เหมืองทองอัคราฯแจงยิบ ไม่เกี่ยวน้ำเน่ากลางนา ชี้เป้าตอซังหมักหมม-ขยะมีผล (20 ม.ค. 61)

MGR Online 20 มกราคม 2561
เหมืองทองอัคราฯแจงยิบ ไม่เกี่ยวน้ำเน่ากลางนา ชี้เป้าตอซังหมักหมม-ขยะมีผล 

ศูนย์ข่าวภูมิภาค - เหมืองทองอัคราฯ ร่อนจดหมายแจงยิบ คนบิดเบือนข้อมูลผลตรวจน้ำเน่ากลางนาริมขอบเหมือง หวังผลโจมตี ทั้งที่ กพร. ยังไม่เผยแพร่ข้อสรุป พร้อมยืนยันผลวิเคราะห์เบื้องต้น 3 หน่วยงาน ไม่พบสารจากโรงงาน ระบุ “ตอซังข้าวหมักหมม - ขยะ - ใบยูคา” มีส่วนทำน้ำเน่า

หลังจากมีการนำเสนอข่าว “ฟันธง! น้ำเน่าริมขอบเหมืองทองอัคราฯ ปนเปื้อนทั้งสารหนูยันไทโอไซยาเนต” ( https://mgronline.com/local/detail/9610000000216) บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรี ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า บริษัทฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเรื่องดังกล่าว แม้ขณะนี้บริษัทฯ ได้รับคำสั่งให้ระงับการประกอบการอยู่ ไม่มีการดำเนินการผลิตใดๆ ทั้งสิ้น 

โดยทันทีที่บริษัทฯ ได้รับทราบเรื่องดังกล่าวในวันที่ 14 พ.ย. 60 บริษัทฯ ได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐอย่างเต็มที่ จัดให้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิทยาศาสตร์และสุขภาพลงพื้นที่ พร้อมทั้งช่วยประสานงานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการเข้าสำรวจจุดที่ได้รับแจ้งอย่างเร่งด่วนในวันเดียวกัน

16 พ.ย. ตัวแทนจากบริษัทฯ พร้อมด้วยส่วนราชการ คณะเจ้าหน้าที่ สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ส่วนกลางและเขต 5 (พิษณุโลก), สำนักงานอุตสหกรรมจังหวัดพิจิตร, สำนักสิ่งแวดล้อมภาคที่ 4, สำนักงานเกษตรจังหวัดพิจิตร, กองกำลังรักษาความสงบจังหวัดพิจิตร, คณะอาจารย์มหาวิทยาลัยนเรศวร, ตัวแทนชาวบ้าน และสื่อมวลชน ได้ร่วมเก็บตัวอย่างทั้งหมด 6 จุด ดังนี้ มหาวิทยาลัยนเรศวร เก็บตัวอย่าง 8 ตัวอย่าง, กรมควบคุมมลพิษจำนวน 4 ตัวอย่าง และบริษัทฯ เก็บ 7 ตัวอย่าง

ซึ่งบริษัทฯ ได้เก็บสำรองตำอย่างทั้ง 7 อีกชุดที่สำนักสิ่งแวดล้อมภาคที่ 4 เพื่อส่งตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง พร้อมกับวัดคุณภาพของน้ำที่เก็บไป ว่ามีคุณลักษณะทางเคมีและกายภาพที่มีสารปนเปื้อนจากการรั่วซึมของบ่อกักเก็บกากแร่ของหมืองแร่ทองคำชาตรีหรือไม่ อย่างไร 

เบื้องต้นผลวิเคราะห์จากทั้ง 3 หน่วยงานคือ กรมควบคุมมลพิษ มหาวิทยาลัยนเรศวร และบริษัทฯ ไม่พบสารไซยาไนด์ หรือสารใดๆ ที่ใช้ในโรงงาน แต่พบสารอื่นๆ ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ธาตุเหล็ก แมงกานีส สารหนู ไทโอไซยาเนต และซัลเฟต เป็นต้น แต่มีค่าไม่แตกต่างจากจุดควบคุมแต่อย่างใด

โดยธาตุเหล็ก และแมงกานีส จากน้ำป่าบัว ซึ่งเป็นที่ลุ่มและเป็นพื้นที่น้ำซึมน้ำซับตามธรรมชาติที่เกิดมานานตั้งแต่สมัยโบราณก่อนที่จะมีเหมือง มีค่า 23.9 และ 6.27 มิลลิกรัมต่อลิตร เทียบกับน้ำในนาควบคุมที่อยู่ห่างจากเหมืองไปทางต้นน้ำประมาณ 5 กิโลเมตร ที่มีผลวิเคราะห์ 30.6 และ 5.85 มิลลิกรัมต่อลิตร ตามลำดับ

