หรือระบบรับจ้างผลิต ลามไปถึงการนำระบบเหล่านี้มาใช้เปิดประมูลกับแหล่งก๊าซบงกช-เอราวัณด้วย

เบื้องต้นแนวทางของ คปพ.จะได้รับการบรรจุไว้ในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับใหม่ แต่จะนำมาใช้หรือไม่เป็นอีกเรื่องที่ต้องนำมาพิจารณาในคณะกรรมการปิโตรเลียม "ประชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ยืนยันว่า ไม่ว่าจะใช้ระบบใดล้วนมีสถานะเป็นเพียง "ทางเลือก" เท่านั้น

- ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม

ผ่าน ครม.แล้ว ตอนนี้ สนช.เปิดรับฟังชี้แจงอยู่ ต้องบอกว่า ร่างฉบับนี้ทำขึ้นมาก่อนปี 2557 พอ คสช.เข้ามา เราก็รับฟังเรื่องราวจากประชาชน หรือเครือข่ายอื่น ๆ ทาง สนช.ก็ยื่นเรื่องเข้ามาให้ดู ท่านนายกฯเองก็บอกให้ดูรายละเอียดให้ดี เพราะมีทั้งร่างของ ก.พลังงาน ร่าง สนช. และร่างของตัวแทนภาคประชาชน แต่คงนำมารวมกันไม่ได้ 100% ท่านนายกฯให้มีการร่วมประชุมของทุกส่วน มีประเด็นอะไรที่ยอมรับได้ หรือที่ต้องแก้ไข ส่วนใหญ่ได้ข้อยุติแล้ว แต่มีบางอย่างที่ต้องรอ การรอคือการให้เวลาได้ศึกษารายละเอียด ไม่ได้ทิ้ง

- ของใหม่มี 3 รูปแบบ ดูพิลึกพิลั่นรึเปล่า

มันเป็นการเพิ่มออปชั่น แต่เมื่อจะทำจริงก็เลือกเพียงวิธีเดียว ทุกประเทศก็ทำแบบนี้คือ สำหรับประเทศไทยระบบสัมปทานมีความเหมาะสมที่สุด เพราะศักยภาพของปิโตรเลียมมีไม่มาก นี่คือความเห็นจากก.พลังงาน และมันง่ายด้วย เพราะ 1) รัฐไม่ต้องเข้าไปวุ่นวาย 2) ไม่ต้องเสี่ยง ขุดแล้วเจอหรือไม่เจอ ในอดีตก็พัฒนามาตั้งแต่ Thailand-1 มาเป็น Thailand-2 และ Thailand-3 มีความยืดหยุ่นมากขึ้นคือ ผลิตได้มากจ่ายมาก ได้น้อยก็จ่ายน้อย มันก็ Win-Win ทั้ง 2 ฝ่ายทั้งรัฐและเอกชน

- ระบบสัมปทานถือว่าดีแล้ว

ผมมองว่าดี รัฐไม่ต้องควักสักบาท ไม่ต้องลงทุนเป็น 10,000 ล้านบาท เพื่อร่วมลงทุนกับเอกชน ข้าราชการต้องตรวจสอบค่าใช้จ่าย เราเป็นฝ่ายนโยบายและมีเรกูเลเตอร์กำกับดูแล อาจจะมีความข้องใจว่า ข้อมูลที่มีอยู่มันจริงหรือไม่ ปิโตรเลียมที่ขุดมามีการซูเอี๋ยหรือเอาไปไหนหรือไม่ มันไม่ใช่เรื่องของระบบ แต่มันเป็นเรื่องของคน 

