จี้บริษัทน้ำตาลเลิกใช้‘พาราควอต’ นักวิชาการเผยไร้ยาถอนพิษ (20 เม.ย. 61)

แนวหน้าออนไลน์ 20 เมษายน 2561
จี้บริษัทน้ำตาลเลิกใช้‘พาราควอต’ นักวิชาการเผยไร้ยาถอนพิษ

“มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค”เร่งตรวจสอบบริษัทน้ำตาล หวังยุติการใช้“พาราควอต” ด้านนักวิชาการเผยยังไม่มียาถอนพิษ

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) เปิดเผยว่า จากการที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายสุขภาพในการรณรงค์เพิกถอนสารเคมีอันตราย “พาราควอต (Paraquat)” เนื่องจากมีงานวิชาการที่รองรับชัดเจนถึงผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภคนั้น ทาง มพบ.ได้ดำเนินการส่งแบบสอบถามขอทราบข้อมูลนโยบายในการผลิตน้ำตาล จากบริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์น้ำตาล จำนวน 47 บริษัท ว่าบริษัทใดยังมีการใช้วัตถุดิบจากอ้อยที่มีการใช้สารพาราควอต เป็นสารเคมีกำจัดวัชพืชหรือไม่ รวมทั้งแต่ละบริษัทมีนโยบายหรือความคิดเห็นต่อกรณีนี้อย่างไร

“หากภายในวันที่ 30 เมษายน 2561 บริษัทใดไม่สะดวกตอบกลับแบบสอบถาม ทาง มพบ. จะขออนุญาตแปลความในการไม่ตอบแบบสอบถามว่า บริษัทยังไม่มีนโยบายในการยกเลิกการใช้สารเคมีพาราควอตในวัตถุดิบสำหรับการผลิตน้ำตาล จากนั้นจะสื่อสารไปยังผู้บริโภคเพื่อการตัดสินใจ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคและยึดหลักการป้องกันไว้ก่อน (Precautionary Principle) ในการลด ละ เลิกการใช้สารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรงต่อเกษตรกร ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม” น.ส.สารีกล่าว

ด้าน น.ส.มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า พาราควอต คือชื่อทางการค้า ที่ใช้เรียกสารเคมีกำจัดวัชพืช ซึ่งเป็นสารพิษเฉียบพลัน ที่ยังไม่สามารถรักษาได้ ถ้าผู้ใช้สัมผัสโดยตรง สารพิษจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ และก่อให้เกิดโรคพากินสัน รวมทั้งโรคเกี่ยวกับระบบประสาท โดยเฉพาะเกษตรกร ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงอันดับต้น นอกจากนี้สารพิษดังกล่าวยังสามารถซึมลงสู่ดิน และเข้าสู่กระบวนการน้ำในดิน จนปนเปื้อนไปในแหล่งน้ำตามธรรมชาติได้

“สำหรับผู้บริโภค หากรับประทานอาหารที่มีสารพาราควอตตกค้าง จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับผู้ที่สัมผัสโดยตรง แต่ไม่รุนแรงเท่า อย่างไรก็ตามประเทศไทยมีการใช้สารพาราควอตมานานมาก แต่ก็มีการวิจัยถึงผลกระทบและต้องการให้ยุติการใช้มาโดยตลอด แต่ยังไม่สามารถทำได้ ขณะที่ในอีก 48 ประเทศทั่วโลก แม้กระทั่งประเทศที่เป็นต้นผลิตพาราควอตอย่างประเทศอังกฤษ รวมถึงประเทศในแถบอาเซียน เช่น จีน เกาหลี และเวียดนาม ก็ประกาศห้ามใช้สารดังกล่าวแล้ว” น.ส.มลฤดี กล่าว

ที่มา : มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค