ตั้งรับสัมปทานปิโตรเลียมหมดอายุ (26 มิ.ย. 59)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 26 มิถุนายน 2559
ตั้งรับสัมปทานปิโตรเลียมหมดอายุ
สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจได้จัดสัมมนาเรื่อง "ผลกระทบและทางออกสัมปทานปิโตรเลียมหมดอายุ" โดย ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของแหล่งเอราวัณ (ผู้รับสัมปทาน-บริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต) กับแหล่งบงกช (ผู้รับสัมปทาน-บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด มหาชน) ที่กำลังหมดอายุในปี 2565-2566 ว่า ก๊าซธรรมชาติถูกใช้เป็นวัตถุดิบและเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าและโรงงานปิโตรเคมี ปริมาณรวม 2 แหล่งอยู่ที่ 2,200 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน คิดเป็นร้อยละ 60 ของการผลิตก๊าซทั้งอ่าวไทย
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องต่ออายุสัมปทานเพื่อคงระดับการผลิต ถ้ารัฐบาลดำเนินการต่ออายุสัมปทานล่าช้าก็จะทำให้กำลังผลิตก๊าซหายไป 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ส่งผลให้ต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มากขึ้น และเกินกว่าที่ระบบโครงสร้างพื้นฐานจะรองรับได้
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้ตัดสินใจให้ใช้วิธี "เปิดประมูล" กับแหล่งก๊าซทั้ง 2 แหล่ง "เพื่อความโปร่งใส" โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติอยู่ระหว่างร่างเงื่อนไขประมูล (TOR) โดย ดร.ประเสริฐให้ตั้งข้อสังเกตว่า ความไม่เชื่อใจของสังคมในการต่ออายุสัมปทาน จะส่งผลให้ต้นทุนทางพลังงานของประเทศเพิ่มขึ้น
ด้านนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ปตท.ได้ "ประมาณการ" กรณีที่ไม่สามารถต่ออายุสัมปทานและโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา จ.สงขลา ไม่สามารถก่อสร้างได้ว่าจะมีความต้องการ "ส่วนเกิน" ของก๊าซ LNG เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2561-2565 โดยในปี 2564 จะมีปริมาณส่วนเกินถึง 9 ล้านตัน แม้ว่า ปตท.จะนำเข้าก๊าซ LNG เพิ่มได้ แต่อาจมีปัญหาว่าโครงสร้างท่าเรือและคลังไม่สามารถรองรับได้
ทางเลือกที่ ปตท.เตรียมไว้คือ ศึกษาทางเลือกเพื่อใช้เชื้อเพลิงอื่นๆ เช่น น้ำมันเตา รวมถึงศึกษาจากระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ว่าจะขยายเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้หรือไม่