นายกฯแจงโรงขยะไม่กระทบสิ่งแวดล้อม (22 มิ.ย. 59)
ไทยรัฐออนไลน์ 22 มิถุนายน 2559
นายกฯแจงโรงขยะไม่กระทบสิ่งแวดล้อม
กรณีชาวบ้าน บ้านน้อยหมู่ที่ 15 ต.ในเมือง อ.พิมาย จ.นครราชสีมา คัดค้านการสร้างโรงคัดแยกของเทศบาลตำบลพิมาย ที่กำลังจะลงมือสร้างบนเนื้อที่ 25 ไร่ ซึ่งที่ดินดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตพื้นที่บ้านน้อย หมู่ที่ 15 ต.ในเมือง อ.พิมาย จ.นครราชสีมา โดยชาวบ้านเกรงว่าถ้ามีโรงคัดแยกขยะจะทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตามข่าวที่ นสพ.ไทยรัฐ ได้นำเสนอไปแล้วนั้น ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.นายดนัย ตั้งเจิดจ้า นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลพิมาย เผยว่า สถานที่ดังกล่าวใช้เป็นที่ทิ้งขยะของเทศบาลตำบลพิมายมานานกว่า 30 ปีแล้ว ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีบ้านเรือนประชาชนไปปลูกสร้างใกล้บริเวณนั้น ประชาชนก็สามารถทิ้งขยะได้อย่างไม่มีปัญหา ต่อมาขยะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทางเทศบาลฯ จึงใช้วิธีนำรถแบ็กโฮมาขุดเพื่อฝังกลบขยะบนเนื้อที่ที่มีคือ 25 ไร่ และเมื่อ พ.ศ.2555 ตนได้เข้ามารับตำแหน่งนายกเทศมนตรี ก็ได้มีนักวิชาการท่านหนึ่งบอกกับตนว่าถ้ายังใช้วิธีฝังกลบขยะแบบนี้ไปเรื่อยๆ ประมาณ พ.ศ.2561 ขยะที่ฝังกลบก็จะเต็มพื้นที่จะทำให้ขยะล้นต้องกลบเป็นชั้นที่ 2 และอาจจะส่งผลกระทบกับชาวบ้านที่อยู่บริเวณใกล้เคียงได้ ตนจึงไปปรึกษาผู้ใหญ่หลายๆท่านในจังหวัดนครราชสีมาเพื่อหาวิธีป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
นายก ทต.พิมายเผยอีกว่า กระทั่งปีที่แล้วได้รับการประสานจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ว่ามีงบประมาณจากกระทรวงพลังงานเป็นเงิน 87.5 ล้านบาท ให้จัดสร้างโรงคัดแยกขยะ ซึ่งทั้งประเทศจะสร้างเพียง 4 แห่งเท่านั้น โดยก่อนจะสร้างตนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้เข้าไปดูโรงคัดแยกขยะต้นแบบที่สร้างเสร็จแล้วซึ่งอยู่ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ตนเห็นว่าถ้าสร้างเสร็จจะเกิดประโยชน์ต่อชาวบ้านจึงตอบตกลงที่จะให้มีโครงการนี้เกิดขึ้นใน อ.พิมาย เพราะเป็นผลดีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และจะไม่ทำให้เกิดมลพิษอย่างที่ชาวบ้านเข้าใจ ทั้งนี้ ตนอยากให้ชาวบ้านเปิดใจเพื่อรับฟังเหตุผลถ้าตนปฏิเสธข้อเสนอที่ดีๆแบบนี้ไป เมื่อถึง พ.ศ.2561 ถ้าเกิดปัญหาขยะล้นขึ้นมาจริงๆก็ยังไม่รู้ว่าจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร
ส่วนที่ชาวบ้านอยากให้ย้ายไปสร้างที่อื่นนั้นนายดนัยกล่าวว่า ถ้ามีพื้นที่รองรับก็สามารถทำได้ โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมากโดยทางกระทรวงพลังงานจะเป็นคนออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดด้วยงบประมาณ 87.5 ล้านบาท และมีระยะเวลาในการก่อสร้าง 365 วัน จึงอยากให้ชาวบ้านเข้าใจตรงกัน.