ส่วนสารหนูนั้น สามารถตรวจพบได้ตามธรรมชาติในปริมาณที่ต่ำ เนื่องจากเป็นส่วนผสมของยาปราบศัตรูพืชและยาปราบวัชพืชที่เกษตรกรใช้กันทั่วไปบนพื้นที่การเกษตรอยู่แล้ว โดยพบในปริมาณที่เท่ากันระหว่างในป่าบัวและในนาข้าวจุดควบคุมที่ 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร ส่วนซัลเฟต แม้จะพบว่ามีค่าสูงในป่าบัว แต่ก็ยังต่ำกว่าค่ามาตรฐานของน้ำผิวดิน หรือในน้ำดื่มและน้ำบาดาลที่ใช้บริโภค ตามเกณฑ์อนุโลมสูงสุดที่ 250 มิลลิกรัมต่อลิตร

สำหรับไทโอไซยาเนตนั้น เป็นสารที่ไม่มีอันตรายและพบได้ตามธรรมชาติอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นส่วนผสมของยาปราบศัตรูพืชและยาปราบวัชพืชเช่นกัน โดยพบว่ามีค่า 0.27 มิลลิกรัมต่อลิตรในป่าบัว ซึ่งต่ำกว่าในนาข้าวควบคุม ที่มีค่า 0.91 มิลลิกรัมต่อลิตร

แต่แม้ค่าทางเคมีจะไม่แสดงว่ามีไซยาไนด์ หรือสารเคมีอันตรายใดๆที่ใช้ในโรงงานสกัดแร่ทองคำของบริษัทอัคราฯ แล้วน้ำเน่าเสียในนาข้าวเกิดจากสาเหตุใด คำตอบที่น่าจะถูกต้องตามข้อเท็จจริงมากที่สุดคือ เกิดจากการหมักหมมของตอซังข้าวที่แช่น้ำอยู่เป็นเวลานาน และเมื่อไหลไปตามลำรางสาธารณะ ซึ่งมีใบยูคาลิปตัส ร่วงลงมาสะสมตัวอยู่ด้านล่างในลำรางจำนวนมาก ยิ่งส่งผลให้น้ำเกิดการเน่าเสียได้ในระดับที่สูงขึ้น

จากคำบอกเล่าจากประชาชนในพื้นที่ ที่เดินทางผ่านเส้นทางข้างเหมืองเป็นประจำ พบว่า มีการนำสิ่งปฏิกูลมาลอบทิ้งในบริเวณข้างทางซึ่งเป็นต้นน้ำของป่าบัวและนาข้าวร้องเรียนดังกล่าวเป็นประจำ อีกทั้งยังพบว่ามีการทิ้งขยะในหลายพื้นที่ ซึ่งทุกจุดเป็นพื้นที่ต้นน้ำของป่าบัวและนาข้าวร้องเรียนด้วย

ซึ่งสิ่งปฏิกูลและขยะดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุของน้ำเน่าเสียได้เช่นกันสอดคล้องกับผลการตรวจหาปริมาณแบคทีเรียของน้ำในจุดต่างๆ พบว่าน้ำในนาข้าวร้องเรียนมีค่าแบคทีเรียสูงกว่าจุดควบคุมมาก ทำให้ข้อสันนิษฐานดังกล่าวเป็นไปได้มากขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทฯ ขอเรียนให้ทราบว่า บ่อกักเก็บกากแร่ที่มีผู้ร้องเรียนว่าอาจจะเกิดการรั่วไหลนั้น ไม่ได้มีการใช้งานแล้ว เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ถูกสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรีมาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา โดยในปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า 1 ปีแล้วที่บริษัทฯ ไม่ได้ดำเนินงานการผลิตใดๆ ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม การตรวจวิเคราะห์ต้องกระทำในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ที่ได้มาตรฐาน โดยผู้เชี่ยวชาญจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยมีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เป็นผู้กำกับดูแล ซึ่งบริษัทฯ เชื่อมั่นว่าเมื่อมีผลการพิสูจน์เสร็จสิ้น จะมีการแจ้งผลให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และสังคมรับทราบเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายต่อไป

บริษัทฯยังระบุด้วยว่า กพร.เอง ก็ออกเอกสารข่าวเรื่อง “กพร. ย้ำไม่มีเจตนาปิดบังข้อมูล พร้อมเผยแพร่ผลศึกษา” ลงวันที่ 29 ธ.ค. 60 ระบุชัดเจนว่า “ยังไม่มีการเผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยการรั่วซึมของบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เนื่องจากต้องให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา ข้อขัดแย้ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทอัคราฯ พิจารณาก่อนที่จะเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดทำรูปเล่มรายงานฉบับสมบูรณ์ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการฯ ต่อไป”

แต่กลับมีกลุ่มบุคคลที่มีความพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงให้สังคมเข้าใจว่าบริษัทฯ เป็นสาเหตุของน้ำเน่าเสียที่พบในที่นา ซึ่งขณะนี้บริษัทฯ ทราบว่ายังไม่มีการสรุปผลหรือการประกาศแจ้งผลใดๆ บริษัทฯ ขอยืนยันด้วยความบริสุทธิ์ใจว่า ตลอดระยะเวลา 15 ปี ที่เปิดดำเนินกิจกรเหมืองแร่ทองคำชาตรีในพื้นที่รอยต่อจังหวัด พิจิตร และเพชรบูรณ์ นั้น บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ได้ประกอบกิจการตามกฎหมายด้วยความรับผิดชอบต่อชุมชน และประเทศชาติเสมอมา