เครือข่ายอนุรักษ์ค้านสัมปทานเหมืองแร่ อ.หนองหญ้าปล้อง ชี้ไม่ชอบ กม. ลงมติส่อมีประโยชน์แอบแฝง (20 มิ.ย. 59)
มติชนออนไลน์ 20 มิถุนายน 2559
เครือข่ายอนุรักษ์ค้านสัมปทานเหมืองแร่ อ.หนองหญ้าปล้อง ชี้ไม่ชอบ กม. ลงมติส่อมีประโยชน์แอบแฝง
เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน เวลา 10.30 น. น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ประธานชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพชรบุรี อดีต ส.ว.เพชรบุรี พร้อมด้วย นายนิวัฒน์ มั่นหมาย ประธานเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) จังหวัดเพชรบุรี นายชวนชม ผู้งาม ประธาน ทสม. อ.หนองหญ้าปล้อง สมาชิก อบต.ยางน้ำกลัดใต้ และชาวบ้านกว่า 10 คน เดินทางมาที่ว่าการอำเภอหนองหญ้าปล้อง ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายยุทธนา โพธิวิหค นายอำเภอหนองหญ้าปล้อง ให้พิจารณาสอบสวนกรณีสภา อบต.ยางน้ำกลัดใต้ เห็นชอบให้บริษัท ไมเนอร์ แอนด์ ไมนิ่ง จำกัด ทำเหมืองแร่ในพื้นที่ หมู่ 7 บ้านปากรัตน์ ซึ่งเป็นการดำเนินการที่มิชอบด้วยกฎหมาย และสวนทางกับแนวนโยบายของรัฐบาล ที่ให้มีการดูแลรักษาป่าต้นน้ำ
นายชวนชมเปิดเผยว่า บริษัทไมเนอร์ฯ ได้ยื่นเรื่องขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ควอทซ์ ในป่าสงวนแห่งชาติ ป่ายางน้ำกลัดเหนือ-ยางน้ำกลัดใต้ บริเวณหมู่บ้านปากรัตน์ หมู่ 7 ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มาก เป็นแหล่งกำเนิดน้ำที่ไหลลงมายังอ่างเก็บน้ำวังหิน และอ่างเก็บน้ำห้วยรางโพธิ์ ที่ชาวบ้านจำนวนมากใช้เป็นแหล่งน้ำในการอุปโภคบริโภค ที่ผ่านมาบริษัทฯได้พยายามยื่นขอสัมปทานในพื้นที่ดังกล่าวมาแล้วหลายครั้ง ชาวบ้านและหน่วยงานภาคเอกชนได้แสดงเจตนาคัดค้านถึง อบต.ยางน้ำกลัดใต้ อุตสาหกรรมจังหวัด และจังหวัดเพชรบุรี มาโดยตลอด เนื่องจากหากมีการอนุญาตให้สร้างจริง เกรงจะส่งผลกระทบมีสารปนเปื้อนจากฝุ่นผงหินลงแหล่งน้ำซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านผู้ใช้น้ำมาก
นายชวนชมกล่าวต่อไปว่า เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา อบต.ยางน้ำกลัดใต้ โดยนายสิทธา พวงไม้ ประธานสภาฯ ได้เปิดประชุมสภา อบต. เพื่อพิจารณาเห็นชอบการขอสัมปทานดังกล่าว แต่ปรากฏว่าในการประชุมกลับมีการให้ข้อมูลที่ไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง ไม่ครบถ้วนรอบด้าน อีกทั้งไม่มีการรับฟังการคัดค้านจากสมาชิกสภา อบต.ที่ชี้แจงว่าอาจขัดต่อระเบียบกรมป่าไม้ ว่าด้วยการขอเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2548 แต่กลับมีมติอย่างเร่งรีบ 8 ต่อ 8 เสียง เห็นชอบให้บริษัท ไมเนอร์ แอนด์ไมนิ่ง เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่
ด้าน น.ส.สุมลกล่าวว่า การกระทำดังกล่าวของ สภา อบต.ยางน้ำกลัดใต้ เป็นการกระทำที่ขัดต่ออำนาจหน้าที่ อบต.ในการคุ้มครองดูแลสิ่งแวดล้อม และยังเป็นการกระทำที่เกินกว่าอำนาจหน้าที่ ที่ระบุไว้ใน การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้ยังไม่มีการรับฟังความเห็นของประชาชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี การกระทำดังกล่าวที่มีการรีบร้อนลงมติจึงอาจเป็นพฤติกรรมที่มีประเด็นซ่อนเร้นและอาจมีการพิจารณาที่มีผลประโยชน์แอบแฝงไม่โปร่งใส จึงร้องเรียนให้ระงับมติสภาองค์การบริหารส่วนตำบลยางน้ำกลัดใต้ และพิจารณากระบวนการการให้ความเห็นชอบในขั้นตอนต่างๆ ตามหลักฐานของสภาพพื้นที่ซึ่งไม่มีความเหมาะสม จะเป็นพื้นที่ประกอบการเหมืองแร่
ทั้งนี้เบื้องต้นนายยุทธนา ได้รับเรื่องดังกล่าวไว้ และจะได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ เพื่อดำเนินการอย่างถูกต้องตรงไปตรงมาโดยเร็ว เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญ