"กลุ่มฮักบ้านฮั่นแน้ว" การรวมตัวของชาวบ้านกับสถานการณ์เหมืองถ่านหินที่ปากชมงแซง จ.กาฬสินธุ์ พื้นที่ขุดเจาะสำรวจก๊าซปิโตรเลียม (19 มิ.ย. 59)
Citizen Thai PBS 19 มิถุนายน 2559
'กลุ่มฮักบ้านฮั่นแน้ว' การรวมตัวของชาวบ้านกับสถานการณ์เหมืองถ่านหินที่ปากชม
'กลุ่มฮักบ้านฮั่นแน้ว' เป็นการรวมตัวของชาวบ้าน 2 หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านสาธร หมู่ 10 และหมู่บ้านคอนสา หมู่ 4 ต.เชียงกลม อ.ปากชม จ.เลย ก่อตั้งขึ้นมาสด ๆ ร้อน ๆ เพื่อรวมตัวกันต่อต้านการเข้ามาขอสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่หลายชนิดในพื้นที่ของนายทุนหลายราย
ทีมงานเพจ 'เหมืองแร่ เมืองเลย V2'
19 มิถุนายน 2559
พื้นที่แห่งนี้เหมือนกับหลาย ๆ พื้นที่ของจังหวัดเลยที่เป็นที่หมายปองของนายทุนทำเหมือง ในแง่ภูมิศาสตร์มันถูกยกให้เป็น 'เมืองแห่งทะเลภูเขา สุดหนาวในสยาม' แต่ในแง่ธรณีวิทยามันเป็นแหล่งก่อกำเนิดและสะสมแร่เศรษฐกิจหลายชนิด ทั้งที่เป็นโลหะและอโลหะ เช่น ทองคำ ทองแดง เหล็ก ตะกั่ว ถ่านหิน แบไรท์ แมงกานีส ยิปซั่ม ฯลฯ
ข้อมูลปัจจุบัน พื้นที่ในเขต 2 หมู่บ้านนี้ถูกขอสัมปทานโดยเอกชน 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท ซี.เอส.เอ็น ไมนิ่ง จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) ไทยเจริญไมนิ่ง โดยทั้งสองบริษัทได้รับอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ถ่านหินที่ 72/2557 และ 10/2558 ตามลำดับ ซึ่งอาจได้รับอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่แปลงอื่น ๆ อีก แต่ไม่ทราบรายละเอียด
ในส่วนของ หจก. ไทยเจริญไมนิ่งไม่เพียงได้รับอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ตามที่กล่าวไว้แล้วเท่านั้น แต่กำลังยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ถ่านหินด้วยเป็นจำนวน 4 แปลง ได้แก่ คำขอประทานบัตรที่ 16/2558 17/2558 22/2558 และ 23/2558 รวมพื้นประมาณ 1,200 ไร่
ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้เกิดกิจกรรมการเคลื่อนไหวในหมู่บ้านอย่างคึกคัก เพราะ หจก. ต้องการความเห็นและลายเซ็นต์ของชาวบ้านเพื่อสนับสนุนการขอประทานบัตรตามแผนการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน หรือประชาคมหมู่บ้าน ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งตามกฎหมายแร่ที่ระบุไว้ในการพิจารณาอนุมัติ/อนุญาตประทานบัตร
โดยเฉพาะแผนมวลชนสัมพันธ์ที่กำลังเป็นปัญหาถกเถียงแลกเปลี่ยนกันอยู่ในหมู่บ้าน ณ เวลานี้
