นายกฯ ตู่ เห็นชอบแผนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา-ท่าเรือในเชิงพาณิชย์ (22 มิ.ย. 59)
MGR Online 22 มิถุนายน 2559
นายกฯ ตู่ เห็นชอบแผนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา-ท่าเรือในเชิงพาณิชย์
ศูนย์ข่าวศรีราชา - นายกรัฐมนตรีเห็นชอบแผนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ และให้จัดทำแผนปฏิบัติการให้แล้วเสร็จพร้อมแผนการเชื่อมโยงอย่างบูรณาการ
วันนี้ (22 มิ.ย.) เมื่อเวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมการท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ตำบลพลา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เรื่อง แนวทางการดำเนินงานของการท่าอากาศยาน และความต้องการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก รวมถึงการพัฒนาท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ
โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ตัวแทนภาคเอกชน และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนรี เปิดเผยผลการประชุมว่า นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในตอนต้นก่อนการประชุมว่า ขอให้การประชุมครั้งนี้ตระหนักถึงศักยภาพของประเทศไทยที่สามารถพัฒนาได้อีกในหลายสาขา เช่น การพัฒนาพื้นที่ฝั่งทะเลภาคตะวันออก ที่จะสามารถสร้างประโยชน์ และเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เช่นอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว เป็นต้น
พร้อมกับขอบคุณกองทัพเรือที่ให้ความร่วมมือในการใช้ประโยชน์พื้นที่ในเชิงพาณิชย์อย่างเต็มที่ เช่น การพัฒนาสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา และท่าเรือน้ำลึกจุกเสม็ด เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถของประเทศ
ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวบรรยายสรุปภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจของบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ว่า บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก มีฐานการผลิตอุตสาหกรรมปิโตรเลียมเคมีของประเทศคิดเป็นเงินลงทุนร้อยละ 36 ของประเทศ (1.9 ล้านล้านบาท) ผลิตภัณฑ์มวลรวมสาขาอุตสาหกรรมสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท (ร้อยละ 39)
รัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม มุ่งเน้นพัฒนาระบบขนส่งทางรางและสร้างโครงข่ายมอเตอร์เวย์ เพื่อลดระยะเวลาในการเดินทาง และลดเวลาในการขนส่งสินค้าลดต้นทุนลอจิสติกส์ เพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง โดยจะเชื่อมเมืองหลัก และเป็นศูนย์กลางของภาคตะวันออกเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้าน
ด้านลอจิสติกส์มุ่งเน้นเป็นศูนย์กลางการคมนาคมพัฒนาเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำของภูมิภาค และด้านการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะพลังงานสะอาด เช่น ระบบรถไฟความเร็วสูง กทม. พัทยา ระยอง พร้อมสร้างท่าเรือเฟอรี่เชื่อมโยงอ่าวไทย พัทยา จุกเสม็ด ชะอำ และพัทยา เสม็ด เกาะช้าง เป็นต้น
ทางด้าน นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญในการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน โดยเตรียมร่างกฎหมายสนับสนุนการลงทุน พร้อมจะพัฒนาต่อยอดความพร้อมด้านอุตสาหกรรม และบริการในอนาคต เพื่อทำให้นักลงทุนทั่วโลกรู้จักด้วยอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี
สำหรับความสำเร็จในการลงทุนของภาคเอกชนในระยะเวลาอันใกล้ ในพื้นที่ภาคตะวันออก มีเอกชนพร้อมลงทุนไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี ได้แก่ อุตสาหกรรมเป้าหมาย 500,000 ล้านบาท โครงสร้างพื้นฐาน 400,000 ล้านบาท ที่อยู่อาศัย โรงเรียน โรงพยาบาล 400,000 ล้านบาท และการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ 200,000 ล้านบาท ทั้งนี้ หัวใจสำคัญของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกคือ การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และพื้นที่ข้างเคียง
จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้สอบถาม และเร่งรัดแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ ถนน ราง ท่าเรือ และอากาศ โดยเร่งรัดให้ดำเนินการให้รวดเร็ว ตอบสนองการพัฒนาทั้งระบบ โครงการ หรือแผนงานไดมีงบประมาณแล้วก็เร่งดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบเวลา หรือรวดเร็วกว่านั้น ที่สำคัญจะต้องมีการเชื่อมโยงระหว่าง 3 สนามบิน คือ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา
สำหรับการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกจุกเสม็ดนั้น มีความสำคัญที่จะช่วยยกศักยภาพเรื่องการขนส่งและการท่องเที่ยว เช่น จุดจอดเรือยอชต์ และเชื่อมกับภูเก็ต จุดจอดเรือเฟอรี่ ที่สำคัญที่สุดจะต้องดูเรื่องการเชื่อมโยงไปท่าเรืออื่นๆ เช่น แหลมฉบัง และสนามบินด้วย
ทั้งนี้ ในส่วนของอุตสาหกรรมใหม่ นายกรัฐมนตรีขอให้พิจารณาเรื่องธุรกิจสีเขียว และวางแผนให้ชัดเจน รวมทั้งเร่งแก้ปัญหา เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ต้องไปดูให้ละเอียด และแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ
นายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบแผนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ และมอบหมายให้จัดทำแผนปฏิบัติการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว หากมีประเด็นข้อกฎหมาย หรืออุปสรรคให้รีบนำเสนอเพื่อหาทางแก้ปัญหาโดยเร็ว ทั้งนี้ ขอให้รับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่ และสร้างความเข้าใจว่าการพัฒนานี้จะสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ เพิ่มโอกาส และยกรายได้ของประเทศอย่างยั่งยืน
หลังจากนั้น เวลา 11.00 น. ภายหลังการร่วมประชุมหัวหน้าส่วนราชการเพื่อติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตรวจเยี่ยมศูนย์ซ่อมอากาศยานแห่งที่ 2 (อู่ตะเภา) ของบริษัท การบินไทยจำกัด (มหาชน)
โดยมี นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ประธานกรรมการบริษัท นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ร.อ.มนตรี จำเรียง รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาอย่างยั่งยืน และ ร.ท.เฉลิมพล อินทรวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายช่าง พร้อมฝ่ายบริการและช่างซ่อมบำรุงให้การต้อนรับ
ทั้งนี้ นายจรัมพร โชติกเสถียร ได้กล่าวสรุปถึงศักยภาพของศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา และความคืบหน้าของการพัฒนาศูนย์ซ่อมให้เป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานแห่งภูมิภาคตามนโยบายของรัฐบาลที่จะพัฒนาให้ท่าอากาศยานอู่ตะเภา เป็นนิคมอุตสาหกรรมการบิน
ศูนย์ซ่อมแห่งนี้เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2540 พื้นที่ 150 ไร่ มีขีดความสามารถในการซ่อมใหญ่ (Heavy Maintenance) สำหรับเครื่องบินลำตัวกว้างแบบโบอิ้ง 747, 777 แอร์บัส เอ 330 และเครื่องบินลำตัวแคบแบบโบอิ้ง 737 โดยมีโรงซ่อมอากาศยาน (Hangar) ขนาดใหญ่สามารถนำเครื่องบินเข้าซ่อมบำรุงพร้อมกันได้ 3 ลำ ดำเนินการซ่อมเฉลี่ยปีละ 20 ลำ
ทั้งนี้ ศูนย์ซ่อมอากาศยานดังกล่าวมีประสิทธิภาพสูง และมีมาตรฐานได้รับการยอมรับในระดับสากลการบินไทย รวมทั้งมีความพร้อมที่จะสนองตอบนโยบายของรัฐบาลในการร่วมพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา เป็นท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์ เพื่อรองรับการขยายตัวการคมนาคมขนส่งทางอากาศในอนาคตทั้งระดับประเทศ และภูมิภาคอาเซียน
นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวต่อพนักงานการบินไทยที่มาต้อนรับว่า ขอให้ช่วยๆ กันปฏิรูป โดยก่อนออกจากศูนย์ซ่อมบำรุง นายกรัฐมนตรีได้ร่วมถ่ายภาพกับทีมช่างซ่อมบำรุง โดยช่างซ่อมบำรุงตะโกนให้กำลังใจในการทำงานแก่ นายกรัฐมนตรี พร้อมขอให้อยู่ต่ออีก 10 ปี
จากนั้นเวลา 11.30 น. นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะตรวจเยี่ยมชมความคืบหน้าการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา โดยนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า การสร้างสนามบินต้องมองถึงอนาคต มีความเชื่อมโยงกับหลายแห่ง และต้องการให้มีภาพลักษณ์ของสนามบินที่สะท้อนความเป็นวัฒนธรรมไทยด้วย
พร้อมทั้งเข้าตรวจเยี่ยมท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ เพื่อติดตามความคืบหน้าการพัฒนาท่าเรือเฟอรี่ เชื่อมจังหวัดในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน รองรับการขนส่งระหว่างฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตก โดยนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า ทราบเรื่องรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการทุกอย่างแล้ว พร้อมกล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่ให้การต้อนรับอย่างดี และนายกรัฐมนตรีได้กล่าวฝากถึงประชาชนทุกคน ว่า ต้องการให้ร่วมมือกัน เชื่อมโยงกันเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การพัฒนาประเทศ ให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน เพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทยต่อไป
ต่อจากนั้น เวลา 15.00น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะเดินทางไปพบปะประชาชน ที่อาคารเอนกประสงค์ เทศบาลต.บ้านฉาง อ.บ้านฉาง จ.ระยอง โดยมีสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผวจ.ระยอง นายอำเภอ นายกเทศมนตรี และประชาชนชาวบ้านฉางให้การต้อนรับ และกล่าวว่าตามที่ผู้ว่าราชการ จ.ระยอง รายงานว่า จังหวัดระยองมีรายได้สูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งมีศักยภาพทั้งในด้านการเกษตร ด้านอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว วันนี้ได้มีการหารือกันจะทำอย่างไรให้โครงการขับเคลื่อนในเรื่องของสนามบินเชิงพาณิชย์แห่งที่ 3 ให้ไปสู่ความทันสมัยให้เกิดผลได้รวดเร็ว จึงคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่พี่น้องชาวระยองมีความเข้มแข็งและมีโอกาสมากขึ้นแล้ว และก็ยังมีโอกาสเชื่อมโยงกับเพื่อนๆคนไทยที่จังหวัดอื่นด้วย คงไม่ใช่สนามบินอย่างเดียว มีท่าเรือเฟอรรี่ เรือท่องเที่ยวชายฝั่ง
“ซึ่งต้องคิดให้ไกลและต้องฝันให้ไกลและก็ต้องทำให้ได้และต้องไปให้ถึง รัฐบาลนี้ตั้งมั่นอย่างนี้ มีใครไม่เห็นด้วยมั๊ย เราต้องพาจังหวัดอื่นเขาขึ้นมาด้วย คนไทยมี 67 ล้านคน เราจะทำอย่างไร ให้คนไทยทุกคนจะมีความสุขอย่างพอเพียง ตามแต่สภาพที่เขามีอยู่ คนรวยก็ช่วยคนจน นโยบายก็คือการพี่จูงน้อง เพื่อนจูงเพื่อน คิดว่าวันนี้เราก้าวนำไปแล้ว เราก็ต้องทำที่อื่นให้เจริญด้วย โดยที่มีความแตกต่าง สินค้าอะไรก็ตาม ต้องสร้างความแตกต่าง สร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่า”
“อย่าไปคิดเหมือนกันแล้วมันจะขายไม่ได้ แล้ววันหน้าเราจะได้ส่งเสริมทั้งหมดออกไปสู่ภูมิภาค สู่ประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด และไปสู่อาเซียน เพราะวันนี้เราอยู่ด้วยการเชื่อมโยง เพราะฉะนั้นชาวอำเภอบ้านฉางและชาวระยองเราจะต้องเข็มแข็งเข้าด้วยกัน เราใช้คำว่าเราต้องเจริญเติบโตและแข็งแกร่งไปด้วยกัน”
จากนั้นนายกรัฐมนตรีและคณะไปตรวจเยี่ยมชมการก่อสร้างโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง (แนวกำแพงดินคอนกรีตเสริมเหล็ก) บริเวณหาดพยูน เพื่อป้องกันความเสียหายของแหล่งท่องเที่ยวของอำเภอบ้านฉาง.