- เครือข่ายประชาชนเสนออีก 2 ระบบ

แบ่งปันผลผลิต กับระบบรับจ้างผลิต ต้องมาดูว่า ระบบคืออะไร วิธีการ การแบ่งปันผลผลิตก็คือ รัฐกับเอกชนทำงานด้วยกัน แต่แบ่งปันผลประโยชน์กัน อันเดิมสัมปทานคือ ภาครัฐกำหนดกติกา จ่ายเท่าไหร่ ทั้ง 2 อย่างนี้มันก็เหมือนกัน ต่างที่ว่าจะจ่ายอย่างไร แต่แตกต่างกันที่การควบคุม ผมว่ากติกามันไม่ต่างกัน ในระบบสัมปทานต้องระบุว่า จะแบ่งปันผลประโยชน์ให้รัฐเท่าไหร่ สัมปทานกับการควบคุมนั้น คือควบคุมแผนดำเนินงานแต่เป็นการคุมหลวม ๆ 

แต่สำหรับระบบแบ่งปันผลผลิตต้องควบคุมแบบละเอียด ทุกบาททุกสตางค์ต้องแบ่งกัน แต่ค่าภาคหลวงสรรพากรจะเป็นผู้ควบคุมรายละเอียดอีกทีว่า ค่าใช้จ่ายสุดท้ายเป็นอย่างไร คุณจ่ายตรงประเด็นหรือไม่ แบบนี้ต้องตั้ง "องค์กร" ขึ้นมาคือ กรรมการ เหมือนระบบสัมปทานปิโตรเลียมไทย-มาเลเซีย ต้องตั้ง "องค์กรร่วม" เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายของทั้ง 2 ฝ่ายว่าเป็นอย่างไร มันคล้าย ๆ กัน เพราะรัฐต้องควบคุมดูแลผลประโยชน์ เอกชนก็ต้องควบคุมเหมือนกันคือต้องคุมละเอียด แต่ทั้ง 3 ระบบมันเป็นทางเลือก เพียงแต่ถามว่าผลตอบแทนแตกต่างกันหรือไม่

- ตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ 

ย้อนถามว่า NOC หรือบรรษัทพลังงานแห่งชาติ มันคืออะไร จะเป็นแค่องค์กร บริษัทใหญ่โต หรือเป็นคณะกรรมการ ถ้าจะตั้งขึ้นมามันอยู่ที่ว่า เรามีทรัพยากรแค่ไหน ถ้ามีมาก องค์กรมันก็ควรใหญ่ เพราะรัฐอาจจะผลิตปิโตรเลียมเอง ค้าเองก็ได้ ถูกหรือไม่ แต่เมื่อเรามีทรัพยากรน้อยที่ทำได้ก็คือ จ้างเขาผลิตแล้วรัฐกำกับดูแลคนที่มารับจ้าง 

- เครือข่ายต้องการ NOC

ใช่ แต่เขาต้องการให้รัฐลงทุนด้วย เช่น ลงเงินไป 10,000 ล้านบาท ไปตั้งองค์กร หรือนำเงินมาลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ซึ่งผมมองว่า รัฐจะเข้าไปเสี่ยงทำไม NOC ในความเห็นของผมก็คือ การกำกับดูแล ถามว่าแล้วเป็นใคร ก็คือกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ หรือ ก.พลังงาน หรือคณะกรรมการปิโตรเลียม หรือเรกูเลเตอร์ก็ได้ เรามีอยู่แล้ว แต่ข้อเสนอนี้ต้องขอเวลาศึกษาโดยคนกลางก่อน แต่หลักการเดียวกันคือจะตั้ง NOC 

- 1 ปีเพื่อศึกษา NOC

ใช่ ถ้ามีอะไรต้องแก้ไข เราก็แก้ได้ในช่วงปีหน้า ยังมีเวลา

- เท่ากับว่าสัมปทานใหม่ก็ยังไม่เกิด

เราจะทำคู่ขนานกันไป ส่วนของแหล่งสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุต้องทำก่อน สัมปทานรอบใหม่หรือรอบที่ 21 มันอยู่ที่ไทมิ่ง ขณะนี้ผมจับอาการธุรกิจสำรวจและผลิตของทั่วโลกแล้ว ปรากฏมันมีเลย์ออฟคนออก มีการหยุดผลิต นอกจากนี้สัมปทานรอบใหม่และยังขึ้นอยู่ที่จะจูงใจให้เข้ามาสำรวจผลิตหรือไม่อย่างไร ถ้าเรายังไม่อยากผลิตขึ้นมาก็สามารถเก็บแหล่งนั้นไว้สำหรับอนาคตได้

- เครือข่ายไม่เชื่อมั่นข้าราชการ

เมื่อไม่เชื่ออะไรก็ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาใหม่ เรากลายเป็นประเทศที่มีคณะกรรมการมากที่สุดในโลกแล้ว พอติดขัดอะไรก็ตั้งกรรมการ เรื่อง NOC ก็เช่นกัน ถ้าไม่ดีก็ตั้งคณะชุดใหม่อีก ไม่มีประโยชน์อะไร

- สัมปทานที่กำลังหมดอายุ

ต้องจัดการก่อนสิ้นปีนี้ จะต้องประกาศให้ได้ว่ารูปแบบจะเป็นอย่างไร แล้วเดินหน้าเปิดประมูล พอกลางปี 2560 ก็จบ ผมอยากบอกว่า ไม่ว่าจะเลือกใช้ระบบใดก็ต้องมีการประมูล ส่วนจะประมูลแบบใดขึ้นอยู่กับการเขียนเงื่อนไข TOR เมื่อร่าง TOR เสร็จ ก็ต้องเข้าคณะกรรมการปิโตรเลียม ให้รัฐมนตรีเห็นชอบ และเข้า ครม. คำถามที่ว่าจะประมูลแบบใดนั้น ขึ้นอยู่กับ 1) ศักยภาพแหล่งปิโตรเลียม 2) การจูงใจให้นักลงทุน ซึ่งตอนนี้ผมสั่งให้เขียน TOR มาทั้ง 2 แบบ ทั้งระบบแบ่งปันผลผลิต PSC กับระบบสัมปทาน จะเป็นอย่างไร ทำเป็นตุ๊กตาให้ดู

ส่วนตัวผมมองว่า ทั้ง 2 วิธีไม่แตกต่างกันมาก มันขึ้นอยู่ที่การควบคุม ผมไม่ได้จะฟันธงว่า ระบบอะไรถูกหรือผิด ระหว่างนี้ยังมีเวลา 6-7 เดือนที่จะตัดสินใจ แต่ผมไม่ได้ตัดสินใจคนเดียว มีคณะกรรมการปิโตรเลียม และ ครม.เป็นผู้อนุมัติ

- หากไม่มีใครเข้าประมูล หรือตกลงกันไม่ได้

เราก็จะใช้วิธีเข้าไปเจรจากับรายเดิม แต่คิดว่าต้องมีเข้ามาประมูลอยู่แล้ว ตรงนี้มีจุดที่คนชอบอ้างว่า สัมปทานในประเทศหลุมเยอะ แต่ก็เห็นใช้ไม่หมดซะทีนั้น เราไม่ต้องการบอกว่า แหล่งเรามันน้อย แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นแล้วมันไม่มาก จากปัจจุบันเราผลิตอยู่ที่ 2,800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน เปรียบเทียบกับมาเลเซียที่ผลิตได้ 6,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน อินโดนีเซีย 7,400 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน จะเห็นว่าก๊าซเราน้อย และใช้เพื่อรองรับความต้องการในประเทศทั้งหมด แถมยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศอีกประมาณ 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน เพราะที่ผลิตได้ไม่พอใช้ ก็มีคนอ้างว่าถ้าเป็นอย่างนั้นก็ขายเฉพาะแค่ในประเทศ แต่จะขายเท่าไหร่นั้น ถ้าจะให้ขายถูก ภาษีเข้ารัฐก็ย่อมต้องน้อยลง หรือถ้าแพงก็กระทบกับค่าไฟฟ้า ฉะนั้นควรขายตามราคาตลาดโลก

ทั้งหมดนี้คือข้อชี้แจงของกระทรวงพลังงาน ซึ่งผมรับฟังและวิเคราะห์ ผมขอให้ทุกคนเปิดใจฟัง ทุกระบบมันมีข้อดีข้อเสียตลอด มันอยู่ที่การชั่งน้ำหนัก