จากกรณีการเข้ามาสนับสนุนเงินของบริษัทในการทำบุญล้างป่าช้าของ 2 หมู่บ้าน เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2559 ด้วยการบริจาคเต็นท์สนามผ้าใบหมู่บ้านละ 2 เต็นท์ แก้วน้ำหมู่บ้านละ 200 ใบ โต๊ะยาวหมู่บ้านละ 4 ตัว เก้าอี้พลาสติกหมู่บ้านละ 200 ตัว เครื่องเสียงพร้อมไมโครโฟนกระเป๋าหิ้วหมู่บ้านละ 1 ตัว ห้องส้วมใหม่ที่เมรุเผาศพ 2 ห้อง และปรับปรุงซ่อมแซมห้องส้วมเดิม สร้างบันไดขึ้นศาลาฌาปนสถาน รวมทั้งเงินค่าใช้จ่ายในการทำบุญล้างป่าช้าทั้งหมด
ภาพ 1 บรรยากาศในงานพิธีทำบุญล้างป่าช้า
หรือพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ หมู่ 4 และ หมู่ 10 ผู้ล่วงลับ ที่ฌาปนกิจสถานของสองหมู่บ้าน ในช่วงเช้าของวันที่ 18 มิถุนายน 2559
ภาพ 2 ภาพระยะใกล้ป้ายพิธีทำบุญล้างป่าช้า
สำหรับกิจกรรมมวลชนสัมพันธ์ด้วยการทำบุญล้างป่าช้าและบริจาคสิ่งของแก่หมู่บ้านครั้งนี้ ชาวบ้านจับตาอย่างใกล้ชิด มีการถ่ายรูปและบันทึกวีดีโอเก็บเอาไว้ เพราะหวั่นเกรงว่าจะมีการให้ชาวบ้านลงนามหรือเซ็นต์ชื่อเพื่อรับของบริจาค แล้วเอาไปแอบอ้างหรือใช้เป็นหลักฐานเท็จว่าเป็นลายเซ็นต์หรือลายมือชื่อของชาวบ้านที่สนับสนุนให้ หจก. ดังกล่าวดำเนินการขอประทานบัตรต่อไปได้ ตามขั้นตอนการประชาคมหมู่บ้าน
สุดท้ายก็ไม่มีเจ้าหน้าที่มวลชนสัมพันธ์รายใดของ หจก. นำเอกสารมาให้ชาวบ้านลงชื่อและลงลายมือชื่อแต่อย่างใด
ภาพ 3 ป้ายบริจาคสิ่งของเครื่องใช้แก่หมู่บ้านทั้งสองที่หน้าบริเวณฌาปนกิจสถาน เมรุเผาศพ ของหมู่บ้านทั้งสอง ในวันเดียวกัน
ภาพ 4 ภาพระยะใกล้ป้ายการบริจาคสิ่งของแก่หมู่บ้านทั้งสองที่หน้าบริเวณฌาปนกิจสถาน เมรุเผาศพ ของหมู่บ้านทั้งสอง
หลังจากทำบุญล้างป่าช้า เลี้ยงเพลพระ และทานอาหารกลางวัน หจก. ดังกล่าวได้พาชาวบ้านทั้งสองหมู่บ้านจำนวนกว่า 100 คนไปดูงานการทำเหมืองแร่ถ่านหินที่ อ.นาด้วง จ.เลย ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากหมู่บ้านประมาณ 60 กิโลเมตร ด้วยรถตู้ 4 คัน และรถปิกอัพของชาวบ้านอีกหลายสิบคัน โดยจ่ายค่าเสียเวลาให้คนละ 200 บาท สำหรับผู้ที่นำรถปิกอัพมาเองจ่ายค่าน้ำมันให้อีกคันละ 1,000 บาท
ปิดท้ายรายการด้วยการเลี้ยงอาหารเย็นและเครื่องดื่มที่โรงแรมแห่งหนึ่งใน อ.เมือง จ.เลย โดยมีเจ้าหน้าที่จากอุตสาหกรรมจังหวัดเลยมาร่วมรับประทานอาหารและให้ข้อมูลเพิ่มเติม
“ตอนนี้ผ่านการสำรวจไปเรียบร้อยแล้ว ไม่มีผลกระทบอะไร” เจ้าหน้าที่จากอุตสาหกรรมจังหวัดเลยรายหนึ่งที่ไม่ระบุนามกล่าว หลังจากที่ให้ข้อมูลภาพรวมการทำเหมืองถ่านหินกับคณะชาวบ้านที่ หจก. พามาดูงาน ในงานเลี้ยงอาหารเย็น
