หลายหน่วยงานห่วงสัมปทานปิโตรเลียมใหม่ กระทบผลิตไม่ต่อเนื่อง (22 มิ.ย. 59)

PPTV 22 มิถุนายน 2559
หลายหน่วยงานห่วงสัมปทานปิโตรเลียมใหม่ กระทบผลิตไม่ต่อเนื่อง

สัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุในช่วงปี 2565-2566 โดยหลังจากที่รัฐบาลมีมติให้เปิดการประมูลเพื่อหาผู้รับสัมปทานรายใหม่ ทำให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกังวลว่าการผลิตปิโตรเลียมอาจมีความไม่ต่อเนื่องในการผลิต ขณะที่นักวิชาการระบุพลังงานของประเทศ ต้องไม่เกิดปัญหาหรือขาดช่วง

วันนี้ (22 มิ.ย. 59) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ยังเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยต่อเนื่อง หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เลือกแนวทางการบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุสัมปทานในช่วงปี 2565-2566 ของแหล่งเอราวัณ ซึ่งดำเนินการโดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และแหล่งบงกช ของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.

ทั้งนี้การเปิดประมูลเพื่อหาผู้รับสัมปทานรายใหม่แทนที่จะหารือกับผู้รับสัมปทานรายเดิมเข้ามาดำเนินการ ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าการผลิตก๊าซซึ่งเป็นพลังงานหลักของประเทศอาจจะขาดช่วง

ในเวทีสัมมนาผลกระทบและทางออกสัมปทานปิโตรหมดอายุที่จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ดร.ฐิติศักดิ์ บุญปราโมทย์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า การเปิดประมูลเพื่อหาผู้รับสัมปทานรายใหม่ตามที่แนวทางของรัฐหรือเจรจากับผู้ถือสัมปทานรายเดิม ไม่ใช่ปัญหา เพราะสิ่งสำคัญคือผู้ที่จะมารับสัมปทาน ต้องสามารถผลิตพลังงานได้อย่างต่อเนื่องในช่วงคาบเกี่ยว โดยไม่ขาดช่วง และไม่มีปัญหาต่อการใช้พลังงาน ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐาน และอุตสาหกรรมต้นน้ำ เพราะถ้าเกิดปัญหา ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อการแหล่งอุตสาหกรรมอื่น

ขณะที่ ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวว่า ก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในอ่าวไทย ทั้ง 2 แหล่งถือเป็นแหล่งใหญ่ ผลิตก๊าซได้ราว 2.2 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แบ่งเป็นของเอราวัณ 1.24 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแหล่งบงกช ผลิตก๊าซได้ 870 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คิดเป็นสัดส่วนจัดหาก๊าซในประเทศกว่า 76% ของการจัดหาก๊าซในอ่าวไทย