นักวิชาการแนะวิธีแก้ปัญหาคลื่นเซาะหาดพยูน (23 มิ.ย. 59)

PPTV 23 มิถุนายน 2559
นักวิชาการแนะวิธีแก้ปัญหาคลื่นเซาะหาดพยูน

ชายหาดพยูน จ.ระยอง เป็นพื้นที่ได้รับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งบ่อยครั้ง จนสร้างความเสียหายต่อร้านค้า ประชาชน ที่อยู่ติดกับหาด ล่าสุดรัฐบาลพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาด้วยการสร้างแนวกั้นดินคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อลดการกัดเซาะ

วันนี้ (23 มิ.ย. 59) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วิถีชีวิตของชาวประมง ผู้ประกอบการร้านอาหาร ริมหาดพยูน จ.ระยอง สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติยามที่คลื่นลมทะเลสงบ  แต่เมื่อใดที่มรสุมเข้า พื้นที่ตรงนี้แทบจะราบเป็นหน้ากลอง พวกเขาจะทำมาหากินไม่ได้เลย เพราะพื้นที่ริมหาดถูกคลื่นลมทะเลรุนแรง ซัดกลืนหาดทรายลงไปหมด

ร่องรอยความเสียหายของชายหาดเมื่อครั้งคลื่นกัดเซาะ นับเป็นความรุนแรงของธรรมชาติที่เกิดขึ้น เมื่อมองออกไปจากหาดเพียงไม่กี่กิโลเมตรจะเห็นสิ่งปลูกสร้างของนิคมอุตสาหกรรม มาบตะพุด ยื่นออกไปในทะเล สอดคล้องกับการศึกษาของ อาจารย์ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มอ. ที่พบว่า นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการกัดเซาะ เพราะสิ่งปลูกสร้างขัดขวางกระแสน้ำส่งผลให้คลื่นเปลี่ยนทิศทางและเพิ่มความรุนแรง

สำหรับปัญหาการกัดเซาะชายหาด ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นมากว่า 20 ปี จึงนำมาสู่การแก้ปัญหาอย่างจริงจังของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

แนวกั้นคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 3 เมตร ทอดยาวตั้งแต่หาดพยูนถึงหาดน้ำริน ระยะทางกว่า 800 เมตร เพื่อป้องกันคลื่นสูง 1 เมตร แต่ในการแก้ปัญหาจากภาครัฐครั้งนี้ นักวิชาการมองว่า ถึงจะป้องกันคลื่นได้แต่ก็ไม่ยั่งยืน อีกทั้งแนวคอนกรีตจะเร่งการซัดของคลื่นด้วย วิธีการที่พอจะช่วยยื้อหาดทรายเอาไว้ได้ มีเพียงการสร้างโขดหินในทะเลเพื่อชะลอคลื่นลมที่ซัดเข้าหาฝั่งแต่สุดท้ายก็เชื่อว่าจะไม่มีหาดทรายเหลืออยู่