“ถ้าสมมุติว่าเขาเลิกทำเหมืองแล้ว ท้องถิ่นอาจจะไปขอมาใช้ทำอ่างเก็บน้ำสำหรับทำการเกษตร หรือใช้ในครัวเรือนได้ ไม่มีผลเสียอะไรเลย” หัวหน้ามวลชนสัมพันธ์ของ หจก. กล่าวต่อจากเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดเลยแก่คณะชาวบ้านที่ไปดูงาน
ส่วนชาวบ้านที่ไปดูงานก็มีความเห็นเป็นสองทิศทาง ทางหนึ่งก็เห็นด้วยที่จะสนับสนุนให้ หจก.ไทยเจริญไมนิ่งได้รับประทานบัตรโดยเร็วเพื่อจะได้มีงานทำ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็จะได้รับค่าภาคหลวงแร่และภาษีต่าง ๆ สำหรับนำมาพัฒนาชุมชนหมู่บ้านและท้องถิ่นเพิ่มขึ้น
อีกด้านหนึ่งก็ทุกข์ใจ เพราะไม่เห็นด้วยที่จะให้ หจก.ไทยเจริญไมนิ่งได้รับประทานบัตร เพราะหวั่นเกรงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แต่ก็ไม่รู้ว่าจะต่อต้านคัดค้านอย่างไร
“เขาบอกว่ามันผ่านเบื้องบนแล้ว เราจะต้านเขาได้ไงล่ะ” ชาวบ้านหมู่บ้านคอนสารายหนึ่งพูดคุยระบายความทุกข์ให้เพื่อนบ้านที่ไม่ได้เดินทางไปดูงานรับฟังในเช้าวันต่อมา
อย่างไรก็ตาม คณะชาวบ้านที่ไปดูงานการทำเหมืองถ่านหินที่ อ.นาด้วงเห็นพ้องต้องกันอย่างหนึ่งว่า การดูงานครั้งนี้จะไม่มีการลงนามในเอกสารใด ๆ ทั้งสิ้น โดยทั้งชาวบ้านฝ่ายสนับสนุนให้เปิดเหมืองและชาวบ้านฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยให้เปิดเหมืองที่ไปดูงานครั้งนี้ร่วมกัน ต่างเห็นว่า หจก. และอุตสาหกรรมจังหวัดเลยไม่ควรผลีผลามหรือมัดมือชกชาวบ้านเกินไป ควรให้เป็นไปตามกระบวนการและขั้นตอนของกฎหมายที่มีอยู่ ด้วยการเข้ามาจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นชาวบ้าน หรือทำประชาคมหมู่บ้านอย่างเปิดเผยและโปร่งใส
ไม่ควรมีการจัดกิจกรรมอื่นแล้วเอาลายมือชื่อของชาวบ้านไปสอดไส้ หรือสร้างหลักฐานเท็จว่าเป็นลายมือชื่อของชาวบ้านที่ได้จากการจัดประชุมประชาคมหมู่บ้าน
ถึงแม้เหตุการณ์เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2559 จะผ่านไปด้วยดี คลายความทุกข์ใจ โดยไม่มีการนำเอกสารใด ๆ มาให้ชาวบ้านลงลายมือชื่อเพื่อแอบอ้างการทำประชาคมแต่อย่างใด
แต่วันต่อ ๆ ไปชาวบ้านกลับยิ่งหนักใจยิ่งขึ้น เพราะไม่รู้ว่าผู้ประกอบกิจการจะใช้วิธีการที่ซ่อนเร้นอำพรางอื่นต่อไปอีกในหมู่บ้านเพื่อให้ได้ลายมือชื่อในการสนับสนุนเหมืองหรือไม่ เพราะช่วงระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมาทำให้ชาวบ้านไม่มีความมั่นใจเลยว่า หจก. จะเปิดเวทีประชาคมหมู่บ้านด้วยความโปร่งใสและเปิดเผย
เนื่องจากก่อนหน้างานบุญล้างป่าช้า ในงานบุญออกพรรษาปีที่ผ่านมาก็บริจาคเงินให้วัดของหมู่บ้านวัดละ 2 หมื่นบาท และค่าอาหารในงานบุญดังกล่าวอีกวัดละ 5,000 บาท
ภาพ 5 ชาวบ้าน ‘กลุ่มฮักบ้านฮั่นแน้ว’ เริ่มต้นกิจกรรมรณรงค์เล็กๆ ในหมู่บ้านเพื่อคัดค้านต่อต้านการขอสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ถ่านหินของ หจก.ไทยเจริญไมนิ่ง ในวันเดียวกัน
ที่ถนนบริเวณหน้าวัดสาธรเทพนิมิต บ้านสาธร หมู่ 10 ต.เชียงกลม อ.ปากชม จ.เลย
ที่เป็นสถานที่จัดกิจกรรมบริจาคสิ่งของเครื่องใช้แก่หมู่บ้านสาธร ส่วนการบริจาคสิ่งของเครื่องใช้แก่หมู่บ้านคอนสา แยกไปจัดที่วัดในหมู่บ้านคอนสาร
ประวัติโดยย่อของหมู่บ้าน
หมู่บ้านคอนสาแต่เดิมชื่อหมู่บ้าน ‘ขอนสา’ จนกร่อนเสียงมาเป็น ‘คอนสา’ เนื่องมาจากมีต้นไม้ชื่อว่า ‘ต้นสา’ ขึ้นอยู่เต็มไปหมดตามริมลำห้วย เป็นพืชยืนต้นไม้เนื้ออ่อน เปลือกใช้ทำกระดาษสา มีการเก็บต้นสาเอามาลอกเปลือกขาย คล้าย ๆ การลอกเปลือกต้นปอ
ปัจจุบันยังมีชาวบ้านกลุ่มเล็ก ๆ เก็บหาต้นสาตามริมลำห้วยเพื่อลอกเอาเปลือกไปขาย ราคาขายในปัจจุบันอยู่ที่กิโลกรัมละ 30 - 40 บาท
ลำห้วยสำคัญของชุมชนได้แก่ห้วยสะเอียนและห้วยผุก ซึ่งต้นน้ำของทั้งสองลำห้วยอยู่ตรงบริเวณที่ หจก. ดังกล่าวได้รับอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ถ่านหิน และกำลังยื่นเรื่องขอทำเหมืองแร่ถ่านหินตามคำขอประทานบัตรทั้ง 4 แปลงด้วย จึงเป็นข้อห่วงกังวลสำคัญอีกเรื่องหนึ่งของชาวบ้านที่เริ่มก่อตัวในการต่อต้านคัดค้าน เพราะหวั่นเกรงว่าการทำเหมืองถ่านหินจะก่อให้เกิดผลกระทบในการทำลายต้นน้ำลำธาร ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญของชาวบ้านทั้งสองหมู่บ้าน
ลำห้วยสะเอียนจะไหลรวมกับลำห้วยผุกแล้วไหลต่อไปลงน้ำหงาว ตรงสะพานข้ามลำห้วยที่หมู่บ้านคอนสา แล้วไหลต่อไปลงแม่น้ำโขงตรงบริเวณหมู่บ้านสะหงาว ต.ห้วยพิชัย อ.ปากชม จ.เลย
วิถีชีวิตของคนที่นี่มีอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก พืชเศรษฐกิจที่เป็นรายได้หลักก็มีมันสำปะหลังและข้าวโพดอาหารสัตว์ การหารายได้กับพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นโดยเฉพาะผลไม้แก้วมังกรและกล้วยหอมทองกำลังเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในชุมชน เริ่มมีการลงทุนเพาะปลูกกันหลายครัวเรือนโดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณและวิชาการจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.)